การเงินธนาคาร

Build Back Better…ยุทธศาสตร์ฟื้นศักยภาพการแข่งขันของสหรัฐฯ

Build Back Better เป็นแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ภายใต้วิสัยทัศน์ Made in All of America by All of America’s Workers ซึ่งเน้นส่งเสริมการผลิตในประเทศเพื่อเพิ่มการจ้างงานให้ชาวอเมริกันด้วยการบูรณาการสร้างความต้องการซื้อควบคู่กับการเตรียมความพร้อมของภาคการผลิต ซึ่งรวมถึงการสร้างนวัตกรรม และการพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอย่างครบวงจร เพื่อลดการพึ่งพาการผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน คู่แข่งสำคัญที่กำลังท้าทายบทบาทมหาอำนาจโลกของสหรัฐฯ ทั้งนี้ การดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นศักยภาพการแข่งขันของประธานาธิบดีไบเดน มีรายละเอียดน่าจับตามอง ดังนี้

ด้านความต้องการซื้อ…กระตุ้นการซื้อสินค้าในประเทศด้วยนโยบาย Buy America ที่เข้มข้นขึ้น

          ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามคำสั่งผู้บริหาร (Executive Order) ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อบังคับใช้นโยบาย Buy America ซึ่งประกอบด้วยมาตรการสำคัญ ดังนี้

  • สนับสนุนให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องเลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากธุรกิจสหรัฐฯ มากกว่าเกณฑ์เดิมที่กำหนดไว้ที่ 55% ตลอดจนเพิ่มเงื่อนไขและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนและรัดกุมมากขึ้น ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างสูงถึงราว 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งนับเป็นมาตรการที่จะมีส่วนช่วยภาคธุรกิจในประเทศและเร่งการสร้างงานให้ชาวอเมริกัน
  • ประกาศเตรียมแผนให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศทั้งหมด ปัจจุบันรัฐบาลกลางสหรัฐฯ มียานยนต์ทั้งหมดราว 45 แสนคัน แต่มียานยนต์ไฟฟ้าราว 4.5 พันคัน หรือไม่ถึง 1% ของยานยนต์ทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าสหรัฐฯ ต้องใช้งบประมาณราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในการดำเนินมาตรการซึ่ง จะมีส่วนช่วยเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

ด้านศักยภาพการผลิต … ยกระดับการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตด้วยหลากหลายนโยบาย

 นอกจากนโยบาย Buy America ที่มุ่งเน้นการสร้างแต้มต่อให้กับการผลิตในประเทศแล้ว ประธานาธิบดีไบเดนยังมีแผนเร่งส่งเสริมศักยภาพภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในประเทศผ่านนโยบายสำคัญ ดังนี้

  • Made it in America เน้นสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตในประเทศผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี โดยเตรียมเสนอมาตรการ Made in America Tax Credit ซึ่งจะอนุญาตให้บริษัทที่มีการขยายธุรกิจและสร้างการจ้างงานในสหรัฐฯ สามารถยื่นขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 10% ของเงินลงทุน อีกทั้งยังมีแผนเรียกเก็บ Offshoring Tax Penalty กับบริษัทของสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตในต่างประเทศและส่งสินค้ากลับมาขายในสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการย้ายฐานการผลิตกลับเข้ามาในสหรัฐฯ มากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มงบประมาณให้หน่วยงานเฉพาะกิจของรัฐสำหรับดำเนินการเชิงรุกในการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อให้ SMEs ของสหรัฐฯ มีโอกาสได้รับการจ้างผลิตหรือเป็นผู้รับเหมาช่วง (Sub-contractors) ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในสหรัฐฯ ตลอดจนลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ
  • Innovation in America มีแผนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4% ของ GDP) ในช่วง 4 ปีนับจากนี้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเทรนด์แห่งอนาคต อาทิ 5G เทคโนโลยีชีวภาพ AI เทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง พลังงานสะอาด และยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนสนับสนุนโครงการ Small Business Innovation Research ซึ่งเน้นการทำ R&D ที่ประยุกต์ใช้กับ SMEs โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังมีโครงการอบรมและพัฒนาทักษะแรงงานด้วยงบประมาณราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเสริมทักษะและสร้างความพร้อมของแรงงานในการรองรับอุตสาหกรรมและธุรกิจสมัยใหม่  
  • Supply America เป็นนโยบายที่ตั้งเป้าลดการพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตภายนอกประเทศในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ เซมิคอนดักเตอร์ และโทรคมนาคม ทั้งนี้ นโยบายนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรการอย่างชัดเจน แต่คาดว่าจะเป็นการใช้มาตรการจูงใจให้เกิดการลงทุนตั้งฐานการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าวในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

 

ยุทธศาสตร์ Build Back Better นับเป็นการใช้จุดเด่นจากการเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตในประเทศและลดการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลอย่างสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อบริบทการค้าการลงทุนโดยรวมของโลก อาทิ

  • ปลุกกระแส Reshoring หรือ การดึงภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศให้กลับเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โทรคมนาคม เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ และยานยนต์ไฟฟ้า โดยกระแส Reshoring จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตสินค้าดังกล่าวของสหรัฐฯ ตลอดจนลดการพึ่งพาจีนได้ในระดับหนึ่ง นับเป็นการเตรียมพร้อมในการทำสงครามการค้าและสงครามทางเทคโนโลยีที่ยืดเยื้อกับจีน
  • ตอกย้ำภาพ Decoupling หรือ การแยกขั้วอำนาจโลกที่ชัดเจนขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะในมิติของการแยกห่วงโซ่การผลิตของโลก เริ่มตั้งแต่การขึ้นภาษีภายใต้สงครามการค้า รวมถึงการกีดกันไม่ให้ธุรกิจเทคโนโลยีชั้นนำของจีนเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ สำหรับในระยะข้างหน้าแนวโน้มการแยกตัวดังกล่าวจะยิ่งชัดเจนมากขึ้นจากการดำเนินยุทธศาสตร์ Build Back Better ตลอดจนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่กลับมาให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางการค้าแบบพหุภาคี โดยเฉพาะการที่สหรัฐฯ อาจกลับเข้าร่วม CPTTP หรือเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ ซึ่งถือเป็นการสร้างห่วงโซ่การผลิตที่ไม่มีจีนร่วมอยู่ด้วย

ความท้าทายของไทย

          แม้ไทยไม่ใช่เป้าหมายหลักของการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ แต่การที่สหรัฐฯ ดำเนินยุทธศาสตร์ปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ย่อมสะเทือนต่อไทยผ่านการเชื่อมโยงกันของห่วงโซ่การผลิตของโลก จึงเป็นความท้าทายของไทยที่ต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ ดังนี้

  • สร้างแรงกดดันต่อสินค้าส่งออกของไทยบางกลุ่ม เช่น เหล็ก อะลูมิเนียม และวัสดุก่อสร้างที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้ามาเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ดังนั้น จึงได้รับผลกระทบจากนโยบาย Buy America โดยตรง อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบต่อสินค้าส่งออกกลุ่มอื่นยังมีไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
  • บั่นทอนแนวโน้มการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบของไทย เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ขยายตัวรวดเร็วและจะทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยล่าสุด ค่ายรถยนต์ GM ของสหรัฐฯ ประกาศจะหยุดจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันทุกรุ่นภายในปี 2578 และจะเปลี่ยนไปจำหน่ายเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น สถานการณ์ดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบั่นทอนการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนของไทย เนื่องจากผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากแนวนโยบายของสหรัฐฯ ที่เน้นปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่ามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นมาตรการสำคัญที่สหรัฐฯ จะนำมาใช้มากขึ้นในอนาคต เนื่องจากประธานาธิบดีไบเดนให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อพร้อมรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

     สุดท้ายนี้ ยังคงต้องติดตามดูว่ายุทธศาสตร์ Build Back Better จะสามารถนำอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งหรือไม่ สำหรับกลยุทธ์ของผู้ประกอบการไทย จำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วนภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการติดตามความคืบหน้าของนโยบายและมาตรการใหม่ๆ ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะวางแผนปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกัน ก็ต้องแสวงหาโอกาสที่จะเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพของธุรกิจให้ยั่งยืนในอนาคต

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview