การเงินธนาคาร

เช็คสุขภาพแนวโน้มเศรษฐกิจโลก … ประเทศไหนแข็งแรงกว่ากัน

       ปี 2564 สถานการณ์ COVID-19 ของโลกเริ่มมีทิศทางชัดเจนขึ้น หลังจากวัคซีนที่เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้ถูกพัฒนาแล้วเสร็จและเร่งกระจายไปยังนานาประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ปรับวิถีชีวิตและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่างๆ ได้ดีขึ้น ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ทำให้เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2564 เป็นขยายตัว 6% สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 5.5% และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักได้อีกครั้งในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า COVID-19 จะไม่หายไปในทันทีทันใด แม้จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม การบริหารจัดการด้านสาธารณสุขจะกลายเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ใช้บ่งชี้ทิศทางการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในระยะข้างหน้า ควบคู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จึงนำข้อมูลของ 30 ประเทศที่เป็นตัวแทนแต่ละภูมิภาคทั่วโลก (อ้างอิงตามฐานข้อมูล IMF) มาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกันในกลุ่ม เพื่อให้เห็นว่าประเทศใดมีศักยภาพการฟื้นตัวได้ดีกว่ากัน โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) คาดการณ์อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 5 ปีข้างหน้า (ปี 2564-2568) โดย IMF (ข้อมูล ณ 6 เม.ย. 2564) และ 2) ดัชนีชี้วัดการจัดการรับมือ COVID-19 จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และ Johns Hopkins University (ข้อมูล ณ 14 เม.ย. 2564) ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการฟื้นตัวและการบริหารจัดการรับมือกับ COVID-19 รวมถึงความพร้อมของระบบสาธารณสุข โดยผลการวิเคราะห์สรุปได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

- กลุ่มเศรษฐกิจโตแรง จัดการโควิดอยู่หมัด หมายถึง เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูง รวมถึงจัดการ COVID-19 ได้ดี

- กลุ่มเศรษฐกิจโตต่ำ แต่รับมือโควิดได้ดี หมายถึง เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประเทศอื่น แต่จัดการ COVID-19 ได้ดี

- กลุ่มเศรษฐกิจโตแรง แต่เปราะบางด้านโควิด หมายถึง เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสูง แต่ยังรับมือกับ COVID-19 ได้ไม่ดี

- กลุ่มอ่อนไหว หมายถึง เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประเทศอื่นและมีปัญหากับการรับมือ COVID-19


  • กลุ่มเศรษฐกิจโตแรง จัดการโควิดอยู่หมัด : ส่วนใหญ่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่เศรษฐกิจเติบโตสูงเป็นทุนเดิมตั้งแต่ก่อนเกิด COVID-19 เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย โดยแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 5 ปีข้างหน้าของกลุ่มนี้ขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 5% ต่อปี ใกล้เคียงกับระดับก่อนเกิด COVID-19 เมื่อผนวกกับความสามารถในการรับมือ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เศรษฐกิจของกลุ่มนี้ฟื้นตัวเร็ว นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2563 จีนและเวียดนามมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในแดนบวกสวนทางกับทั่วโลกที่ตกอยู่ในภาวะหดตัว โดยในปี 2563 จีนขยายตัว 2.3% และแนวโน้ม 5 ปี ขยายตัวเฉลี่ย 6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งทั้งจากการบริโภคภายในประเทศและภาคการผลิต รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลใหม่ Dual Circulation ที่ช่วยให้เติบโตอย่างสมดุล ประกอบกับมาตรการจัดการ COVID-19 ที่เข้มงวดและสามารถผลิตวัคซีนได้เอง ทำให้จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ฟื้นตัวได้เร็วและควบคุม COVID-19 ได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับเวียดนามที่การส่งออกกำลังเติบโตอย่างร้อนแรงจากโมเดล FDI-led Export Growth (การลงทุนจากต่างชาติเป็นแรงขับเคลื่อนภาคส่งออก) โดย GDP ของเวียดนามปี 2563 ขยายตัว 2.9% และแนวโน้ม 5 ปี ขยายตัวเฉลี่ย 6.8% ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในระดับต่ำเพียงหลักพันคน ทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบไม่มากและฟื้นตัวได้เร็ว
  • กลุ่มเศรษฐกิจโตต่ำ แต่รับมือโควิดได้ดี : ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศรายได้สูง แม้เศรษฐกิจขยายตัวแพ้ประเทศอื่นๆ แต่มีศักยภาพในการจัดการ COVID-19 ได้ดี เช่น เยอรมนี แคนาดา สหรัฐฯ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้กลุ่มนี้ฟื้นตัวได้มาจากความสามารถในการจัดการ COVID-19 อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในช่วงวิกฤต รวมถึงความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข สะท้อนจากงบประมาณการใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP และอัตราส่วนจำนวนเตียงต่อประชากรของกลุ่มนี้ที่ส่วนใหญ่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ตลอดจนนโยบายการกระจายวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่แม้มีปัญหาการรับมือ COVID-19 ในช่วงแรก แต่ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายลง รวมถึงได้เร่งฉีดวัคซีนเฉลี่ย 3 ล้านโดสต่อวัน ครอบคลุมประชากรแล้วราว 37% (ข้อมูล ณ 14 เม.ย. 2564) และคาดว่าจะถึง 75% ภายใน 3 เดือน (National Institute of Allergy and Infectious Diseases ของสหรัฐฯ ประเมินว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นเมื่อฉีดวัคซีนครอบคลุม 70-85% ของประชากร) เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศในกลุ่มนี้ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ทั้ง
    สหราชอาณาจักร 47.6% แคนาดา 21.4% เยอรมนี 16.8% จึงนับเป็นอีกกลุ่มที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแรง
  • กลุ่มเศรษฐกิจโตแรง แต่เปราะบางด้านโควิด : เป็นกลุ่มที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตสูง แต่รับมือกับ COVID-19 ได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทำให้มีความเปราะบางหากสถานการณ์ COVID-19 รุนแรงขึ้นจนอาจบั่นทอนและฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจลง เช่น อินเดีย อียิปต์ ฟิลิปปินส์ โดยอินเดียแม้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วเฉลี่ย 7 ล้านโดสต่อวัน (ครอบคลุม 7.3% ของประชากร) แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ประกอบกับปัญหาความไม่พร้อมด้านระบบสาธารณสุข ทำให้สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย เห็นได้จากข้อมูล ณ 14 เม.ย. 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 2 แสนคนต่อวัน ขณะที่อียิปต์ แม้เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่เศรษฐกิจปี 2563 ยังขยายตัวได้ และแนวโน้มอีก 5 ปี ขยายตัวถึง 5% แต่ในมุมของสถานการณ์ COVID-19 ยังดูน่ากังวล เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก รวมถึงความพร้อมด้านสาธารณสุขในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อค่อนข้างต่ำ (เทียบกับค่าเฉลี่ยโลก) ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมไปแล้วเพียง 0.1% ของประชากร ส่งผลให้สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจบั่นทอนให้เศรษฐกิจชะลอตัวในระยะถัดไป เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่แนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 5 ปี ขยายตัวเฉลี่ยถึง 6.6% แต่นับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมเป็นจำนวนมากถึง 800,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • กลุ่มอ่อนไหว : เป็นกลุ่มที่เศรษฐกิจมีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว และปัจจุบันยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระดับสูง ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับมือกับ COVID-19 ได้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสและอิตาลีที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นและศูนย์กลาง COVID-19 ของยุโรป โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่คลี่คลาย ล่าสุด ณ 14 เม.ย. 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อในฝรั่งเศสยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 2 หมื่นคนต่อวัน เช่นเดียวกับอิตาลีที่ 1.5 หมื่นคนต่อวัน จนต้องประกาศ Lockdown อีกครั้ง ขณะที่บราซิลเพิ่มสูงถึง 6.8 หมื่นคนต่อวัน โดยบราซิลมีผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 13 ล้านคนและเสียชีวิต 3.4 แสนคน สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก สอดคล้องกับข้อมูลความพร้อมของระบบสาธารณสุขที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ผลกระทบที่รุนแรงจาก COVID-19 ผนวกกับความเปราะบางทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตหนี้ของอิตาลี ปัญหาการว่างงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำในบราซิล ยิ่งซ้ำเติมให้กลุ่มนี้มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ไม่ค่อยสดใสเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

“จับสัญญาณการฟื้นตัว มองหาโอกาสการส่งออกสินค้าไทย”

       จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศมีความแข็งแรงในการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าที่แตกต่างกันตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ การปรับโครงสร้างการผลิตใหม่เพื่อรับมือกับความท้าทาย และการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งจะเป็นโอกาสทางธุรกิจครั้งสำคัญของผู้ประกอบการไทย หากวางแผนการผลิตหรือส่งออกสินค้าให้สอดคล้องและตอบโจทย์กับความต้องการของแต่ละตลาดได้อย่างทันท่วงที

ตัวอย่างโอกาสการส่งออกที่สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัว


       ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยควรติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วฉับพลันตามความผันผวนของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงยังต้องติดตามประสิทธิภาพของวัคซีน ตลอดจนการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ซึ่งอาจทำให้ภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview