การเงินธนาคาร

มองภาพเศรษฐกิจและการเมืองโลกปี 2565...ยังเคลือบแคลงด้วยหลายปัจจัยเสี่ยง

ย่างเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 เศรษฐกิจโลกมีภาพการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นหลังจากหดตัวรุนแรงในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม โจทย์และความท้าทายสำคัญของทุกประเทศทั่วโลกคงหนีไม่พ้นกับการรับมือกับวิกฤต COVID-19 ในรูปแบบ 3V นั่นคือ 1) Variant ซึ่งเป็นการรับมือกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรง 2) Vaccine ซึ่งทั่วโลกต้องเร่งระดมฉีดวัคซีนให้มากและเร็วเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิต และ 3) Vulnerability ซึ่งเป็นการเยียวยากลุ่มเปราะบางจากผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs และแรงงานในภาคบริการ

            เมื่อมองปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง แม้สถานการณ์ COVID-19 โดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและฉายให้เห็นภาพแห่งความหวัง หลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดเมืองและกลับสู่วิถีชีวิตตามปกติจากแรงหนุนของการเร่งฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจและการเงินโลก รวมถึงสถานการณ์การเมืองโลกยังแฝงไปด้วยความผันผวนและความไม่แน่นอน และต้องติดตามในปี 2565 ดังนี้

  • การปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ส่งสัญญาณจะเริ่มปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering) ในช่วงปลายปี 2564 ให้สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีโมเมนตัมการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Fed ยังปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2565 และ 2566 เป็นขยายตัว 8% และ 2.5% ตามลำดับ ขณะเดียวกันก็ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะปรับขึ้นในปี 2566 ทั้งนี้ การปรับทิศทางนโยบายการเงินดังกล่าวอาจส่งผลให้เศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกเผชิญความผันผวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อยู่ในช่วงขาขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุนโลก โดยเงินทุนมีแนวโน้มไหลกลับสหรัฐฯ มากขึ้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในทางกลับกันก็จะเป็นปัจจัยกดดันให้สกุลเงินประเทศตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าลง
  • แผนการปรับขึ้นภาษีครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ปัจจุบันนักลงทุนเริ่มมีความกังวลต่อความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราภาษีภายใต้แนวนโยบาย Made in America Tax Plan ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งรวมการปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 4 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อปี จาก 37% เป็น 6% และอัตราภาษีกำไรจากการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่มีรายได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จาก 20% เป็น 39.6% อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดว่าหากสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราภาษีตามแผนดังกล่าว แม้จะทำให้รายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้นและสามารถนำเงินไปลงทุนในโครงการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ในทางกลับกันจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าหากมีการปรับขึ้นอัตราภาษีตามแผนของประธานาธิบดีไบเดน จะทำให้ผลกำไรเฉลี่ยต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนใน S&P 500 ลดลงถึง 7% ในปี 2565
  • ความกังวลต่อภาวะ Stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจยังซบเซาแต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดย IMF ได้ออกมาเตือนถึงโอกาสที่จะเกิดภาวะ Stagflation โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องเผชิญภาวะราคาพลังงานปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าที่เกี่ยวข้อง ขณะที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มคลี่คลายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การจ้างงานและกำลังซื้อในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ทั้งนี้ การเกิดภาวะดังกล่าวย่อมส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้การใช้มาตรการทางเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลังทำได้ลำบากขึ้น
  • จับตาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรอบใหม่ ในยุคของประธานาธิบดีไบเดน สงครามการค้ากับจีนยังเดินหน้าต่อไป แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป โดยสหรัฐฯ จะใช้เครื่องมือภายใต้กฎกติกาการค้าโลกของ WTO รวมถึงการหาพันธมิตรในเวทีการค้าโลก เพื่อกดดันให้จีนต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ ให้เป็นสากลและมีการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาแนวนโยบายและการออกกฎหมายต่างๆ ของประธานาธิบดีไบเดนในช่วงที่ผ่านมาพบว่าสงครามการค้ารูปแบบใหม่กับจีนมีแนวโน้มจะเข้มข้นมากขึ้น สะท้อนได้จากการออก EAGLE Act และ Strategic Competition Act ซึ่งเป็นกฎหมายที่เน้นรักษาความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ และถ่วงดุลอำนาจจีน โดยสร้างกฎเกณฑ์และกฎระเบียบที่คุ้มครองด้านการค้า การลงทุน และสิทธิมนุษยชน รวมถึงด้านเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบในระยะข้างหน้า ล่าสุดสหรัฐฯ เรียกร้องจีนให้เร่งปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทำไว้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำหนดให้จีนต้องซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 2 ปี แต่ปัจจุบันจีนซื้อสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มเพียง 24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงต้องติดตามท่าทีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดว่าจะยอมผ่อนปรนหรือไม่อย่างไร เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤต COVID-19 หรือจะดำเนินมาตรการตอบโต้ ซึ่งท่าทีของสหรัฐฯ ในครั้งนี้อาจสะท้อนทิศทางในการเจรจาข้อตกลงการค้าเฟส 2 กับจีนในระยะข้างหน้า
  • อนาคตของเยอรมนีและสหภาพยุโรปหลังสิ้นสุดยุคของนายกรัฐมนตรี Angela Merkel ประเด็นการเมืองโลกที่ต้องจับตามองหลังจากนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องดุลอำนาจในสหภาพยุโรป (EU) ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป หลังนาง Angela Merkel ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีต่อเนื่อง 4 สมัย เป็นเวลาถึง 16 ปี ตัดสินใจไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 5 ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นับเป็นการปิดฉากผู้นำหญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลก ทั้งนี้ การสิ้นสุดยุคของนายกฯ Merkel นอกจากจะมีนัยยะต่อสถานการณ์ทางการเมืองในเยอรมนีแล้ว ยังมีนัยยะต่อทิศทางของ EU ในระยะข้างหน้าอีกด้วย
  • นัยยะต่อเยอรมนี การเลือกตั้งครั้งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเยอรมนี หลังจากพรรค SPD นำโดยนาย Olaf Scholz รองนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี เฉือนชนะขั้วอำนาจเก่าอย่างพรรค CDU/CSU ของนาง Merkel ส่งผลให้นาย Scholz มีโอกาสขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลผสมอาจเผชิญความยุ่งยากและต้องใช้เวลาในการเจรจากันอีกหลายเดือน เนื่องจากไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด ทำให้ทั่วโลกต่างจับตามองว่าท้ายที่สุดแล้วใครจะเป็นผู้รับไม้ต่อจากนาง Merkel ในการกำหนดทิศทางนโยบายและการดำเนินบทบาทของเยอรมนีในเวทีโลก
  • นัยยะต่อ EU การสิ้นสุดยุคของนายกฯ Merkel ทำให้หลายฝ่ายมองว่าดุลอำนาจใน EU อาจเปลี่ยนไป ซึ่งที่ผ่านมาด้วยขนาดเศรษฐกิจของเยอรมนีที่ใหญ่ที่สุดใน EU ทำให้เยอรมนีมีสถานะเป็นพี่ใหญ่ของ EU ขณะที่นายกฯ Merkel ก็เปรียบเสมือนผู้นำ EU และมีบทบาทหลักในการนำ EU ฟันฝ่าวิกฤตหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเงินโลก (Hamburger Crisis) วิกฤตหนี้สาธารณะ และวิกฤต COVID-19 อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์มองว่ามีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดี Emmanuel Macron ของฝรั่งเศส จะก้าวขึ้นมามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของ EU มากขึ้น ซึ่งในช่วงวิกฤต COVID-19 ประธานาธิบดี Macron ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ EU บรรลุข้อตกลงจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงถือเป็นความท้าทายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมนีในการรักษาบทบาทผู้นำ EU โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในรัฐบาลผสม ซึ่งทำให้โอกาสในการแสดงบทบาทผู้นำเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดจากความคิดเห็นที่แตกต่างของพรรคร่วมรัฐบาล
  • ปี 2565 ปีแห่งการเลือกตั้ง ปี 2565 จะเป็นปีที่มีการเลือกตั้งครั้งสำคัญใน 30 ประเทศทั่วโลก ทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งประธานาธิบดี และการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าบรรดาผู้นำและพรรคการเมืองที่อยู่ในตำแหน่งในบางประเทศจะเผชิญกับความท้าทายในศึกการเลือกตั้งในปี 2565 จากความรู้สึกต่อต้านและความไม่พอใจของประชาชน อันเป็นผลจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากวิกฤต COVID-19 สำหรับประเทศสำคัญที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2565 และได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง อาทิ
  • เกาหลีใต้ ประธานาธิบดี Moon Jae-in จะไม่สามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้กำหนดให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงสมัยเดียว (วาระ 5 ปี) โดยต้องจับตาดูว่าพรรค Democratic ของประธานาธิบดี Moon จะสามารถรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ได้หรือไม่ เนื่องจากจะมีผลต่อการสานต่อนโยบายประนีประนอมกับเกาหลีเหนือ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าหากประธานาธิบดีคนใหม่มาจากพรรคแนวอนุรักษ์นิยมอาจเปลี่ยนเกาหลีใต้ไปสู่ท่าทีที่แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ
  • ฟิลิปปินส์ ปัจจุบันคะแนนนิยมของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ยังอยู่ในระดับสูง แม้ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ที่รุนแรง ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่านาง Sarah Duterte บุตรีของประธานาธิบดี Duterte ที่ตัดสินใจลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนนาย Duterte ที่ไม่สามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญฟิลิปปินส์ มีโอกาสที่จะได้รับชัยชนะ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยของประธานาธิบดี Duterte ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐฯ ค่อนข้างเหินห่าง ขณะที่ฟิลิปปินส์มีการกระชับความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น ทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจมีนัยยะต่อการเมืองระหว่างประเทศได้
  • ฝรั่งเศส ประธานาธิบดี Macron จะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ขณะที่ล่าสุดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในฝรั่งเศสบ่งชี้ว่าประธานาธิบดี Macron มีโอกาสได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่คะแนนของผลสำรวจไม่ได้ทิ้งห่างคู่แข่งคนสำคัญอย่างนาง Marine Le Pen ที่มีแนวนโยบายขวาจัดมากนัก โดยความนิยมของประธานาธิบดี Macron มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 แสนล้านยูโร (ราว 4% ของ GDP) เพื่อบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงการขยายเวลาการใช้แผนช่วยเหลือการจ้างงาน (Furlough Scheme) เป็น 2 ปี โดยจะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2565
  • สหรัฐฯ (การเลือกตั้งกลางเทอม) การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐ ซึ่งการเลือกตั้งกลางเทอมที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 จะเป็นบททดสอบสำคัญว่าชาวอเมริกันพอใจในผลงานของพรรคเดโมแครตภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดนหรือไม่ ซึ่งหากพรรคเดโมแครตยังสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ ก็จะทำให้การผลักดันร่างกฎหมายต่างๆ ผ่านสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ในทางกลับกันหากสูญเสียเสียงข้างมากให้กับพรรคริพับลิกัน ก็จะทำให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ เผชิญข้อจำกัดมากขึ้นอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์

          จะเห็นได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองโลกมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะจากทิศทางตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเผชิญความผันผวนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในมิติต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview