เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ

รู้จักภาษีการค้าเมียนมาผ่าน Union Tax Law 2019 ฉบับปรับปรุง

เมียนมายังไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่มีการเก็บภาษีการค้า (Commercial Tax) กับสินค้าและบริการในประเทศ ผู้ประกอบการที่เข้าไปค้าขายหรือลงทุนในเมียนมาจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจระบบภาษีดังกล่าว ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 รัฐสภาเมียนมาได้ผ่านกฎหมาย Union Tax Law 2019 (UTL 2019) มีผลบังคับใช้ตามรอบปีงบประมาณ 2562/63 (1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563) โดยมีการปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับภาษีการค้า รวมถึงรายละเอียดของภาษีอื่นในประเภทเดียวกัน คือ Specific Goods Tax และเพิ่มประเภทภาษีใหม่อย่างภาษีอัญมณีและเครื่องประดับ ดังนั้นบทความฉบับนี้จะพาผู้ประกอบการทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีดังกล่าวภายใต้กฎหมาย UTL 2019 ของเมียนมาเพื่อเป็นประโยชน์ในการเข้าไปทำธุรกิจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

ภาษีการค้า (Commercial Tax)

  • การจัดเก็บและอัตราภาษี : เมียนมาเก็บภาษีการค้าในอัตรา 0-8% กับสินค้าและบริการในประเทศ

    โดยพิจารณาจากประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ (1) การจำหน่าย (2) การนำเข้า และ (3) การผลิต สำหรับสินค้าทั่วไปส่วนใหญ่ถูกเก็บภาษีการค้าในอัตรา 5% ของราคาสินค้า มีเพียงสินค้า 42 รายการที่ได้รับการยกเว้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์นม และฝ้าย

สำหรับการส่งออกสินค้า เมียนมาจัดเก็บภาษีการค้ากับสินค้าส่งออก 2 รายการ ได้แก่ ไฟฟ้า (อัตรา 8%) และน้ำมันดิบ (อัตรา 5%) สำหรับภาษีการค้าในภาคบริการ เก็บในอัตรา 5% ของค่าบริการ โดยมีบริการ 32 รายการที่ได้รับการยกเว้น อาทิ ประกันชีวิต ธนาคาร ไมโครไฟแนนซ์ และบริการขนส่งสาธารณะ ทั้งนี้ หากธุรกิจมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการรวมต่อปีไม่เกิน 50 ล้านจ๊าต (ราว 1 ล้านบาท) จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้า ซึ่งคล้ายคลึงกับวิธีการเก็บภาษี VAT ของไทย ที่เก็บกับธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เท่านั้น

สรุปการจัดเก็บภาษีการค้าของเมียนมา

ประเภท

อัตราภาษีการค้า

การผลิตสินค้าในประเทศ

5% (ยกเว้นสินค้าบางประเภท)

การจำหน่ายสินค้า

5% (ยกเว้นสินค้าบางประเภท)

การจำหน่ายเครื่องประดับทำจากทอง

1%

การนำเข้าสินค้า

5%

การส่งออกสินค้า

เฉพาะน้ำมันดิบ อัตรา 5% และไฟฟ้า อัตรา 8%

บริการ

5% (ยกเว้นบริการบางประเภท)

อสังหาริมทรัพย์

-   การเช่าซื้อ

-   การขาย

 

5%

3%

การขอคืนภาษี : การขอคืนภาษีการค้าสามารถทำได้ในกรณีที่กิจการนั้นซื้อวัตถุดิบที่รวมภาษีการค้าแล้ว (ถือเป็น Input Tax) และมีการจ่ายภาษีการค้าจากสินค้าที่จำหน่ายออกไป (ถือเป็น Output Tax) โดยกิจการสามารถนำ Output Tax มาหักลบกับ Input Tax และขอคืนภาษีในส่วนที่จ่ายเกินไป อย่างไรก็ตาม กฏหมาย UTL 2019 ได้ยกเว้นการขอคืนภาษีสำหรับกิจการจำหน่ายเครื่องประดับที่ทำจากทอง ทำให้ธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถทำการขอคืนภาษีได้เหมือนกรณีของสินค้าอื่นๆ

Specific Goods Tax (SGT)

  • การจัดเก็บและอัตราภาษี : เมียนมาแบ่งกลุ่มสินค้าพิเศษออกจากกลุ่มสินค้าทั่วไปที่เรียกเก็บภาษีการค้า และมีการกำหนดภาษีโดยเฉพาะหรือที่เรียกว่า Specific Goods Tax (SGT) โดยสินค้ากลุ่มดังกล่าว ได้แก่ บุหรี่ ใบยาสูบ ซิก้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม้ซุง ไม้แปรรูป ยานพาหนะ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งภาษี SGT สำหรับสินค้าดังกล่าวมีอัตราแตกต่างกันตั้งแต่ 5-60% นอกจากนี้ สินค้าบางรายการอย่างบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีการกำหนดอัตราภาษีย่อยแตกต่างกันตามราคาสินค้า ทั้งนี้ วิธีการเก็บจะพิจารณาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนภาษีการค้า นั่นคือเก็บจากการนำเข้า การผลิต และการจำหน่าย ขณะที่การเก็บภาษี SGT กับการส่งออก มีเพียงสินค้าไม้ซุงและไม้แปรรูปเท่านั้น โดยเรียกเก็บในอัตรา 10%

  • การขอคืนภาษี : สินค้าที่อยู่ภายใต้ภาษี SGT จะทำการขอคืนภาษีได้เฉพาะกรณีกิจการที่เป็นภาคการผลิตเท่านั้น

ภาษีอัญมณีและเครื่องประดับ

กฎหมาย UTL 2019 ได้แยกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีอัญมณีเป็นส่วนประกอบออกมาจากเดิมที่เคยถูกจัดเก็บภายใต้ภาษี SGT และกำหนดขึ้นเป็นภาษีอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะ โดยมีวิธีการจัดเก็บในรูปแบบเหมือนกันกับภาษี SGT และมีอัตราภาษี ดังนี้

ประเภทสินค้า

อัตราภาษี

หยกที่ยังไม่ได้เจียระไน

11%

ทับทิม ไพลิน และหินมีค่าอื่นๆ ยกเว้นเพชรและมรกต ที่ยังไม่ได้เจียระไน

9%

หยก ทับทิม ไพลิน และหินมีค่าอื่นๆ ยกเว้นเพชรและมรกต (เจียระไนแล้ว)

5%

เครื่องประดับและสินค้าที่ทำจากอัญมณี

5%

ทั้งนี้ แม้วิธีการจัดเก็บภาษีการค้ามีความคล้ายคลึงกับการเก็บภาษี VAT แบบทั่วไปในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขอคืนภาษี และกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของสินค้าที่ต้องเสียภาษีและที่ได้รับการยกเว้น รายละเอียดอัตราภาษี ไปจนถึงวิธีปฏิบัติของทางราชการเมียนมา ยังคงมีขั้นตอนและความซับซ้อนอยู่พอสมควร ผู้ประกอบการที่เข้าไปค้าขายหรือลงทุนจึงควรทำความเข้าใจ และควรดำเนินการให้ถูกต้องตามกฏหมายเมียนมาเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาทางกฎหมายในอนาคต

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว

    การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...

    calendar icon01.04.2019
  • เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว

    เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...

    calendar icon01.07.2019
  • ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้ฉบับใหม่ของ สปป.ลาว

    ในช่วงที่ผ่านมา สปป.ลาว ทยอยปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ที่มีการปรับปรุงและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กุม...

    calendar icon31.03.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview