ส่องเทรนด์โลก
การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) มีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มทดลองใช้บริการการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine มากขึ้น เพราะบริการดังกล่าวทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้
แม้อยู่คนละที่กับผู้ป่วย จึงช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 จากการไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาล และช่วยให้ทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยหนักหรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติด COVID-19 ได้มากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง COVID-19 ระบาดรุนแรงในจีน ชาวจีนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Ping An Good Doctor ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันให้บริการปรึกษาแพทย์ทางไกลรวมถึงมีบริการจัดยาตามคำสั่งแพทย์และส่งถึงที่พักราว 300 ล้านบัญชี โดย
มีผู้ขอใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าววันละกว่า 7 แสนครั้ง สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขของไทยเองก็จัดทำโครงการสนับสนุนให้ผู้ป่วยใช้บริการแพทย์ทางไกลเพิ่มขึ้น ทั้งการปรึกษาแพทย์ผ่านแอปพลิเคชัน Line และการส่งยารักษาโรคทางไปรษณีย์ โดยในช่วง 2 เดือนมีผู้มาลงทะเบียนใช้บริการราว 4,000 คน
ด้วยความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นและได้รับการรักษาจากแพทย์ไม่ต่างจากการ
ไปพบแพทย์ด้วยตนเอง ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า แม้ COVID-19 จะคลี่คลายแล้ว ผู้ที่ใช้บริการการแพทย์ทางไกลจะยังคงใช้บริการนี้ต่อไปและอาจมีผู้ใช้บริการหน้าใหม่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ในจีน
ที่มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นในช่วงโรคซาร์สระบาด และยังได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับบริการแพทย์ทางไกลที่มีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อาทิ
- การปรึกษาแพทย์ทางไกล (Health Teleconsultant)
การปรึกษาแพทย์ทางไกล คือ การที่ผู้ป่วยสื่อสารกับแพทย์ทั้งผ่านระบบ แชท (Chat) หรือผ่านระบบ Video Conference ซึ่งแพทย์สามารถซักถามและ
สังเกตอาการผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยโรคได้เสมือนผู้ป่วยได้เข้ามาพบแพทย์ด้วยตนเองที่โรงพยาบาลหรือคลินิก และสถานพยาบาลบางแห่งยังอำนวยความสะดวกด้วยการให้บริการรับเจาะเลือดและจัดส่งยาตามแพทย์สั่งให้คนไข้ถึงบ้านอีกด้วย การปรึกษาแพทย์ทางไกลมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases NCDs) อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ ที่จะต้องพบแพทย์เป็นประจำเพื่อติดตามอาการและต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ป่วยไม่ต้องเสียเวลานั่งรอรับบริการ และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ที่สำคัญยังเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วย NCDs จะได้รับเชื้อโรคอื่นๆ ระหว่างเดินทางมาพบแพทย์ และอาจเป็นเหตุให้อาการ
ที่เป็นอยู่ทรุดลง สำหรับประเทศไทยมีการให้บริการปรึกษาแพทย์ทางไกลแล้วเช่นกัน อาทิ การติดต่อโดยใช้ Video Call และ Chat เพื่อปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านแอปพลิเคชัน Raksa และปรึกษาปัญหาสุขภาพสตรีกับแพทย์เฉพาะทางผ่านแอปพลิเคชัน Chiiwii Live เป็นต้น
- การติดตามผู้ป่วยระยะไกล(Remote Patient Monitoring)
การติดตามผู้ป่วยระยะไกล คือ การนำอุปกรณ์ตรวจวัดการทำงานของร่างกาย อาทิ ค่าความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิร่างกาย ติดตั้งที่สถานที่พัก หรือพกติดตัว โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะส่งผลการตรวจวัดให้แพทย์รับทราบตามช่วงเวลา ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาสถานพยาบาลบ่อยครั้ง
เพื่อตรวจวัดค่า อีกทั้งแพทย์ยังสามารถดูแลผู้ป่วยได้ทันการณ์หากค่าการตรวจวัดแสดงถึงความผิดปกติ อาทิ ความดันโลหิตสูงในระดับอันตราย หรือคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ โดยอาจส่งทีมแพทย์เข้าไปรักษา หรือแจ้งให้ผู้ป่วยปรับยาที่รับประทาน หลายครั้งพบว่าแพทย์รับทราบความผิดปกติจากข้อมูลที่ส่งมาก่อนที่ผู้ป่วยจะสังเกตพบอาการผิดปกติของตนเอง และแพทย์สามารถให้การรักษาผู้ป่วยก่อนเกิดภาวะวิกฤตได้ การติดตามผู้ป่วยระยะไกลจึงมีส่วนช่วยชีวิตผู้ป่วยตั้งแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้ การที่ปัจจุบันเทคโนโลยีสื่อสารได้รับการพัฒนา ขณะที่อุปกรณ์ตรวจวัดก็สามารถพกพาได้สะดวกขึ้น อาทิ นาฬิกาอัจฉริยะ (Smart Watch) และสมาร์ตโฟน จึงมีแนวโน้มที่ผู้ป่วย NCDs ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยเรื้อรังที่ไม่รุนแรง และผู้สูงอายุ ซึ่งต้องควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งผู้ที่ใส่ใจสุขภาพตนเองและต้องการตรวจสอบสุขภาพตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะหันมาใช้บริการติดตามผู้ป่วยระยะไกลมากขึ้น
การที่โลกก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยหลักในการใช้บริการแพทย์ทางไกล ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาแพทย์ทางไกล และการติดตามผู้ป่วยระยะไกล |
- การผ่าตัดทางไกล (Telesurgery)
การผ่าตัดทางไกลเป็นการใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดผู้ป่วยได้แม้จะอยู่ต่างสถานที่กัน โดยมีเทคโนโลยี 5G เข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพการผ่าตัดคมชัดและแสดงผล Real Time มากขึ้น เพื่อให้แพทย์ควบคุมการผ่าตัดจากระยะไกลได้อย่างแม่นยำ ซึ่งความสำเร็จของการผ่าตัดสมองทางไกลครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ทำให้การผ่าตัดทางไกลได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดจะเพิ่มขึ้นตามบริการการผ่าตัดทางไกลที่เพิ่มขึ้น โดย Global Market Insights คาดว่าตลาดหุ่นยนต์เพื่อการผ่าตัดของโลกจะมีมูลค่า 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 23 ต่อปี
บริการการแพทย์ทางไกลมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี 5G ซึ่งทำให้การรับ-ส่งข้อมูลทางการแพทย์ที่ไฟล์มีขนาดใหญ่ทำได้เร็วขึ้น เช่น ผลตรวจ MRI หรือฟิล์มเอ็กซเรย์ที่มีความละเอียดสูง ทำให้แพทย์วินิจฉัยโรค ให้คำปรึกษา และรักษาผู้ป่วยที่อยู่
คนละสถานที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) ทำให้แพทย์สามารถตรวจหาความผิดปกติของผู้ป่วยได้จากภาพจำลองอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งทำให้การวินิจฉัยโรคแม่นยำขึ้นแม้อยู่ในระยะไกล นอกจากนี้ การที่หลายประเทศปรับนโยบายให้ผู้ป่วยเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการใช้บริการแพทย์ทางไกลได้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการนี้มากขึ้น อาทิ จีน ปรับระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมค่ารักษาโดยแพทย์ทางไกล และสหรัฐฯ ให้ผู้ป่วยที่รักษาโดยแพทย์ทางไกลสามารถขอรับค่ารักษาจากบริษัทประกันสุขภาพได้ ล้วนเป็นการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจการให้บริการการแพทย์ทางไกลในระยะยาว
ความนิยมใช้บริการแพทย์ทางไกลที่เพิ่มขึ้นนี้ สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกชุดทดสอบทางการแพทย์ (Test Kits) รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการให้บริการแพทย์ทางไกล เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ตรวจวัด แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ HDD รวมถึงผู้พัฒนาระบบ Software และแอปพลิเคชัน นอกจากนี้ การพัฒนาบริการแพทย์ทางไกลยังอาจเป็นการติดอาวุธให้กับธุรกิจดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย NCDs ชาวจีน และในกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากการแพทย์ทางไกลทำให้แพทย์สามารถติดตามอาการผู้ป่วยผ่านข้อมูลที่ส่งมาจากอุปกรณ์ติดตามตัว และยังสามารถให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพแก่ผู้ป่วยผ่านทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และหากมีความจำเป็นต้องพบแพทย์ผู้ป่วยก็สามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศไทยได้ เท่ากับเป็นการขยายตลาดธุรกิจสุขภาพของไทยให้กว้างขวางขึ้นอีกทางหนึ่ง
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่เกี่ยวข้อง
-
ความยั่งยืน กับ 7 เรื่องน่าสนใจที่ผู้ประกอบการไทยอาจยังไม่ทราบ
เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายปี นอกจากลมหนาวที่คนไทยจำนวนไม่น้อยรอคอยแล้ว อีกสิ่งที่จะมาพร้อมๆ กับอากาศเย็นคือฝุ่น PM 2.5 ที่กระจายตัวหนาดูคล้ายหมอกขาวอยู่ในอากาศ หมอกที่ไม่ได้ช่วยให้คนไทยรู้สึกสดชื่น แต่กลับเป็นภัยเงียบที่รอวันส...
31.10.2022 -
เทรนด์ยานยนต์สมัยใหม่ ... กรณีศึกษาโมเดลการปรับตัวของธุรกิจ
Disruption ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นตัวอย่างสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลกยุคใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ หลายคนยังอาจรู้สึกว่ารถยนต์ไฟฟ้า (Electric V...
30.09.2021
-
Gen Z กับทิศทางตลาดอาหารโลก
กลุ่ม Gen Z (Generation Z) คือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วงหลังปี 2543 ซึ่งปัจจุบันถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเด็กและวัยรุ่นอายุไม่ถึง 20 ปี Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่หลายธุรกิจเริ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มประ...
24.04.2019 -
เกาะติดกระแสการค้าสินค้าออนไลน์ในกัมพูชา
กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน แม้การค้าส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม แต่การค้าในรูปแบบของ e-Commerce ก็มีการเติบโตโดดเด่นและเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อ...
31.10.2018 -
เกาะกระแสมะพร้าวน้ำหอมฮิตติดตลาดจีน
จีนเป็นตลาดส่งออกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในปี 2563 มูลค่าส่งออกจากไทยไปจีนสูงเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 74% โดยผลไม้ที่ไทยส่งออกไปจีนมากที่สุด คือ ทุเรียน รองลงมา คือ ลำไย และมัง...
24.02.2021