ส่องเทรนด์โลก

ความยั่งยืน … ทางรอดของธุรกิจในยุค Next Normal

หลังจากเศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 ที่เข้ามาแย่งความสนใจเกือบทั้งหมดไปในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ความยั่งยืน (Sustainability) ก็กลับมาได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนกลายเป็นหัวข้อสำคัญในหลายเวที โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ล่าสุดในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ที่จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ก็เป็นที่จับตามองจากทั่วโลกว่าประเทศต่างๆ จะร่วมมือกันช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติต่างๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร ซึ่งประเทศไทยในฐานะที่เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุดในโลก ก็ได้ประกาศเป้าหมายนำประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในยุค Next Normal เช่นปัจจุบัน การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนไม่ได้จำกัดความสนใจอยู่เพียงแค่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ธุรกิจที่ยั่งยืนยังต้องมีส่วนร่วมในการดูแลสังคมในมิติต่างๆ ควบคู่กันไป “ส่องเทรนด์โลก” ฉบับนี้จึงรวบรวมตัวอย่างที่น่าสนใจของการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนในแง่มุมต่างๆ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอดหรือปรับใช้กับธุรกิจของท่านได้ ดังนี้

การดื่มกาแฟเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และในระยะหลังกาแฟสดก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นแทนกาแฟผงสำเร็จรูปแบบเดิม ทำให้มีผู้บริโภคจำนวนมากซื้อเครื่องชงกาแฟแคปซูลไว้ใช้ในบ้าน เพราะมีราคาย่อมเยา และชงกาแฟได้สะดวก ไม่ยุ่งยาก เมื่อเทียบกับเครื่องชงกาแฟเอสเพรสโซ่แบบที่ใช้ตามร้านกาแฟสด อย่างไรก็ตาม ความนิยมในเครื่องชงกาแฟที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีขยะแคปซูลกาแฟเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน มีรายงานว่าในปี 2561 มีการผลิตแคปซูลกาแฟทั่วโลกกว่า 5.9 หมื่นล้านชิ้น และในจำนวนดังกล่าว มีถึง 5.6 หมื่นล้านชิ้น ที่ถูกนำไปกำจัดโดยการฝัง ซึ่งแคปซูลกาแฟที่ผลิตจากอะลูมิเนียม หรืออะลูมิเนียมผสมพลาสติกเหล่านี้ จะต้องใช้เวลาในการย่อยสลายถึง 500 ปี จึงมักเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ผู้ผลิตแคปซูลกาแฟจะตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเริ่มมีแนวคิดนำอะลูมิเนียมจากแคปซูลกาแฟใช้แล้วมารีไซเคิลตั้งแต่ปี 2538 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีแคปซูลกาแฟกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลไม่มากนัก จากผลสำรวจของ Halo ผู้ผลิตแคปซูลกาแฟที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ พบว่าผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่บริโภคกาแฟแคปซูลถึงกว่า 340 ล้านแคปซูลในแต่ละปี เมื่อไม่นานมานี้ ก็ยังพบว่ามีผู้บริโภคถึง 82% ที่ไม่ตระหนักว่ากาแฟแคปซูลที่ตนเองบริโภคมีส่วนก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม และมีผู้บริโภคเกินครึ่งที่ไม่ทราบความแตกต่างระหว่างแคปซูลกาแฟที่รีไซเคิลได้ แคปซูลกาแฟที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable) และแคปซูลกาแฟที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable) รวมทั้งยังพบว่า มีผู้บริโภคถึง 42% ที่ทิ้งแคปซูลกาแฟปะปนกับขยะทั่วไปในถังขยะ

ด้วยเหตุดังกล่าว Nestle และ Jacobs Douwe Egberts UK (JDE UK) ซึ่งเป็นผู้ผลิตกาแฟแคปซูลอันดับ 1 และ 2 ในสหราชอาณาจักร และเป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง Nespresso, Nescafe Dolce Gusto และ Tassimo (มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 89% ของมูลค่าตลาดในปี 2563) จึงร่วมมือกันจัดทำโครงการรีไซเคิลแคปซูลกาแฟทั่วสหราชอาณาจักรภายใต้ชื่อ Podback เพื่อรวบรวมแคปซูลกาแฟใช้แล้วมารีไซเคิล โดยพยายามเพิ่มช่องทางในการส่งคืนแคปซูลกาแฟใช้แล้ว เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมและจัดส่งผ่านบริษัทโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ที่มีจุดให้บริการทั่วประเทศ โดยผู้บริโภคสามารถนำแคปซูลกาแฟใช้แล้วไปยังจุดส่งที่ใกล้ที่สุด หรือการให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยจัดเก็บแคปซูลกาแฟ ทั้งนี้ แคปซูลกาแฟที่รวบรวมได้จะถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งมีข้อดีคือใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตอะลูมิเนียมใหม่ถึง 95% และรีไซเคิลได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง โดยยังรักษาคุณสมบัติเดิมไว้ได้

นอกจากการนำแคปซูลกาแฟใช้แล้วกลับมารีไซเคิล ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่ผู้บริโภคจะดื่มกาแฟแคปซูลได้อย่างยั่งยืน นั่นคือการใช้แคปซูลกาแฟจากวัสดุที่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ ซึ่ง Startup อย่าง Cafes Novell ในประเทศสเปน ได้ผลิตแคปซูลกาแฟจากวัสดุธรรมชาติ 100% ที่สลายกลายเป็นปุ๋ยได้ทั้งหมดภายใน 12-20 สัปดาห์ นอกจากนี้ Cafes Novell ยังจำหน่ายเฉพาะกาแฟอินทรีย์ (Organic Coffee) ที่มีกระบวนการเพาะปลูกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงหรือวัชพืชอีกด้วย

วานิลลาเป็นพืชแต่งกลิ่นที่มีราคาสูง นอกจากใช้ผสมในอาหารแล้ว ยังนิยมใช้ผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและเส้นผมอีกด้วย แม้วานิลลาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก แต่ปัจจุบันประเทศผู้ปลูกวานิลลารายใหญ่ คือ มาดากัสการ์ และอินโดนีเซีย โดยวานิลลาจากมาดากัสการ์ได้รับการยอมรับว่าเป็นวานิลลาคุณภาพดีและมีกลิ่นหอมกว่าแหล่งผลิตอื่นๆ ทั้งนี้ ราคาวานิลลาที่ปรับสูงขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจูงใจให้มีการถางป่าเพื่อนำพื้นที่ไปปลูกวานิลลามากขึ้น จนทำให้สภาพแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป และกระทบถึงคุณภาพของวานิลลาที่ผลิตได้ รวมทั้งส่งผลต่อความยั่งยืนในการผลิต

เพื่อให้มั่นใจว่าวานิลลาที่นำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่า Estee Lauder ผู้ผลิตเครื่องสำอาง น้ำหอม และผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายรายใหญ่ จึงเริ่มนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) วานิลลาจากมาดากัสการ์ ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Aveda ของบริษัท ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2564 โดยเกษตรกรรายย่อยชาวมาดากัสการ์กว่า 450 รายที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับบัตรประจำตัว (Digital ID Card) ที่มี QR Code ติดอยู่ เมื่อเกษตรกรนำฝักวานิลลาไปจำหน่าย สหกรณ์ที่รับซื้อก็จะสแกน QR Code ดังกล่าว พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลต่างๆ อาทิ น้ำหนักของวานิลลา และแหล่งที่ปลูก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้บริษัท ตรวจสอบคุณภาพและแหล่งที่มาของวานิลลา ตั้งแต่เกษตรกร โรงงานผลิตสารแต่งกลิ่น ไปจนถึงโรงงานผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ Aveda อีกทั้งยังช่วยให้มั่นใจว่าวานิลลาที่นำมาใช้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าเพื่อนำพื้นที่มาปลูกวานิลลา นอกจากนี้ แม้ว่าปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้จะใช้ภายในบริษัทเท่านั้น แต่ Estee Lauder ก็มีแผนจะให้ผู้บริโภคที่ต้องการทราบถึงรายละเอียดของวัตถุดิบแต่ละชนิดสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ในอนาคต เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่มีความโปร่งใสและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความนิยมในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นมาก เพราะการ Lockdown ทำให้ผู้บริโภคมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงคลายเหงา ทั้งนี้ การที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงให้ความรักและเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงของตนเสมือนดั่งลูกหลาน ทำให้อาหารสัตว์พรีเมียมได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วอาหารสัตว์พรีเมียมที่ใช้เนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบหลักมักถูกมองว่าเป็นสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูงกว่าอาหารสัตว์เกรดธรรมดาที่มีส่วนผสมของธัญพืชมากกว่า เพราะกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์มีการปล่อยคาร์บอนสูงกว่าการผลิตธัญพืช

อย่างไรก็ตาม ภาพจำดังกล่าวอาจไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะ Inspired Pet Nutrition (IPN) ผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในสหราชอาณาจักร และเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงเกรดพรีเมียมอย่าง Harringtons และ Wagg ได้กลายเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรายแรกของสหราชอาณาจักรที่ได้รับการรับรองว่าปล่อยคาร์บอนติดลบ เนื่องจาก IPN มีความตั้งใจที่จะเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ยั่งยืนและเป็นที่รักของประชาชนในสหราชอาณาจักร จึงเกิดโครงการสำคัญอย่าง ‘Positive Pawprint' ที่ให้ความสำคัญกับ People-Pets-Planet โดยตั้งเป้าหลายด้าน อาทิ ใช้บรรจุภัณฑ์อาหารสุนัขที่รีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2564 เลือกใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมให้มากขึ้น รวมทั้งในแต่ละปีจะปลูกต้นไม้เท่ากับจำนวนพนักงานที่มีอยู่กว่า 300 คน เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน โดยนับเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่จะปลูกต้นไม้ ให้ครบ 1 ล้านต้นทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวส่งผลให้บริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดีในหมู่เจ้าของสัตว์เลี้ยงในสหราชอาณาจักร ทั้งนี้ ผลสำรวจ Lifestyle ของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรของ Euromonitor ในปี 2563 ระบุว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงถึง 66% จะซื้อสินค้าหรือตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ

นอกจากให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแล้ว IPN ยังให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม โดยในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID-19 และมีการ Lockdown บริษัทได้ออกแคมเปญ "Miles and Meals" เพื่อเชิญชวนให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงพาสัตว์เลี้ยงไปเดิน วิ่ง หรือนั่งซ้อนท้ายจักรยานไปด้วยกัน เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและจิตใจที่เบิกบานของทั้งเจ้าของสัตว์เลี้ยงและตัวสัตว์เลี้ยงเอง โดยทุกๆ 1 ไมล์ที่เข้าร่วมกิจกรรม IPN จะบริจาคอาหารสัตว์เลี้ยง 1 มื้อ ให้แก่มูลนิธิหรือองค์กรสงเคราะห์สัตว์เลี้ยง ซึ่งแคมเปญดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยง จนบรรลุเป้าหมายที่ IPN ตั้งไว้ว่าจะบริจาคอาหารสัตว์เลี้ยงรวม 1 ล้านมื้อ

ภายใต้มาตรฐานโลกในยุค Next Normal การปรับตัวสู่ความยั่งยืนคงไม่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ทางเลือก" ของธุรกิจได้อีกต่อไปแล้ว แต่กำลังจะเป็น "ทางรอด" สำคัญที่ทำให้ธุรกิจยืนหยัดได้ในระยะยาว ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องเริ่มปรับตัวสู่ความยั่งยืน ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่า การปรับตัวสู่ความยั่งยืนนั้นไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หรือเทคโนโลยีขั้นสูงเสมอไป แต่ละธุรกิจสามารถปรับตัวสู่ความยั่งยืนได้ภายใต้เงินทุน ความชำนาญ บุคลากร และข้อจำกัด ของตนเอง โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดและผู้บริโภคเป็นที่ตั้ง

Icon made by Flat Icons, Freepik and surang from www.flaticon.com
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • Gen Z กับทิศทางตลาดอาหารโลก

    กลุ่ม Gen Z (Generation Z) คือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วงหลังปี 2543 ซึ่งปัจจุบันถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเด็กและวัยรุ่นอายุไม่ถึง 20 ปี Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่หลายธุรกิจเริ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มประ...

    calendar icon24.04.2019
  • ทำความรู้จัก Telemedicine... เทรนด์ธุรกิจเติบโตดีหลัง COVID-19

    การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) มีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มทดลองใช้บริการการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine มากขึ้น เพราะบริการดังกล่าวทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้แม้อยู่คนละที่กับผู้ป่วย ...

    calendar icon31.08.2020
  • เกาะติดกระแสการค้าสินค้าออนไลน์ในกัมพูชา

    กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน แม้การค้าส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม แต่การค้าในรูปแบบของ e-Commerce ก็มีการเติบโตโดดเด่นและเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อ...

    calendar icon31.10.2018
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview