ส่องเทรนด์โลก
แม้การประชุม COP27 จะจบลงด้วยบทสรุปที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนัก แต่ประเทศทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) และส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนพลังงานฟอสซิลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้พลังงานจากแสงอาทิตย์และพลังงานลมเติบโตอย่างรวดเร็วจากทางเลือกที่มีจำกัด โดยปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มีสัดส่วนถึง 10% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งโลกในปี 2564 ขณะเดียวกัน โอกาสทางการตลาดที่มีขนาดใหญ่ ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไฮโดรเจนเป็นพลังงานทางเลือกอีกประเภทที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ประกาศเมื่อปี 2564 ว่าจะเป็นผู้ส่งออกไฮโดรเจนหลักของโลก ขณะที่เยอรมนีเปิดตัวรถไฟพลังงานไฮโดรเจนครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกยังได้ทยอยเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงที่เปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่วนไทยเองก็รับเทรนด์พลังงานไฮโดรเจนด้วยเช่นกัน โดยได้เปิดตัวสถานีไฮโดรเจนนำร่องแห่งแรกของไทยที่ จ.ชลบุรี ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา “ส่องเทรนด์โลก” ฉบับนี้ จะชวนท่านมาทำความรู้จักกับพลังงานไฮโดรเจน เทรนด์พลังงานใหม่ ท่ามกลางการปรับตัวของภาคธุรกิจทั่วโลกเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ดังนี้
ไฮโดรเจนหลากสี…ลดปล่อยคาร์บอนหลากระดับ
ไฮโดรเจนสามารถแบ่งประเภทตามเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตและวิธีการผลิต และมักใช้ชื่อของสีแทนแต่ละประเภทโดยไฮโดรเจนหลักที่ทั่วโลกผลิตได้ในปัจจุบันเป็นไฮโดรเจนสีเทา ซึ่งผลิตจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ด้วยวิธีเปลี่ยนโครงสร้างโมเลกุลด้วยไอน้ำ คิดเป็นสัดส่วน 95% ของไฮโดรเจนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ไฮโดรเจนสีเทาจะยังไม่ใช่คำตอบ เนื่องจากยังปล่อยคาร์บอนในระดับสูง แต่ไฮโดรเจนสีน้ำเงินและสีเขียว หรือไฮโดรเจนสะอาด จะตอบโจทย์เป้าหมายการลดโลกร้อนได้มากกว่า เนื่องจากไฮโดรเจนสีเขียว ผลิตจากการแยกน้ำด้วยกระแสไฟฟ้า โดยกระแสไฟฟ้าที่ใช้มาจากพลังงานสะอาด จึงไม่ปล่อยคาร์บอนตลอดกระบวนการผลิต ส่วนไฮโดรเจนสีน้ำเงิน มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตแล้วเก็บไว้ใต้ดิน หรือนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนรูปแบบอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ดี ไฮโดรเจนสะอาดในปัจจุบันมีข้อเสียคือ มีต้นทุนสูงกว่าไฮโดรเจนสีเทา ทั้งนี้ ไฮโดรเจนทั้ง 3 ชนิด ใช้เชื้อเพลิงในการผลิต มีวิธีผลิต อัตราการปล่อยคาร์บอน ตลอดจนต้นทุนที่แตกต่างกัน ดังนี้
ไฮโดรเจน…อีกแหล่งพลังงานแห่งอนาคตเพื่อลดโลกร้อน
สำหรับความต้องการใช้ไฮโดรเจนในภาพรวม ทั่วโลกมีความต้องการใช้ไฮโดรเจน 94 ล้านตันในปี 2564 ซึ่งในปี 2563 การใช้ไฮโดรเจนกระจุกตัวอยู่ในการผลิตเคมีภัณฑ์อย่างแอมโมเนียและเมทานอลเกือบ 50% ขณะที่ราว 46% ใช้ในโรงกลั่นน้ำมันเพื่อกำจัดกำมะถันในน้ำมันและเพิ่มประสิทธิภาพการกลั่นเพื่อให้ได้น้ำมันที่มีราคาสูงเพิ่มขึ้น ส่วนที่เหลือไม่ถึง 5% ใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า สำหรับแนวโน้มในอนาคต ทั่วโลกจะมีความต้องการไฮโดรเจนเพิ่มเป็นเกือบ 6 เท่าจากปี 2564 เป็น 536 ล้านตัน ในปี 2593 โดยส่วนใหญ่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม การขนส่งทางถนน เคมีภัณฑ์ และการบินและการเดินเรือ ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า การกลั่นน้ำมันเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ใช้ไฮโดรเจนลดลงมากคือ เหลือเพียงไม่ถึง 3% ในปี 2593 จากที่เคยมีสัดส่วนเกือบครึ่งของการใช้ไฮโดรเจนทั่วโลกในปัจจุบัน
แม้ขณะนี้ทั่วโลกจะยังใช้ไฮโดรเจนสีเทามากที่สุด เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าไฮโดรเจนสะอาด แต่ไฮโดรเจนสะอาดมีโอกาสเติบโตอย่างมากในอนาคต เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนสะอาดมีแนวโน้มลดลงตามการพัฒนาเทคโนโลยีประกอบกับนโยบายของภาครัฐประเทศต่างๆ ที่สนับสนุนการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดคาร์บอนโดย 17 ประเทศทั่วโลก ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์พลังงานไฮโดรเจนแล้ว ส่วนอีก 20 ประเทศประกาศว่าอยู่ระหว่างพัฒนายุทธศาสตร์ดังกล่าว รวมถึงการผลักดันแผนด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทขนาดใหญ่เพื่อเตรียมพร้อมรับมาตรฐานใหม่ของโลกและเพิ่มภาพลักษณ์ที่ดีในมุมมองของผู้บริโภค คู่ค้า และนักลงทุน ทั้งนี้ ต้นทุนของไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับไฮโดรเจนสีเทาและสีน้ำเงิน มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่า ราคาไฮโดรเจนสีเขียวจะลดลงเหลือกิโลกรัมละ2 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 และ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2578 และจะเหลือเพียง 0.75 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2593
ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม…จุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาธุรกิจรับกระแสลดคาร์บอน
ทั่วโลกเริ่มมีการพัฒนาใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้นเพื่อผลักดันเป้าหมาย Net Zero Emission แม้พลังงานไฮโดรเจนจะมีข้อจำกัด อาทิ ราคาที่ยังสูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น อีกทั้งขาดโครงสร้างพื้นฐานทั้งการผลิต จัดเก็บ และขนส่ง ปัจจุบันมีตัวอย่างการใช้ไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ อาทิ
>>> ยานยนต์ไฟฟ้าและการขนส่งทางบก-น้ำ-อากาศ : บริษัทผู้ผลิตยนต์ยานยนต์รายใหญ่ทั่วโลกทั้ง Toyota, BMW, Volkswagen, Audi, GM, Honda และ Hyundai ลงทุนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles : FCEV) ที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงเปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่ายแล้วในท้องตลาด เช่น Honda FCX Clarity และ Toyota Mirai นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะนำไฮโดรเจนไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะที่มีน้ำหนักมากหรือยานพาหนะที่ต้องเดินทางระยะไกล อย่างเรือขนส่งทางทะเล รถบรรทุก ตลอดจนเครื่องบิน เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่มีน้ำหนักเบา ทั้งนี้ Airbus ผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่อยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องบิน Airbus A380 พลังงานไฮโดรเจนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการทดสอบบินได้ภายในปี 2571
>>>การผลิตเหล็ก : การผลิตเหล็กเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูง และปล่อยคาร์บอนถึง 7.2% ของกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนทั้งหมด เพราะใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงหลัก จึงมักเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ต้องเผชิญกับมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการลดคาร์บอน ทั้งนี้ ในปี 2563 Ovako ผู้ผลิตเหล็กในสวีเดน ใช้เชื้อเพลิงจากไฮโดรเจนในการหลอมเหล็กแทนก๊าซธรรมชาติเหลวได้สำเร็จ โดยเหล็กที่ผลิตได้มีคุณภาพดีไม่ต่างจากเหล็กที่ผลิตโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2565 Ovako เริ่มผลิตเหล็กแบบ Carbon Neutral ขณะที่ Arcelor Mittal บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตเหล็กและเหมืองแร่ของโลก ก็ตั้งเป้าผลิตเหล็กโดยไม่ปล่อยคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2568 เช่นกัน
แม้ไฮโดรเจนจะยังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการลงทุนและพัฒนา แต่ท่ามกลางเทรนด์ลดโลกร้อนทั่วโลก ไฮโดรเจนนับเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่มาแรงและมีโอกาสเติบโต อีกทั้งมีแนวโน้มได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอีกมากซึ่งหากเกิดการลงทุนและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ก็เป็นไปได้ว่าไฮโดรเจนสะอาดจะมีต้นทุนลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บและขนส่งที่ดีและครอบคลุม ทำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆได้เป็นวงกว้างมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงควรติดตามพัฒนาการของพลังงานไฮโดรเจนอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการเรียนรู้และศึกษาแนวทางการใช้ประโยชน์และปรับใช้ไฮโดรเจนให้เหมาะสมกับธุรกิจของท่าน เพื่อให้ท่านสามารถเป็น First Mover คว้าโอกาสจากพลังงานไฮโดรเจน พลังงานแห่งอนาคตเพื่อลดโลกร้อน เพื่อต่อยอดธุรกิจรับเทรนด์ Net Zero Emission ได้ก่อนใคร
-
Sustainable Packaging … ปกป้องผลิตภัณฑ์ ปกป้องโลก และปกป้องธุรกิจ
บรรจุภัณฑ์ นอกจากทำหน้าที่ปกป้องสินค้าและยืดอายุสินค้าแล้ว ยังมีส่วนอย่างยิ่งในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และช่วยให้สินค้ามีโอกาสเข้าถึงลูกค้าใหม่มากขึ้น เพราะบรรจุภัณฑ์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเ...
26.04.2024 -
เทรนด์ตลาดเพชรและเครื่องประดับเพชรในจีน อนาคตส่งออกไทยที่ Shine Bright Like a Diamond
หากพูดถึงตลาดส่งออกขนาดใหญ่อย่างจีน ณ เวลานี้ หลายท่านอาจจะกังวลถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคจากปัญหาภายในประเทศหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม การที่ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2567 จะยังมีอัตราการเติ...
29.02.2024
-
Gen Z กับทิศทางตลาดอาหารโลก
กลุ่ม Gen Z (Generation Z) คือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วงหลังปี 2543 ซึ่งปัจจุบันถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเด็กและวัยรุ่นอายุไม่ถึง 20 ปี Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่หลายธุรกิจเริ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มประ...
24.04.2019 -
ทำความรู้จัก Telemedicine... เทรนด์ธุรกิจเติบโตดีหลัง COVID-19
การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) มีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มทดลองใช้บริการการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine มากขึ้น เพราะบริการดังกล่าวทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้แม้อยู่คนละที่กับผู้ป่วย ...
31.08.2020 -
เกาะติดกระแสการค้าสินค้าออนไลน์ในกัมพูชา
กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน แม้การค้าส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม แต่การค้าในรูปแบบของ e-Commerce ก็มีการเติบโตโดดเด่นและเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อ...
31.10.2018