ส่องเทรนด์โลก

มองความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อสู้ศึกส่งออกครึ่งหลังปี 2566

           ผ่านมาแล้วครึ่งปีสำหรับปี 2566 ซึ่งการส่งออกไทยมีโมเมนตัมที่อ่อนแรงลงต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมการส่งออกไทย 5 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 5.1% โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลัก ชะลอตัว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากความพยายามจัดการเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคแบกรับต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น สำหรับการลงสนามสู้ศึกส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ยังคงมีความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องพึงระวัง ดังนี้

ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ต้องพึงระวังในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

การล้มละลายของภาคธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2566 โดย Allianz Research คาดว่าดัชนี
การล้มละลายของธุรกิจทั่วโลก (Global Insolvency Index) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 21% ในปี 2566 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการทยอยสิ้นสุดของมาตรการภาครัฐเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจจากวิกฤต COVID-19 ขณะที่ดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ต้นทุนการประคองธุรกิจเพิ่มขึ้น จนทำให้ธุรกิจบางส่วนไม่สามารถยื้อกิจการไว้ได้ ทั้งนี้ การล้มละลายของธุรกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระค่าสินค้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากธุรกิจที่มีปัญหาส่วนใหญ่มักปกปิดสถานะทางการเงินของตนเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือจนถึงที่สุด ทำให้คู่ค้าของธุรกิจดังกล่าวมักมีหนี้ทางการค้าที่ค้างชำระระหว่างกันจำนวนมาก

เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ยังชะลอตัวลงอีก ประกอบด้วย

  • สหรัฐฯ (ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย) : เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ 3% ในไตรมาสแรก
    ปี 2566 มีสัญญาณชะลอตัวในระยะข้างหน้าจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ในเดือน พ.ค. 2566 ที่ลดลง 0.7% ขณะที่หลายกลุ่มธุรกิจในสหรัฐฯ ทยอยประกาศลดพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มค้าปลีกและ E-commerce เพื่อควบคุมต้นทุนและรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว
  • จีน (ตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย) : โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญความท้าทาย โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้า อีกทั้งสัญญาณการส่งออกไม่สดใส สังเกตจากมูลค่าส่งออกเดือน มิ.ย. 2566 ที่คาดว่าจะหดตัวถึง 4% ซึ่งเป็นการลดลงแรงที่สุดในรอบกว่า 3 ปี ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศใช้ยังไม่ส่งผลชัดเจน จึงยังต้องลุ้นต่อว่ามาตรการต่างๆ จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อของจีนฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังได้หรือไม่

วิกฤตหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศอาจปะทุขึ้นเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 ต่อเนื่องด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลายประเทศประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาขาดดุลการคลังที่มีอยู่เดิม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่เศรษฐกิจเปราะบางอยู่แล้วไม่สามารถรับมือกับปัญหาจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ตัวอย่างในปี 2565 กรณีของศรีลังกาและกานาที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูง เงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่ารุนแรง ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ และขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระค่าสินค้าจากการที่ผู้นำเข้าปลายทางไม่สามารถหาเงินดอลลาร์สหรัฐมาชำระค่าสินค้าได้ ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวในปี 2566 ถือว่ายังไม่คลี่คลายลง โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นต้องเผชิญต้นทุนทางการเงินในการแก้ปัญหาหนี้ที่สูงขึ้น

 

กลยุทธ์ในการสู้ศึกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566

ประเมินความเสี่ยงประเทศ ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกขาลง การทำความเข้าใจสถานการณ์ของตลาดส่งออก เพื่อประเมินความเสี่ยงประเทศคู่ค้าในเบื้องต้น จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการความเสี่ยงด้านตลาดได้ดียิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลความเสี่ยงประเทศที่จัดทำโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการจัดกลุ่มความเสี่ยงประเทศตาม Country Risk Classification ของ OECD ที่มีการจัดกลุ่มความเสี่ยงประเทศกว่า 170 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็น 8 กลุ่มความเสี่ยง คือ 0, 1, 2, 3, 4, 5, 6 และ 7 โดย 0 หมายถึง ความเสี่ยงต่ำสุด ตัวอย่างประเทศในกลุ่มดังกล่าว เช่น ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ และ 7 หมายถึง ความเสี่ยงสูงสุด เช่น ลิเบีย และรัสเซีย โดยการจัดกลุ่มของ OECD สะท้อนความเสี่ยงในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านการชำระหนี้ต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการชำระหนี้ค่าสินค้า ทั้งนี้ สำหรับไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 3 ขณะที่ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 OECD ได้ปรับความเสี่ยงไต้หวันจากกลุ่ม 1 เป็นกลุ่ม 2 เพื่อสะท้อนความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีแนวโน้มรุนแรง ทำให้ไต้หวันมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการเป็น Proxy war ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ประเมินความเสี่ยงคู่ค้า โดยการตรวจสอบสถานะทางการเงินของคู่ค้า การตรวจสอบประวัติการชำระเงิน รวมทั้งติดตามและเฝ้าระวังพฤติกรรมการชำระเงินว่ามีลักษณะที่ผิดไปจากปกติหรือไม่ เช่น การขอขยายเวลาการชำระค่าสินค้า ทั้งนี้ หากพบว่ามีพฤติกรรมที่ผิดสังเกตหรือไม่มั่นใจ สามารถติดต่อ EXIM BANK เพื่อขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำ รวมถึงใช้บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ และนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกำหนดเงื่อนไขการชำระเงิน รวมถึงใช้บริการประกันการส่งออก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ได้รับชำระเงิน

ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีรอบด้าน ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกจำเป็นต้องติดตามและทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และควรเพิ่มความระมัดระวังความเสี่ยงโดยเฉพาะการปิดความเสี่ยงประเทศ/คู่ค้า เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินเกมรุกตลาดส่งออกได้อย่างราบรื่น

Most Viewed
more icon
  • Gen Z กับทิศทางตลาดอาหารโลก

    กลุ่ม Gen Z (Generation Z) คือ กลุ่มคนที่เกิดในช่วงหลังปี 2543 ซึ่งปัจจุบันถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเด็กและวัยรุ่นอายุไม่ถึง 20 ปี Gen Z เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่หลายธุรกิจเริ่มให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะเป็นกลุ่มประ...

    calendar icon24.04.2019
  • ทำความรู้จัก Telemedicine... เทรนด์ธุรกิจเติบโตดีหลัง COVID-19

    การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) มีส่วนกระตุ้นให้ประชาชนเริ่มทดลองใช้บริการการแพทย์ทางไกลหรือ Telemedicine มากขึ้น เพราะบริการดังกล่าวทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้แม้อยู่คนละที่กับผู้ป่วย ...

    calendar icon31.08.2020
  • เกาะติดกระแสการค้าสินค้าออนไลน์ในกัมพูชา

    กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน แม้การค้าส่วนใหญ่ยังอยู่ในรูปแบบดั้งเดิม แต่การค้าในรูปแบบของ e-Commerce ก็มีการเติบโตโดดเด่นและเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อ...

    calendar icon31.10.2018
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview