By thanyapornr
10-01-2025
ส่องโอกาสส่งออกสินค้าไทยในปี 2568
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้ารวม 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้คาดว่ามูลค่าส่งออกทั้งปี 2567 จะสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 1-2% ได้อย่างแน่นอน ส่วนการส่งออกไทยในปี 2568 ในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ โดยได้รับผลดีจากการที่อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจของหลายประเทศสำคัญปรับตัวดีขึ้น โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2568 จะขยายตัว 3.2%
ทั้งนี้ สำหรับการส่งออกรายสินค้า นอกจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จำพวกอุปกรณ์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ รวมถึงวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ไทยได้รับผลดีจากการ Decoupling ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมายังไทยอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีสินค้าอีก 3 กลุ่ม คือ Food-Good-Mood ที่ตลาดมีแนวโน้มขยายตัวได้ จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลก ดังนี้
- กลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร (Food for Security) ประเทศไทยมีจุดเด่นจากการมีทรัพยากรธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย จนไทยติดอันดับเป็น 1 ในประเทศผู้ส่งออกอาหารสำคัญ และมีอัตราการผลิตอาหารต่อคน (Food Production per Capita) สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก ผู้ส่งออกไทยจึงอาจได้รับผลบวกจากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ก่อตัวขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงที่สงครามปะทุขึ้น ซึ่งจะทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหาร เกิดความกังวลและต้องการนำเข้าสินค้าที่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสินค้าอาหารหลายรายการที่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหาร และผู้ประกอบการไทยยังมีศักยภาพในการส่งออก สังเกตจากการที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารบางประเภทในระดับ Top 3 ของโลก อาทิ ทูน่ากระป๋อง (อันดับ 1) ไก่แปรรูป (อันดับ 1) น้ำตาลทราย (อันดับ 2) และซาร์ดีนกระป๋อง (อันดับ 3)
- กลุ่มสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม (Good for Planet) วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ทำให้มีความตื่นตัวต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในวงกว้าง สังเกตจากที่ประเทศต่างๆ ใช้มาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น EU ที่เริ่มใช้มาตรการ CBAM เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนจากสินค้านำเข้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง 6 รายการ (เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน) ส่วนประเทศไทยเองก็กำลังจะมีกลไกภาษีคาร์บอนภาคบังคับเช่นกัน โดยจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนจากน้ำมันเป็นสินค้าแรก
สำหรับภาคเอกชน องค์กรและบริษัทชั้นนำหลายแห่งต่างก็ประกาศเป้าหมาย Net Zero ขององค์กร เช่นเดียวกับผู้บริโภคถึงราว 2 ใน 3 ที่ให้ความสำคัญและหันมาเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นแรงหนุนให้สินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบรีไซเคิล ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้สินค้ากลุ่ม Green ที่ไทยส่งออกเป็นลำดับต้นๆ (Top 3) ในตลาดโลกอย่างเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid : PLA (อันดับ 3) และแผงโซลาร์ (อันดับ 3) มีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้น นอกจากนี้ สินค้าทั่วไปที่ปรับให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ ยางพาราที่เข้ามาตรฐาน EUDR (ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า) ตลอดจนเหล็กหรือซีเมนต์คาร์บอนต่ำ (Green Steel/ Green Cement) ก็มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นเช่นกัน
- สินค้าหรือบริการที่สร้างความสุขหรือประสบการณ์ใหม่ (Mood for Joy) ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับความเครียดและแรงกดดันต่างๆ เพิ่มขึ้น จึงพยายามเสาะหาสินค้าหรือกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา การดูแลรูปลักษณ์ให้สวยงามเพื่อเสริมความมั่นใจ การเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ใหม่ๆ รวมถึงการใช้บริการสปาเพื่อผ่อนคลาย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยหลายชนิด โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพเป็นผู้ส่งออกอันดับต้นๆ ของโลก อาทิ อาหารสุนัขและแมว (อันดับ 3) เครื่องประดับเงิน (อันดับ 2) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว (อันดับ 2 ในอาเซียน)
นอกจากนี้ ธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในประเทศไทยก็มีแนวโน้มได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการมาท่องเที่ยวในเชิงดูแลสุขภาพ (Medical Tourism and Overseas Healthcare) ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นเป็นอันดับ 3 ของโลกจากการจัดอันดับของ Nomad Capitalist รวมถึงการเดินทางมาเพื่อท่องเที่ยวและทำงาน (Digital Nomad) ซึ่งมีหลายเมืองในประเทศไทย เช่น กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ที่ถูกจัดให้เป็นจุดหมายปลายทางลำดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากการพักอาศัยในประเทศไทยมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่าชาติตะวันตก มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมและมีความเร็วสูงเหมาะแก่การทำงาน และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวหรือสถานที่สำหรับ Hangout จำนวนมาก เหมาะแก่การพักผ่อนในวันหยุดหรือหลังเลิกงาน
แม้ผู้ส่งออกจะยังต้องเผชิญความเปราะบางจากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ในปี 2568 โดยเฉพาะความเสี่ยงจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัล ทรัมป์ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ แต่หากผู้ส่งออกหมั่นติดตามและทำความเข้าใจกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมทั้งเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ก็จะช่วยให้ท่านสามารถข้ามผ่านความท้าทายต่างๆ ไปได้ด้วยดี
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด