เลียบรั้ว เลาะโลก
เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทันไรก็กำลังจะเข้าสู่ช่วงท้ายของปี 2561 แล้ว หลายท่านคงเหนื่อยล้ากับการทำงานมาตลอดทั้งปี และกำลังวางแผนไปเที่ยวพักผ่อนในช่วงปีใหม่กัน อย่างไรก็ตาม หากพูดถึงเศรษฐกิจโลกในช่วงโค้งสุดท้ายกลับไม่มีทีท่าจะหยุดพัก แต่กลับเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ โดยมีหลายเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนอารมณ์ของตลาดและแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2562 ในหลายมิติ ดังนี้
- สงครามการค้าโลก จาก ตาต่อตา ฟันต่อฟัน สู่ การพักรบ : สงครามการค้าถือเป็นความเสี่ยงอันดับ 1
ที่กดดันเศรษฐกิจโลกมาตั้งแต่ต้นปี 2561 จากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่หลายฝ่ายมองว่าอาจยืดเยื้อ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่ยุคมืดของการค้าโลกอีกครั้งก็เป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในการประชุมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20) ได้มีการเจรจานอกรอบระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีน ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราภาษีเพิ่มเติมระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน ปัจจัยดังกล่าวแม้เป็นเพียงการพักรบชั่วคราวแต่ก็ถือเป็นการสร้างโมเมนตัมเชิงบวกครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีให้กับบรรยากาศการค้าโลก ทำให้แนวโน้มการค้าโลกปี 2562 อาจไม่ได้แย่ไปทั้งหมดเหมือนที่หลายฝ่ายคาด โดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่พึ่งพาทั้งสองตลาดข้างต้นถึง 22% ของมูลค่าส่งออกรวม - อัตราดอกเบี้ยโลก จาก การวิ่ง 4x100 สู่ การวิ่งมาราธอน : เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มใส่คันเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจาก 1 ครั้งในปี 2558 และอีกครั้งในปี 2559 ก่อนที่จะปรับขึ้นอีก 3 ครั้งในปี 2560 และคาดว่าจะเร่งขึ้นสูงสุดถึง 4 ครั้งในปี 2561 หลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวดีที่สุดในรอบ 12 ปีและอัตราว่างงานต่ำสุดในรอบ 50 ปี ขณะที่ในปี 2562 ก็มีการส่งสัญญาณผ่านรายงานการประชุม Fed เมื่อเดือนตุลาคมว่าจะมีการปรับขึ้นอีก 3 ครั้งไปอยู่ที่ระดับ 0-3.25% อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธาน Fed ได้กล่าวในงาน The Economic Club of New York ว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้ระดับที่เป็นกลาง (ระดับที่จะไม่กระตุ้นหรือชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ) นับเป็นครั้งแรกที่ประธาน Fed เปลี่ยนท่าทีที่จะลดความเร็วในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหลือเพียง 2 ครั้งใน
ปี 2562 ปัจจัยดังกล่าวน่าจะช่วยบรรเทาความกังวลด้านต้นทุนทางการเงินขาขึ้นในปี 2562 ของผู้ประกอบการได้บางส่วน และอาจช่วยลดแรงกดดันของเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจเปราะบาง อาทิ อาร์เจนตินา ตุรกี รัสเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น หลังสกุลเงินประเทศต่างๆ ข้างต้นเผชิญแรงขายอย่างรุนแรงในช่วงไตรมาส 3 ปี 2561 จนทำให้เสถียรภาพการเงินและกำลังซื้อของประเทศสั่นคลอน ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาดดังกล่าวอยู่พอสมควร - ราคาน้ำมันโลก จาก ตลาดหมีจำศีล สู่ ตลาดหมีตื่น : ราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2561
ที่ปรับขึ้นไปทำระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 ปีที่ 87 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ได้ปรับลดลงเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ภายในเดือนเดียวกว่า 30% จากความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันส่วนเกินที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ที่ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และอุปสงค์น้ำมันโลกที่ชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ราคาน้ำมันถูกคาดหมายว่าอาจกำลังเข้าสู่ตลาดหมี (Bear Market) อีกครั้งในปี 2562 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา การประชุม OPEC Plus ที่ประกอบด้วย OPEC
และกลุ่ม Non-OPEC นำโดยรัสเซีย ได้ตกลงกันปรับลดปริมาณการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งช่วยหนุนให้
ราคาน้ำมันฟื้นตัวเกือบ 10% และทำให้โมเมนตัมราคาน้ำมันในปี 2562 อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายฝ่ายคาด ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ กระเตื้องขึ้นตาม และผลักดันให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันของไทยซึ่งคิดเป็นกว่า 15% ของมูลค่าส่งออกรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
แม้หลายเหตุการณ์สำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561 จะเปลี่ยนภาพกว้างของเศรษฐกิจโลกปี 2562 จากโมเมนตัมเชิงลบให้เป็นบวกขึ้นมาบ้าง ซึ่งจะช่วยหนุนการส่งออกของไทยไม่มากก็น้อย แต่ในแนวลึกแล้วเศรษฐกิจโลกก็ยังต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน อาทิ ความไม่แน่นอนของ Brexit การประท้วงไม่พอใจรัฐบาลในฝรั่งเศส ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมเครื่องมือให้พร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และหาโอกาสให้ได้ก่อนคู่แข่ง
ที่เกี่ยวข้อง
-
จับตาทิศทางราคาน้ำมันปี 2563...นัยต่อการส่งออกของไทย
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำตลอดทั้งปี 2562 ซึ่งบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศผู้ส่...
06.01.2020 -
วิกฤตฮ่องกง…ต้นตอสั่นคลอนสถานะการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ
ฮ่องกง ถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย ทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยว และการเงิน อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยบั่นทอนที่รุมเร้ารอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ในฮ่องกงที่ยืดเยื้อมากว่า 6 เดือน รวมถึง...
03.12.2019