เลียบรั้ว เลาะโลก

ยุโรปกับบทบาทผู้นำการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก

ภายหลังทรัมป์เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำการค้าระหว่างประเทศด้วยการนำมาตรการปกป้องทางการค้ามาใช้อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งเป็นภูมิภาคที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากที่สุด เห็นได้จากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน การใช้มาตรการ Safeguard กับสินค้าหลายชนิดซึ่งมีฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาคนี้ อาทิ โซลาร์เซลล์ เครื่องซักผ้า รวมถึงการถอนตัวจากข้อตกลง TPP เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงบทบาทที่แผ่วลงของการเป็นผู้นำการค้าเสรีของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ สวนทางกับสหภาพยุโรป (EU) ที่อาศัยช่วงเวลาดังกล่าวรุกคืบและก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นผ่านการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ EU ก่อตั้งขึ้นกว่า 27 ปี ภายใต้สนธิสัญญามาสทริสต์ EU ทำ FTA กับประเทศในเอเชีย-แปซิฟิกเพียงประเทศเดียวคือเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 เพียงปีเดียว EU ส่อเค้าจะประกาศใช้ FTA กับประเทศในภูมิภาคนี้ถึง 3 ประเทศ ได้แก่  ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจสหภาพยุโรป-ญี่ปุ่น ที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-สิงคโปร์ และ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม ซึ่งเจรจาเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ในขั้นตอนการอนุมัติจากรัฐสภาของแต่ละฝ่าย และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2562  

ในบรรดาประเทศคู่เจรจากับ EU ทั้งญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม ถือเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทยในเวทีการค้าโลกมาโดยตลอด ดังนั้น การที่ FTA ทั้ง 3 ฉบับมีผลบังคับใช้ย่อมส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในมิติของการส่งออกของไทยไป EU ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 10% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย ดังนี้

  • ผลกระทบเชิงลบ FTA ที่จะเกิดขึ้นส่งผลให้ทั้ง 3 ประเทศข้างต้นมีแต้มต่อด้านราคาส่งออกที่เหนือกว่าไทยในตลาด EU ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่เป็นคู่แข่งกับสินค้าของประเทศเหล่านั้นเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น ในเบื้องต้นพบว่าสินค้าไทยที่เสียเปรียบสินค้าจากเวียดนามค่อนข้างมากคือ สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นซึ่งเดิมไทยก็เสียเปรียบเวียดนามเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจากต้นทุนการผลิตของเวียดนามที่ต่ำกว่าไทย อาทิ รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น เช่นเดียวกับสินค้าเกษตร (ข้าว อาหารทะเล) และสินค้าไฮเทค (อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า)
    ที่เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตสำคัญของแบรนด์ระดับโลก ขณะที่ผลกระทบจากสินค้าของสิงคโปร์และญี่ปุ่น อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล พลาสติก เคมีภัณฑ์ ที่จะเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสินค้าจากเวียดนาม เนื่องจากไทยผลิตสินค้าคนละชนิดกับญี่ปุ่นและสิงคโปร์ อีกทั้งไทยก็อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศ
  • ผลกระทบเชิงบวก หรือผลพลอยได้ที่อาจช่วยบรรเทาผลกระทบเชิงลบได้บางส่วน นั่นคือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของทั้งสามประเทศจะได้ประโยชน์จากการที่ประเทศดังกล่าวส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไป EU มากขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ไทยเป็น Supplier สำคัญในสินค้าหลายประเภท อาทิ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น หรือแม้แต่สินค้าของเวียดนามบางชนิดก็ยังพึ่งวัตถุดิบจากไทย อาทิ ผ้าผืน ชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์บางส่วน ซึ่งกรณีดังกล่าวสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับกรณีที่ไทยเป็น Supply Chain ของจีน (แผงวงจรไฟฟ้า ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ไม้) ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมากหลังสหรัฐฯ ใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นชี้ให้เห็นว่าไทยต้องเร่งหากลยุทธ์เพื่อลดผลกระทบเชิงลบและรักษาส่วนแบ่งในตลาดยุโรปโดยเร็ว ทั้งการผลักดันเจรจา FTA กับ EU อีกครั้ง หลัง EU แสดงท่าทีชัดเจนที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และมีมุมมองที่ดีต่อไทยมากขึ้นหลังมีการปลดธงเหลืองให้การทำประมงของไทย นอกจากนี้ ภาคเอกชนเองก็ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพและสร้างจุดเด่นให้สินค้ามากขึ้นเพื่อตอบสนองผู้บริโภคยุโรปที่ไม่ได้พิจารณาซื้อสินค้าจากราคาเป็นหลักแต่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม แรงงาน และสวัสดิภาพสัตว์ ขณะเดียวกันก็อาจแทรกตัวเข้าไปอยู่ใน Supply Chain หรือมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนในทั้งสามประเทศข้างต้นเพื่อต่อยอดการผลิตและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไปในระยะยาว

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview