เลียบรั้ว เลาะโลก

มองต่างมุม : หลายประเทศชวดโอกาสทำตลาด…หากสงครามการค้ายุติ

การปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนรอบล่าสุดจาก 10% เป็น 25% มูลค่ารวมกันกว่า
2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการที่สหรัฐฯ อาจห้ามไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีของตนทำธุรกิจกับบริษัทของจีนนั้น ได้สร้างความผิดหวังให้หลายฝ่ายที่แอบลุ้นให้ทั้งสองฝ่ายเจรจากันให้ได้โดยเร็ว เพราะตลอดกว่า 1 ปี
ที่ผ่านมาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้เศรษฐกิจโลก
ในปี 2562 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปีจากการคาดการณ์ของ IMF

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตในอีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจว่า อาจมีผู้ผลิตสินค้าบางประเภทที่เสียประโยชน์หากสงครามการค้ายุติ เนื่องจากเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่จะยุติสงครามการค้าคือ จีนต้องนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น” ซึ่งหากเงื่อนไขดังกล่าวมีผลจริง จะทำให้ประเทศที่เคยได้ประโยชน์จากการที่จีนหันมานำเข้าสินค้าแทนที่สหรัฐฯ ในช่วงที่เกิดสงครามการค้าจะกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ทันที อาทิ

  • อุตสาหกรรมการบินของยุโรป Airbus ถือเป็นบริษัทร่วมทุนของหลายประเทศในยุโรป (อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน) ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับบริษัท Boeing ของสหรัฐฯ อาจเสียประโยชน์อย่างมากหากสงครามการค้ายุติ สังเกตได้จากล่าสุดในช่วงเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา จีนได้ยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบิน Boeing ไปบางส่วน และหันไปสั่งซื้อเครื่องบินจาก Airbus แทนเป็นมูลค่ากว่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากสงครามการค้าสิ้นสุด แน่นอนว่าจีนอาจกลับมาซื้อเครื่องบินจาก Boeing แทน Airbus ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของยุโรปไปจีนค่อนข้างมาก เนื่องจากเครื่องบินถือเป็นสินค้าส่งออก Top 5 ที่ยุโรปส่งออกไปจีน
  • ผู้ผลิตสินค้าเกษตรในอเมริกาใต้ สงครามการค้าที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าเกษตรในสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง ข้าวสาลี ธัญพืช ซึ่งถือเป็นฐานเสียงหลักของประธานาธิบดีทรัมป์ ทั้งนี้ สินค้าข้างต้น สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของโลกและพึ่งพาตลาดจีนเป็นอันมาก ที่ผ่านมาจีนหันไปนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศในอเมริกาใต้แทนการนำเข้าจากสหรัฐฯ สะท้อนได้จากในช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 จีนนำเข้า
    ถั่วเหลืองจากบราซิลและอาร์เจนตินาเพิ่มขึ้นถึง 64% และ 2541% ตามลำดับ สวนทางกับการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ที่หดตัวถึง 80% นอกจากนี้ ผู้ผลิตข้าวสาลีและธัญพืชจากแคนาดา ออสเตรเลีย ปากีสถานก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการที่จีนปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ดังนั้น หากจีนต้องทำตามเงื่อนไขที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ก็จะทำให้ผู้ผลิตสินค้าของประเทศต่างๆ ข้างต้นเสียประโยชน์ได้
  • ธุรกิจพลังงานในตะวันออกกลางและรัสเซีย การที่สหรัฐฯ ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอันดับ 1 ของโลกภายหลังการค้นพบ Shale Oil ขณะที่จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ธุรกิจพลังงานเป็นสินค้าเป้าหมายหนึ่งที่ถูกใช้เป็นข้อต่อรองที่จะให้จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งหากสงครามการค้ายุติลงและจีนต้องหันมานำเข้าพลังงานจากสหรัฐฯ แทนเจ้าตลาดเดิมอย่างกลุ่มประเทศ OPEC และรัสเซีย
    มากขึ้น ก็อาจทำให้เศรษฐกิจของสองประเทศดังกล่าวที่พึ่งพาการส่งออกพลังงานเป็นหลักได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย

            ในส่วนของประเทศไทย ก็มีสินค้าบางประเภทที่เข้าข่ายและได้ประโยชน์จากการเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจีนที่เดิมเป็นของสหรัฐฯ อาทิ อาหารทะเล ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 จีนนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นถึง 84% ขณะที่จีนนำเข้าอาหารทะเลจากสหรัฐฯ หดตัวถึง 40% นอกจากนี้ ยังมีผลไม้และเครื่องสำอางบางชนิดของไทยที่มีแนวโน้มเข้าไปเป็นทางเลือกในตลาดจีนมากขึ้น หลังสินค้าบางส่วนของสหรัฐฯ เผชิญกับภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น

ที่เล่ามานี้เป็นการให้ภาพในอีกมุมมองหนึ่งซึ่งแม้ว่าผู้ผลิตบางรายจะได้ประโยชน์จากสงครามการค้าอยู่บ้าง แต่หากมองในภาพรวมแล้ว สงครามการค้าที่ยืดเยื้อไม่น่าจะเป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจและการค้าโลก เนื่องจากการทำสงครามราคาผ่านการปรับขึ้นภาษีจะไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างแท้จริง และไม่ก่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว   

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview