เลียบรั้ว เลาะโลก

คลื่นความเสี่ยงจากเศรษฐกิจจีน…กับโอกาสที่ซ่อนอยู่

เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเริ่มกังวลมากขึ้น เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีการเชื่อมโยงกับการค้าการลงทุนโลกค่อนข้างสูง ทำให้หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กรวมถึงไทยจะได้รับผลกระทบผ่านการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยการส่งออกของไทยไปจีนเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ที่หดตัว 3.7% และล่าสุดเดือนมกราคม 2562 หดตัวสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ 17% ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดพบว่า การส่งออกของไทยไปจีนได้รับผลกระทบใน 3 กลุ่มสินค้าหลักได้แก่ สินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน ได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านสงครามการค้าซึ่งสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนเป็นมูลค่ากว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2561 โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี ส่งผลให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนหลายรายการของไทยได้รับผลกระทบ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า  สินค้าฟุ่มเฟือย ได้รับผลกระทบโดยตรงผ่านกำลังซื้อของชาวจีนที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ล่าสุดรัฐบาลจีนปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2562 มาอยู่ที่ 6-6.5% ชะลอลงจากปี 2561 ที่ 6.6% ต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ ปัจจัยลบดังกล่าวสะท้อนผ่านการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยทั้งรถยนต์และสมาร์ทโฟนที่หดตัวลง โดยยอดขายรถยนต์ในจีนปี 2561 หดตัวครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่ 6% และยอดขายสมาร์ทโฟนหดตัว 16% สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการส่งออกของไทยไปจีนโดยเฉพาะรถยนต์ที่หดตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 จนมาถึงปัจจุบัน สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน แม้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันของไทย (เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป) ไปจีนปี 2561 ยังขยายตัวได้ดีและถือเป็นกลุ่มสินค้าหลักที่ประคับประคองไม่ให้การส่งออกไปจีนโดยรวมหดตัว แต่ล่าสุดตัวเลขการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในเดือนมกราคม 2562 กลับหดตัวสูงจากปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ของจีนที่ชะลอลง ซึ่งหากโมเมนตัมยังเป็นไปในทิศทางดังกล่าวจะมีส่วนกดดันการส่งออกของไทยไปจีนในปี 2562 เนื่องจากสินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าส่งออกโดยรวมของไทยไปจีน

            แม้การส่งออกของไทยไปจีนในกลุ่มสินค้าข้างต้นจะยังเผชิญความเสี่ยงจากหลายปัจจัยข้างต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกของไทยบางกลุ่มที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องสวนทางกับ 3 กลุ่มสินค้าข้างต้น โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 ซึ่งเป็นสินค้าจำเป็น ที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะชะลอลงมากเพียงใด แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ ได้แก่

  • สินค้าอาหาร เป็นสินค้าที่ไทยมีชื่อเสียงในด้านรสชาติและคุณภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันยังได้อานิสงส์จากการที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ช่วยเปิดตลาดสินค้าอาหารให้เป็นที่รู้จักของชาวจีนมากขึ้น สังเกตได้จากมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารของไทยหลายรายการขยายตัวในปี 2561 และต่อเนื่องมาถึงเดือนมกราคม 2562 อาทิ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ธัญพืช ผักกระป๋องและผักแปรรูป เครื่องดื่ม เครื่องเทศและสมุนไพร เครื่องปรุงรส เป็นต้น
  • สินค้าพื้นฐานที่ใช้ในที่อยู่อาศัย ยังคงได้อานิสงส์จากสังคมเมืองของจีนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว สะท้อนได้จากการที่จีนมี Megacity หรือเมืองที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคนถึง 15 เมืองซึ่งมากที่สุดในโลก ปัจจัยดังกล่าวมีส่วนหนุนให้การส่งออกสินค้าที่ใช้ในครัวเรือนหลายรายการยังขยายตัวได้ อาทิ เครื่องสุขภัณฑ์ ไมโครเวฟ ของใช้ในบ้าน เป็นต้น
  • สินค้าทางการแพทย์และสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ได้ปัจจัยสนับสนุนจากสัดส่วนผู้สูงอายุของจีนที่เพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2552 เป็น 11% ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเครื่องนุ่งห่มคุณภาพสูงที่ยังมีโอกาสในตลาดจีน ตามจำนวนชนชั้นกลางของจีนที่มีมากที่สุดในโลก

ปัจจุบันแม้สินค้ากลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนไม่สูงนักเมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกของไทยไปจีนโดยรวม แต่กลับมีอัตราการขยายตัวสูงต่อเนื่องสวนทางกับสินค้าวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบที่มีแนวโน้มชะลอลงตามภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของจีนที่ยังถูกกดดันจากสงครามการค้าไปอีกระยะ นอกจากนี้ สินค้าหลายรายการโดยเฉพาะกลุ่มอาหารก็เป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยมีความเชี่ยวชาญและมีศักยภาพสูง ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ในตลาดจีน และถือเป็นตัวช่วยที่จะเข้ามาประคับประคองการส่งออกของไทยไปจีนในปี 2562 ได้อีกทางหนึ่ง

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview