บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
สวัสดีปีใหม่และขอต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่ปีเถาะ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่โลกอาจเผชิญความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในหลายด้าน โดยหนึ่งในกระแสหลักที่ทวีความสำคัญมาหลายปีต่อเนื่องและนับเป็น “Big Issue” ในปีนี้ คือ ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวโยงกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับประเทศ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ สังคม ไปจนถึงครัวเรือน เนื่องจากปัจจุบันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะวิกฤตชัดขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในปี 2564 ที่เกิดภัยธรรมชาติทั่วโลกบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเกือบ 5 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูลจาก World Meteorological Organization) ทั่วโลกจึงตื่นตัวและร่วมกันเร่งแก้ปัญหาผ่านเวทีการประชุมต่างๆ ทั้งการประชุม APEC 2022 ณ กรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งประเทศสมาชิกร่วมกันตั้งหมุดหมายสำคัญไปสู่การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 และลดการใช้พลังงานต่อ 1 หน่วย GDP ลง 45% ภายในปี 2578 รวมถึงการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 27 (COP 27) ณ ประเทศอียิปต์ มุ่งมั่นให้ 90% ของอุตสาหกรรมพลังงานโลกต้องปลอดคาร์บอนภายในปี 2593 จะเห็นได้ว่า การที่ทั่วโลกมุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จะทำให้ภูมิทัศน์และโมเดลธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยขอยกตัวอย่าง “ปรากฏการณ์สีเขียว” ที่จะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นในปี 2566 ดังนี้
“ปรากฏการณ์ผู้บริโภคหัวใจสีเขียว ... สินค้าต้องรักษ์โลก ถึงจะถูกซื้อ”
หนึ่งในปรากฏการณ์สีเขียวที่ก่อตัวมาอย่างต่อเนื่อง คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่การให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังขยายตัวในวงกว้างไปทั่วโลก โดยข้อมูลจาก Kantar บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก ประเมินผู้บริโภคทั่วโลก พบว่ามีกลุ่ม Eco-Actives (ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 16% ของประชากรโลกในปี 2562 เป็น 22% ในปี 2564 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 50% หรือครึ่งหนึ่งของประชากรโลกภายในปี 2572 โดยผู้บริโภคที่มองหาสินค้า Eco-friendly มักให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ เช่น สามารถรีไซเคิลได้ ปริมาณการปล่อยคาร์บอน เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจุบันกลุ่มผู้บริโภค Eco-Actives สร้างมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงถึง 446 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ใกล้เคียงกับ GDP มาเลเซีย) ขณะที่เมื่อหันมาพิจารณาในมุมของผู้ผลิตก็พบว่าบริษัทที่ปรับโมเดลธุรกิจให้ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมก็ได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเช่นกัน สะท้อนจากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างบริษัทในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคใน 3 ประเทศ พบว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมักมีผล
การดำเนินงานดีกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม นับเป็นการตอกย้ำว่าการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจสู่เส้นทางสีเขียวเป็นอีกหนึ่งแต้มต่อสำคัญที่จะซื้อใจและเจาะตลาดผู้บริโภคหัวใจสีเขียวที่กำลังเติบโตและจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญในระยะถัดไป
“ปรากฏการณ์มาตรการสีเขียว ... หากไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พลาดโอกาสการค้าระหว่างประเทศ”
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ ปรากฏการณ์มาตรการสีเขียวหรือมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายขอบเขตให้ครอบคลุมปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้างมากขึ้นเป็นลำดับ ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่ามาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ณ ปี 2564 อยู่ที่ราว 17,000 มาตรการ เพิ่มขึ้นราว 6 เท่าจากปี 2554 (10 ปีที่ผ่านมา) ที่มีเพียง 2,652 มาตรการ โดยมีข้อสังเกตว่าประเทศที่ออกมาตรการจำนวนมาก มีทั้งประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เช่น จีน บราซิล ฟิลิปปินส์
“ปรากฏการณ์กลไกทางการเงินสีเขียว ... เครื่องมือสำคัญเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น”
ปรากฏการณ์สีเขียวสุดท้ายที่กำลังมาแรงและทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในตลาดการเงินโลก คือ ปรากฏการณ์กลไกทางการเงินสีเขียวหรือ Green Finance ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ครอบคลุมทั้งด้านแหล่งที่มาของเงินทุนและการใช้เงินทุนที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยรายงานของ TheCityUK ระบุว่าในปี 2564 ตลาด Green Finance โลกมีมูลค่า 540.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 5.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 หรือขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงปีละ 68% (CAGR) ยิ่งไปกว่านั้น ยังทวีบทบาทสำคัญต่อตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีสัดส่วน 4% ของมูลค่าตลาดการเงินโลก เพิ่มขึ้นจาก 0.1% ในปี 2555 ทั้งนี้ เครื่องมือทางการเงินที่มี บทบาทมากที่สุดในตลาด Green Finance คือ การระดมทุนผ่านการออกพันธบัตร (Green Bond) ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดราว 90% โดยมีจีนและสหรัฐฯ ครองส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 14% และ 12% ตามลำดับ ขณะที่ในส่วนของการให้สินเชื่อ (Green Loan) กว่าครึ่งหนึ่งกระจุกอยู่ที่ยุโรป นอกเหนือจากนี้ ยังมีเครื่องมืออื่นๆ เช่น การออกตราสารทุน (Green Equity) เป็นต้น เป็นที่คาดว่าตลาด Green Finance ทั่วโลกจะเติบโตอีกมากและมีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เนื่องจากนโยบายภาครัฐในหลายประเทศต่างหันมาส่งเสริมตลาด Green Finance อย่าง เป็นรูปธรรม เช่น โปรแกรม Carbon Emission Reduction Facility (CERF) ของจีนที่ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงินที่ 1.75% สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โปรแกรม Climate Lending Facility ของญี่ปุ่น ซึ่ง Bank of Japan จะให้เงินกู้แก่สถาบันการเงินสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่คิดดอกเบี้ย เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษแก่ภาคธุรกิจต่อ ซึ่งนับเป็นการจูงใจให้บริษัทต่างๆ เร่งปรับโมเดลธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อจะได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้อีกทางหนึ่ง
ปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรับภูมิทัศน์ทางธุรกิจของโลกที่มุ่งสู่การใส่ใจและช่วยกันปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยเองก็ตระหนักดีถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยหันมาปรับกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและสมดุลภายใต้ BCG Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยตั้งเป้าภายในปี 2569 จะเพิ่มเม็ดเงินจาก BCG Economy อีก 1 ล้านล้านบาท สร้างการจ้างงานอีก 3.5 ล้านราย รวมถึงลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมลง 50% ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำแนวคิดหรือรูปแบบของ BCG มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตน เพื่อตอบโจทย์โลกยุคใหม่และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดย EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย พร้อมยืนเคียงข้างและให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในการปรับตัวไปสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างครบวงจร นอกจากนี้ EXIM BANK ยังร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการพัฒนาศักยภาพและบ่มเพาะผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในการยกระดับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเติบโตได้อย่างสมดุล
การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจะเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจและไขประตูสู่ศักราชใหม่ ผู้ประกอบการทุกท่านควรตระหนักและเร่งปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหัวใจสีเขียว การปรับธุรกิจให้สอดรับกับมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือทางการเงินสีเขียว เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสใหม่ๆ ที่รออยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจของท่านจะเป็นหนึ่งในกลไกที่สามารถช่วยสร้างโลกให้ดีขึ้นสำหรับลูกหลานของเราในอนาคตต่อไปครับ
ที่เกี่ยวข้อง
-
จีน-อินเดีย ... ขั้วเศรษฐกิจใหม่ ยิ่งใหญ่บนความเหมือนที่แตกต่าง
หลายปีที่ผ่านมาบริบทเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนโฉมไปจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำทางเศรษฐกิจจากเดิมที่เคยผูกขาดโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กลุ่ม G3 ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่...
20.09.2024 -
Green Tourism : The Time to Transform is Now.
“Work hard, Travel harder.” ในช่วงปลายปีที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน หลายท่านคงเริ่มวางแผนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อชาร์จพลังกันแล้ว เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยว เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิ...
14.11.2023
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา
ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...
26.03.2019