บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

ลมเปลี่ยนทิศ พัดโลกเปลี่ยนทาง

บทความฉบับนี้ถือเป็นฉบับปฐมฤกษ์ของผม ก่อนอื่นผมต้องขอฝากเนื้อฝากตัวกับผู้อ่านทุกท่านอย่างเป็นทางการนะครับ ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสมาแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับมุมมองด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนแก่ทุกท่าน ผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านไม่มากก็น้อยนะครับ

          ปี 2566 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ไม่ง่ายสำหรับผู้ประกอบการที่ทำการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะโตเพียง 2.7% (คาดการณ์ ณ ตุลาคม 2565) ต่ำสุดในรอบ 21 ปี (ไม่นับรวมปีที่เกิดวิกฤต) ขณะที่การค้าโลกก็มีแนวโน้มเติบโตเหลือ 2.0% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่มุมมองต่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในทิศทางที่แย่ลงกว่าคาดการณ์เดิมหรือที่เรียกว่า Downside Risk ลงเรื่อยๆ ล่าสุดธนาคารโลก (World Bank) ก็ได้มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกเหลือขยายตัวเพียง 1.7% อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดูอึมครึมข้างต้น ผมได้สังเกตเห็น Movement ของบริบทหรือฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปใน 4 มิติ ซึ่งหากเรามองดีๆ จะมีโอกาสซ่อนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ดังนี้

  1. จาก “North” สู่ “South” ผมกำลังหมายถึงแม่เหล็กในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนจากซีกโลกเหนือมาสู่ซีกโลกใต้ สะท้อนได้จากการที่ IMF คาดการณ์ (ณ ตุลาคม 2565) ว่า ในช่วง 5 ปีถัดจากนี้ (ปี 2566-2570) เศรษฐกิจของแอฟริกา อินเดีย และอาเซียน-5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยถึง 4.1% 6.5% และ 5.1% ตามลำดับ สูงกว่าประเทศมหาอำนาจในซีกโลกเหนือทั้งสหรัฐฯ และ EU ที่จะโตเพียง 1.6% และ 1.5% ตามลำดับ รวมถึงเศรษฐกิจจีนก็มีแนวโน้มโตเฉลี่ยเพียง 4.6% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในทศวรรษที่ผ่านมาอยู่มาก ไม่เพียงเท่านี้ การค้าของประเทศซีกโลกใต้ในช่วงปี 2564-2569 ของทั้งอาเซียน เอเชียใต้ และแอฟริกา จะก้าวขึ้นมาเป็น Top3 ของโลกด้วยอัตราขยายตัวที่ 5.6% 5.0% และ 4.4% ตามลำดับ สูงกว่าการค้าของอเมริกาเหนือ จีน และ EU ที่มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยราว 3% เท่านั้น
  2. จาก “Fair Trade สู่ Friend Trade” หมายถึง การค้าโลกที่เคยยึดหลักการความเท่าเทียมจะถูกเปลี่ยนเป็นระบบเพื่อนช่วยเพื่อนมากขึ้น หลังโลกถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว (Decoupling) ด้านหนึ่งนำโดยสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรอย่างยุโรป ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีจีนและรัสเซียเป็นหัวเรือใหญ่ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การตัดสินใจของหลายประเทศอาจใช้เหตุผลทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาสร้างกติกาหรือข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการค้าที่เห็นได้จากตัวอย่างการห้ามบริษัทสหรัฐฯ ขายชิปขั้นสูงให้จีน รวมถึงสหรัฐฯ และ EU ไม่ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่รัสเซียเองก็ขายน้ำมันราคาถูกให้จีนและอินเดีย สถานการณ์ดังกล่าวทำให้การค้าโลกในระยะถัดไปอาจเผชิญกับมาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) และสงครามราคา (Price War) เพิ่มขึ้น
  3. จาก “Global” สู่ “Regional Supply Chain” เราจะเห็นห่วงโซ่อุปทานโลกสั้นลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตที่สะสมมาตั้งแต่วิกฤต COVID-19 สืบเนื่องมาถึงสถานการณ์ Decoupling ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลให้การผลิตของประเทศที่พึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงเกิดภาวะชะงักงันจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ราคาวัตถุดิบแพงขึ้น และการขนส่งติดขัด สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บรรดาผู้ผลิตทั่วโลกพยายามลดหรือตัดทอนกระบวนการผลิตของตนให้สั้นลง โดยเฉพาะการหันมาพึ่งพา Supplier ภายในประเทศและในภูมิภาคเดียวกันมากขึ้น
  4. จาก “Currency War” สู่ “Inflation War” ในอดีตที่หลายประเทศพยายามแข่งขันกันลดค่าเงินเพื่อหวังกระตุ้นการส่งออก แต่ในปัจจุบันมากกว่า 80% ของประเทศทั่วโลกกลับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อหวังให้ค่าเงินของตนแข็งค่ามากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการนำเข้าและบรรเทาให้เงินเฟ้อลดลงในที่สุด อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดังกล่าวกินเวลานานเกินไปจะกดดันกำลังซื้อและเพิ่มความเสี่ยงให้กับการค้าโลกในระยะถัดไปมากขึ้น

สุดท้ายนี้คงต้องยอมรับว่า ปีนี้จะเป็นอีกปีที่ไม่ง่ายสำหรับผู้ประกอบการไทย แต่ผมอยากให้มองวิกฤตเป็นโอกาสดังคำกล่าวของ Winston Churchill อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรที่ว่า “A pessimist sees the difficult in every opportunity; an optimist sees the opportunity in every difficulty. หรือคนมองโลกในแง่ร้ายมักเห็นความยากลำบากในทุกโอกาส แต่คนมองโลกในแง่ดีมักเห็นโอกาสในทุกวิกฤต” โดยเฉพาะหากเราเรียนรู้และเตรียมกลยุทธ์รับมือกับฉากทัศน์ที่เปลี่ยนไปให้พร้อม ยิ่งจะทำให้เราคว้าโอกาสได้ก่อนใคร ผมขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านทุกท่านครับ

Related
more icon
  • คุ้มค่า ทำจริง เห็นผลไว … 3 เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคปีมังกร

    นับถอยหลังอีกไม่กี่วันจะก้าวเข้าสู่ปี 2567 กันแล้วนะครับ ผู้ประกอบการหลายท่านคงเตรียมวางแผนธุรกิจในปีหน้ากันบ้างแล้ว ซึ่งผมมีข้อสังเกตบางประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต่างไปจากเดิมมากบ้างน้อยบ้าง จึงขอมาแชร์มุมมองส...

    calendar icon27.12.2023
  • Transform ธุรกิจท่องเที่ยวไทยสู่หมุดหมายความยั่งยืน

    บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากวิกฤต Climate Change ที่รุนแรง ส่งผลให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ความยั่งยืน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศราว 8-11% ของทั้...

    calendar icon18.11.2023
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview