บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
ชาลส์ ดาร์วิน เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด หรือ ฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอด แต่คนที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหากที่จะอยู่รอด” ท่ามกลางโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอสำหรับการปรับตัวรับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ โดยหนึ่งในความท้าทายสำคัญสำหรับ SMEs ไทย คือ การผันตัวเองไปเป็นผู้ส่งออก ซึ่งไม่เพียงจะช่วยพลิกธุรกิจสู่โอกาสการเติบโต แต่ยังช่วยเติมพลังแห่งอนาคตในการขับเคลื่อนประเทศไทย โดยผมมองว่าจุดเริ่มต้นสำคัญในการก้าวไปเป็นผู้ส่งออก ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยน Mindset จากความกลัวเป็นความกล้าเพื่อก้าวออกจากฝั่งไปตลาดโลก ซึ่งผมอยากมาแชร์แนวทางดังกล่าว ดังนี้
- กับดักความกลัว : SMEs ไทยส่วนใหญ่ยังกอดพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 18 ล้านราย แม้จะเป็นจำนวนมากถึง 99.6% ของผู้ประกอบการทั้งหมด แต่ในบรรดา SMEs 3.18 ล้านราย มี SMEs ที่สามารถผันตัวไปเป็นผู้ส่งออกได้เพียงกว่า 2 หมื่นราย หรือราว 0.7% ของ SMEs ทั้งระบบ ทำให้เกิดคำถามว่าทำไม SMEs ไทยไม่ออกจากฝั่ง ซึ่งผมมองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะกับดักความกลัว ทั้งกลัวว่าเราไม่เก่งพอ กลัวการสื่อสารกับคู่ค้าต่างประเทศ กลัวเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งความกลัวดังกล่าวทำให้ SMEs ส่วนใหญ่เลือกที่จะอยู่ใน Safe Zone ของตนเอง โดยเน้นทำธุรกิจเฉพาะในประเทศเท่านั้น
- ก้าวข้ามความกลัว : พาธุรกิจออกจากฝั่ง ปัจจุบันบริบทของโลกธุรกิจเปลี่ยนไป การทำธุรกิจอยู่ใน Safe Zone ที่พึ่งพาตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียว จะเผชิญข้อจำกัดของตลาดในประเทศที่เป็นตลาดขนาดเล็กและเริ่มอิ่มตัว SMEs จึงต้องปรับแนวคิด แล้วพาธุรกิจออกจากฝั่งต่อยอดสู่การส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสจากตลาดที่ใหญ่ขึ้นและสร้างอนาคตที่มั่นคงจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยการก้าวข้ามความกลัวอาจเริ่มต้นจากการคิดบวกเปลี่ยนมุมมองว่าการไปตลาดต่างประเทศไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน และเสริมความกล้าด้วยการเรียนรู้ทักษะและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์นำมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ ก็จะสามารถพลิกโฉมธุรกิจให้แตกต่างและโดดเด่นได้ นอกจากนี้ การสร้างแรงบันดาลใจเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จจากการศึกษาตัวอย่างธุรกิจหรือบุคคลที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการให้ชัดเจนก็จะเป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้ SMEs กล้าก้าวข้ามความกลัวได้เช่นกัน
- เปลี่ยนเกมประเทศไทย : SMEs ขุมพลังแห่งอนาคตของประเทศ ปัจจุบัน SMEs ไทยมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในมิติ GDP ส่งออก และการจ้างงาน น้อยกว่าหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะในมิติของการส่งออกที่การส่งออกของ SMEs ไทยมีสัดส่วนเพียง 12% ของมูลค่าส่งออกรวม (ไม่นับผู้ประกอบการที่ระบุไซส์ไม่ได้) น้อยกว่า SMEs ของอินโดนีเซียที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 16% และมาเลเซียที่ 18% อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวสะท้อนถึงโอกาสที่จะผลักดันการเพิ่มบทบาทของ SMEs ไทยต่อระบบเศรษฐกิจได้อีกมาก ผมจึงมองว่า SMEs เป็นขุมพลังแห่งอนาคตที่จะมีส่วนช่วยเปลี่ยนเกมประเทศไทยให้สามารถก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางและเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย พร้อมสนับสนุน SMEs เปลี่ยนเกมประเทศไทยผ่าน Total Solutions ที่เริ่มจากการปลดล็อกปัญหาหนี้สินผ่าน “คลินิก EXIM เพื่อคนตัวเล็ก” ไปจนถึงการพัฒนา SMEs ให้แข็งแกร่งขึ้นในทุกมิติ ด้วยการเติมความรู้ในการทำธุรกิจและการส่งออก โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยงและช่วย Training ผู้ประกอบการ SMEs เติมโอกาสจากการสร้างเครือข่ายจับคู่ธุรกิจและเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เติมเงินทุนด้วยการปิดช่องว่างทางการเงินผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ SMEs ที่สนใจเริ่มต้นส่งออก เพื่อให้ SMEs พร้อมก้าวขึ้นไปแข่งขันบนเวทีโลกได้อย่างมั่นคงแข็งแรงและเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน
ที่เกี่ยวข้อง
-
เงินบาทอ่อนค่า…กับเงาสะท้อนในมุมที่แตกต่าง
เงินบาทที่อ่อนค่าแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรืออ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี เมื่อปลายเดือน ก.ย. 2565 กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ถอนคันเร่งอย่างเร็ว...
14.10.2022 -
หมั่นเช็คเทรนด์โลก : ช่องทางหาตลาดของ SMEs
ท่านผู้อ่านครับ กระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันล้วนทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม ทั้งสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงหรือสินค้าสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งผมมองว่าการเปล...
10.04.2018
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา
ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...
26.03.2019