บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

ทำดีได้ดี … Sustainability Linked Loan นวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืน

สถาบันการเงินเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในฐานะที่เป็นแหล่งเงินทุนหลักของระบบเศรษฐกิจ เปรียบเสมือนหัวใจที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงภาคธุรกิจและครัวเรือนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงมีบทบาทสำคัญในการกำกับทิศทางให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการอย่างรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social & Governance : ESG) ผ่านการสนับสนุนทางการเงินอย่างยั่งยืน (Sustainable Finance) หนึ่งในนวัตกรรมทางการเงินที่น่าสนใจและเริ่มถูกนำไปใช้ในวงกว้างมากขึ้น คือ “Sustainability Linked Loan (SLL)” ซึ่งอาจเป็น Game Changer เปลี่ยนโลกธุรกิจให้ก้าวสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

            SLL คือ สินเชื่อประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจหันไปดำเนินกิจการที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยผู้กู้จะได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น หากทำตามเป้าหมายความยั่งยืนได้สำเร็จตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้กับธนาคาร สิทธิประโยชน์มีหลายด้าน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ลดค่าธรรมเนียม หรืออื่นๆ โดยต้องมีการระบุตัวชี้วัด (Key Performance Indicators : KPIs) และค่าเป้าหมาย (Sustainability Performance Targets : SPTs) ที่วัดผลอย่างเป็นรูปธรรมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือธรรมาภิบาล เช่น ปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง ปริมาณการใช้วัตถุดิบจากแหล่งที่ได้มาตรฐานความยั่งยืน การจ้างงานคนท้องถิ่น รวมถึงได้รับการจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัทที่มีความยั่งยืนในระดับสากล เช่น Dow Jones Sustainability Indices ทั้งนี้ การประเมินผลจะดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระภายนอกที่มีมาตรฐานสากล              

            ปัจจุบัน SLL ถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดย BBVA ธนาคารของอิตาลีรายงานเม็ดเงิน SLLจากสถาบันการเงินทั่วโลกในปี 2566 มีมูลค่า 521 พันล้านยูโร (ราว 578 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับ GDP ของไทยที่ราว 515 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ล่าสุดครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่า 296 พันล้านยูโร (ราว 317 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยมีโครงการขนาดใหญ่ เช่น Ford Motor ผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ 16.8 พันล้านยูโร Smurfit Kappa ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ของไอร์แลนด์ 4.6 พันล้านยูโร ทั้งนี้ ข้อมูลของ International Finance Corporation (IFC) ระบุว่าตัวชี้วัด SLL ส่วนใหญ่เป็นด้านสิ่งแวดล้อมและการลดคาร์บอนด้วยสัดส่วนถึง 68% ที่เหลือเป็นด้านสังคม เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ ความปลอดภัยของการทำงาน

            จากที่กล่าวมาข้างต้น สรุปสั้นๆ ได้ว่า SLL เป็นกลไกทางการเงินที่สนับสนุนให้ “คนทำดีต้องได้ดี” ไม่เพียงแค่ผู้กู้จะได้ดี แต่ภาคส่วนอื่นๆ ก็ได้ดีด้วยเช่นกัน เช่น

  • ดอกเบี้ยดี ผู้กู้ที่ปฏิบัติตามตัวชี้วัดความยั่งยืนได้สำเร็จจะได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เช่น CIMB Singapore พัฒนาโปรแกรม SME Sustainability Linked Loan/Financing Program โดยกำหนดให้ SMEs ที่บรรลุค่าเป้าหมาย SPTs ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดจะได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2% ในปีแรก และลดเพิ่ม 0.4% ในปีถัดไป
  • ขีดความสามารถทางธุรกิจดี ในอีกทางหนึ่ง SLL ช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับมือกับ Climate Change Risk โดยเฉพาะในมุมของการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรการด้านความยั่งยืน รวมถึงดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุน สอดคล้องกับการประเมินของ PWC ว่านักลงทุนสถาบันทั่วโลกจะลงทุนในสินทรัพย์/บริษัทที่มี ESG เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9% (ปี 2564-2569) ตลอดจนตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ยึดถือความยั่งยืนเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ
  • เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมดี SLL เป็นกลไกที่ช่วยเปลี่ยนให้ภาคธุรกิจปรับโมเดลการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำ กระตุ้นให้เกิดการจ้างงานแก่คนท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เช่น COELBA บริษัทพลังงานของบราซิลได้รับสินเชื่อ SLL จาก IFC ภายใต้เงื่อนไขเพิ่มสัดส่วนช่างไฟฟ้าผู้หญิงเป็น 7% ในปี 2569 จาก 0.8% ในปัจจุบัน

            สำหรับสถาบันการเงินไทยพบว่าตื่นตัวไม่แพ้กัน โดยมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งให้สินเชื่อในรูปแบบ SLL ไปแล้ว ขณะที่ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ EXIM BANK ธนาคารอันดับต้นๆ ในการสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคธุรกิจผ่าน SLL ในหลายโครงการและหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ที่มุ่งใช้วัตถุดิบจากการประมงที่ยั่งยืน หรือธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตั้งเป้าลดปริมาณคาร์บอนลง นอกเหนือจาก SLL ที่ผ่านมา EXIM BANK ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนอีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Green Bond บัตรเงินฝากสีเขียว (Green Certificate of Deposit) และ Blue Bond

                        นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้เห็นสถาบันการเงินต่างมุ่งเดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง อันจะช่วยกระตุ้นให้ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ สังคม และประชาชนก้าวผ่านไปสู่เศรษฐกิจแห่งความยั่งยืนและร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมไปพร้อมกัน มาช่วยกันทำดีด้วยกันนะครับ

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง

    ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...

    calendar icon22.01.2019
  • การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ

    ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...

    calendar icon18.09.2018
  • ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา

    ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...

    calendar icon26.03.2019
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview