ข่าวเศรษฐกิจประเทศเป้าหมาย

สมาคมผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินไทยเปิดเผยว่า การส่งออกเครื่องประดับเงินของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2567 เติบโตเกือบทุกตลาด เช่น สหรัฐฯ ขยายตัว 18% เยอรมนี 22% อินเดีย  192% และสหราชอาณาจักร 7% พร้อมมองว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังจะขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การส่งออกเครื่องประดับเงินทั้งปี 2567 มีโอกาสขยายตัว 10% หรือมีมูลค่าเฉลี่ย 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การที่ราคาวัตถุดิบเครื่องประดับเงินในปี 2567 โดยเฉพาะโลหะ ซึ่งเป็น1 ใน 3 ของต้นทุนการผลิตสินค้า คาดว่าจะขึ้นมาอยู่ที่ออนซ์ละ 22-23 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 19-20 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยท้าทายการส่งออก  ทั้งนี้ สมาคมฯ วิเคราะห์ว่าการที่ตลาดอินเดียเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคอินเดียเริ่มหันมาซื้อเครื่องประดับเงิน เพื่อทดแทนเครื่องประดับทองที่มีราคาแพง ใช้ในงานสำคัญๆ มากขึ้น เช่น การแต่งงาน นอกจากนี้ ผู้บริโภคอินเดียนิยมใช้เครื่องเงินที่เป็นข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน จึงมีผลต่อความต้องการสินค้าเครื่องประดับเงิน อีกทั้งการค้า-การส่งออกยังมีความคล่องตัว สำหรับข้อกังวลว่าการเติบโตดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการไทยหรือนักลงทุนอินเดียนั้น สมาคมฯ ยังไม่เห็นภาพนักลงทุนต่างชาติในไทยที่เข้าลงทุนผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ (ประชาชาติธุรกิจ, 18-21 ก.ค. 2567) 

19.07.2024

บริษัท เอ็นซี โค่โค่นัท จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปมะพร้าวน้ำหอมแท้แบรนด์ NC Coconut เปิดเผยว่า ขณะนี้ตลาดมะพร้าวทั้งแบบผลสดทั้งผลและน้ำมะพร้าวได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักที่ไทยส่งออกมะพร้าวน้ำหอมไปมากกว่า 60% ของผลผลิตทั้งหมด โดยมีการนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่มบรรจุขวด คิดเป็นมูลค่าถึงปีละ 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ล่าสุดพบว่าเวียดนามกำลังเริ่มส่งออกน้ำมะพร้าวเข้าไปแข่งขันในตลาดจีนเช่นเดียวกับทุเรียน ดังนั้น หากผู้ส่งออกมะพร้าวของไทยไม่รักษาคุณภาพอาจจะถูกเวียดนามแย่งตลาดได้ สำหรับภาพรวมของบริษัทฯ ในปี 2567 พบว่ายอดจำหน่ายช่วงไตรมาส 2 ลดลงถึง 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลผลิตมะพร้าวลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติช่วงไตรมาส 3-4 (ประชาชาติธุรกิจ, 18-21 ก.ค. 2567) 

19.07.2024

บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ FPI ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตจากพลาสติก เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดปี 2566 ว่าบริษัทฯ มีรายได้รวม 2,513 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 374 ล้านบาท โดยได้รับผลดีจากการขยายตลาดไปแอฟริกา อเมริกาใต้ และทวีปยุโรป รวมทั้งได้รับผลดีจากการที่บริษัทลูกในอินเดียมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมี MSIL เป็นลูกค้ารายสำคัญ และได้รับคำสั่งซื้อจาก Toyota Kirloskar Motor ในอินเดีย ทำให้มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น  สำหรับปี 2567 บริษัทฯ ประเมินว่าอุตสาหกรรมรถยนต์จะขยายตัว 3% เป็น 1.95 ล้านคัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นแตะ 3,000 ล้านบาท และตั้งงบลงทุน 600 ล้านบาท โดยจะใช้เงินลงทุนราว 200-300 ล้านบาทในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดอันดับ 1 ของบริษัทฯ ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และศูนย์กระจายสินค้า เพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งออก (Export Hub) รองรับตลาดตะวันออกกลาง และจะลงทุนในอินเดียราว 100 ล้านบาท สำหรับการลงทุนโรงงานแม่พิมพ์ แม่พิมพ์ และเครื่องจักร ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะใช้ลงทุนขยายโรงงานแม่พิมพ์ และสร้างสำนักงานใหม่ในไทย นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมลงทุน (JV) กับพันธมิตรธุรกิจแม่พิมพ์ในอินเดียและจีน เพื่อก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่เพื่อต่อยอดไปสู่ฐานการผลิตในเม็กซิโก เพื่อบุกตลาดทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นฐานสำคัญในการทำตลาดในสหรัฐฯ และแคนาดา โดยเฉพาะสินค้าประเภทแม่พิมพ์ (https://mgronline.com, 7 มี.ค 2567)  

12.03.2024

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่า รัฐบาลอินเดียได้ขอให้รัฐบาลไทยขยายเวลาการยกเว้นการยื่นวีซ่าที่จะสิ้นสุดในวันที่ 10 พ.ค. 2567 ออกไปอีก 2 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ซึ่งกระทรวงฯ จะรับข้อเสนอดังกล่าว เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังให้ข้อมูลว่า นายกรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังมีนโยบายให้เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้สูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในปีนี้ที่ 35 ล้านคน เป็น 40 ล้านคน เพื่อเพิ่มรายได้รวมจากการท่องเที่ยวจากเป้าเดิมที่วางไว้ 3 ล้านล้านบาท เป็น 3.5 ล้านล้านบาท  โดยนักท่องเที่ยวอินเดียเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนในปี 2567 ให้ได้ 2 ล้านคน จากเดิมที่วางไว้ 1.75 ล้านคน (เดลินิวส์, 23 ก.พ. 2567) 

05.03.2024

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าในเดือน ม.ค. 2567 การผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทมีจำนวนรวม 1.4 แสนคัน ลดลง 12.5% (y-o-y) เนื่องจากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลงถึง 33.6% โดยเฉพาะการผลิตรถกระบะเพื่อจำหน่ายในประเทศที่ลดลงถึง 50.9% ตามยอดจำหน่ายที่ลดลงจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินเพราะหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์เดือน ม.ค. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 5.5 หมื่นคัน ลดลง 16.4% (y-o-y) จากยอดจำหน่ายรถกระบะที่ลดลงถึง 43.5% เหลือ 1.5 หมื่นคัน รถ PPV (Pick-up Passenger Vehicle) ลดลง 43.7% เพราะยังไม่มีรุ่นใหม่ออกมา ประกอบกับมีรถ SUV (Sport Utility Vehicle) แบบ Hybrid ออกใหม่ในราคาจับต้องได้มาแย่งส่วนแบ่งตลาดไป และรถบรรทุกลดลง 32.0% จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า  ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน ม.ค. 2567 ลดลง 0.1% (y-o-y) เหลือ 8.7 หมื่นคัน เพราะส่งออกได้เพียง 91.2% ของยอดผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจากเรือมีพื้นที่ไม่เพียงพอจึงส่งออกลดลงในตลาดเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาเหนือ ทั้งนี้ ส.อ.ท. ยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2567 เพิ่มขึ้น 3.2% เป็น 1.9 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อการส่งออก 1.15 ล้านคัน ลดลง 0.5% และการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ 7.5 แสนคัน เพิ่มขึ้น 9.4% เพราะคาดหวังจากงบประมาณปี 2567 ที่จะออกมาและคาดว่ายอดจำหน่ายรถบรรทุกจะกลับมาดีในช่วงนี้ (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 23 ก.พ. 2567) 

23.02.2024

กรมการขนส่งทางราง (ขร.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ว่าปัจจุบันการออกแบบงานโยธาในส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356.01 กิโลเมตร เสร็จเรียบร้อย อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ล่าสุดคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) อนุมัติต่อไป และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการได้ในปี 2567  ส่วนการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย-สปป.ลาว ที่จะมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์) แห่งที่ 2 ซึ่งจะเป็นสะพานรองรับรถไฟ ประกอบด้วย ขนาดทาง 1 เมตร เชื่อมจากสถานีหนองคาย-ท่านาแล้ง และรางรถไฟขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) จากสถานีหนองคาย-เวียงจันทน์ รวมทั้งปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์อย่างเดียว ดำเนินการปี 2565-2572 และอนาคตจะก่อสร้างสะพานใหม่รองรับรถยนต์ขนาด 2 ช่องจราจรนั้น ที่ผ่านมากรมทางหลวง (ทล.) ได้ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม เบื้องต้นไว้แล้ว โดยจะเป็นการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ข้ามแม่น้ำโขง ห่างจากสะพานเดิมไปทางด้านขวาราว 30 เมตร แต่เนื่องจาก สปป.ลาว มีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลใหม่ จึงต้องประสานข้อมูลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง (ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, 20 ก.พ. 2567)  

21.02.2024

รัฐบาลอินโดนีเซียเตรียมให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพื่อจูงใจให้ลงทุนสร้างโรงงานผลิต EV ในอินโดนีเซีย เพื่อให้ความสามารถในการแข่งขันของอินโดนีเซียทัดเทียมกับไทย เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับ EV ทั้งนี้ ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นที่ตั้งของโรงงาน EV ของบริษัทผลิตยานยนต์ต่างชาติ 4 แห่ง ได้แก่ Wuling, DFSK, Hyundai และ Chery แต่กำลังการผลิตยังค่อนข้างต่ำที่ระดับน้อยกว่าปีละ 1 แสนคัน อนึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียตั้งเป้าจำหน่าย EV 4 แสนคันในปี 2568 และ 6 แสนคันในปี 2573   ด้าน VinFast ผู้ผลิต EV ของเวียดนามลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับตัวแทนจำหน่าย 5 รายแรกในอินโดนีเซียเพื่อขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายในอินโดนีเซีย โดยตั้งเป้าขยายการจำหน่าย EV ในเมืองใหญ่ๆ ทั่วอินโดนีเซียในปี 2567 และมีแผนจะสร้างโรงงานผลิต EV ในอินโดนีเซีย คาดว่าจะมีกำลังการผลิตปีละ 5 หมื่นคัน (thaipublica.org, 18 ก.พ. 2567)  

20.02.2024

เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยว่า ขณะนี้การเจรจาเพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีการค้าของ WTO ครั้งที่ 13 (MC13) ระหว่างวันที่ 26-29 ก.พ. 2567 ได้เข้มข้นขึ้น จนสามารถมีร่างปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี (Abu Dhabi Ministerial Declaration) ออกมาเป็นกรอบแล้ว พร้อมกับร่างความตกลงอีก 2 เรื่องสำคัญ คือ ความตกลงเรื่องเกษตร และความตกลงเรื่องการอุดหนุนประมงภาคสอง   สำหรับท่าทีของไทยจะให้ความสำคัญกับการเจรจาภาคเกษตรและอาหาร และการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมงเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานะการแข่งขันของสินค้าเกษตรภายนอกประเทศยังรุนแรงมาก โดยหลายประเทศมีนโยบายอุดหนุนและการสำรองอาหารไว้มากเกินความจำเป็น รวมถึงการออกมาตรการห้ามส่งออกของคู่ค้าสำคัญส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกผันผวน ทำให้ยากต่อการเตรียมการผลิตในปีต่อไป โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรขนาดใหญ่อย่างอินเดีย ที่ประกาศห้ามส่งออกข้าวบางประเภท แต่กลับยอมให้ประเทศคู่ค้ามาขอเจรจายกเว้นเป็นประเทศๆ ไป และไม่แจ้งมาตรการต่อ WTO ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียลูกค้าเดิมไปบางส่วน รวมทั้งไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาการใช้มาตรการ และมีแนวโน้มที่อินเดียจะใช้วิธีการนี้มากขึ้น ไทยจึงต้องติดตามการเจรจาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เสียประโยชน์ในการส่งออกข้าวและสินค้าเกษตรอื่น รวมทั้งเพื่อรักษาตลาดส่งออกของไทยผ่านการเจรจาสร้างกฎเกณฑ์พหุภาคีที่เป็นธรรมมากที่สุด (กรุงเทพธุรกิจ, 16 ก.พ. 2567) 

20.02.2024

กระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างยกร่างแผนพลังงานชาติ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยที่คาดว่าจะเปิดประชาพิจารณ์ได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2567 หรือต้นเดือน มี.ค. 2567 ซึ่งเบื้องต้นจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้มากขึ้นถึง 70% และปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติออกไป รวมทั้งมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในตัวเลือกของ 7-8 สมมติฐาน เช่น ค่าไฟฟ้าแพง ราคาก๊าซฯ ลดลง และใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำไปทำประชาพิจารณ์สาธารณะ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน นอกจากนี้ ประเด็นการเจรจาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Areas : OCA) หากได้ข้อสรุปเร็วจะเป็นอีกความหวังที่จะช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ (กรุงเทพธุรกิจ, 15 ก.พ. 2567) 

20.02.2024
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview