เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ (Discontinued)
วิกฤต COVID-19 ถือเป็นตัวเร่งให้ตลาด Fintech (Financial Technology) ทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่คุ้นเคยกับการใช้เงินสดเป็นหลักอย่างเวียดนาม ส่งผลให้มีผู้เล่นจากทั้งในและนอกประเทศเข้ามาลงทุนเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจ Fintech ในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในธุรกิจ Digital Payment จนทำให้มูลค่าธุรกรรมในตลาด Fintech ของเวียดนามเติบโตก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละกว่า 20% (ปี 2560-2564) อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันตลาด Fintech ของเวียดนามยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อีกทั้งยังตามหลังประเทศในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ในด้านจำนวนบริษัท Fintech ที่น้อยกว่า แต่ที่ผ่านมาตลาด Fintech ของเวียดนามก็มีพัฒนาการที่โดดเด่นและเติบโตอย่างรวดเร็วจากปัจจัยสนับสนุนในหลากหลายมิติ จนหลายฝ่ายมองว่ามีโอกาสขึ้นแท่นเป็นตลาด Fintech ชั้นนำของอาเซียนในระยะข้างหน้า ตลาด Fintech ของเวียดนามจึงเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามในปัจจุบัน
ภาพรวมตลาด Fintech เวียดนาม
- จำนวนผู้เล่นในตลาด Fintech : บริษัท Fintech ที่เปิดดำเนินการในเวียดนามมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา จาก 39 บริษัทในปี 2558 เป็น 188 บริษัท ณ เดือนกันยายน 2564 เทียบกับสิงคโปร์ที่มีบริษัท Fintech จำนวน 1,350 บริษัท อินโดนีเซีย 785 บริษัท มาเลเซีย 549 บริษัท ไทย 268 บริษัท และฟิลิปปินส์ 268 บริษัท
-
ธุรกิจ Fintech ที่เป็นที่นิยม : ปัจจุบันธุรกิจ Fintech เข้ามามีบทบาทในสังคมและเศรษฐกิจเวียดนามเป็นอย่างมาก ซึ่งครอบคลุมการให้บริการที่หลากหลาย แต่ธุรกิจที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ E-wallet & Digital Payment สัดส่วน 31% ของส่วนแบ่งตลาด Fintech ทั้งหมดของเวียดนาม รองลงมา ได้แก่ สินเชื่อออนไลน์ (P2P Lending) 17% ธุรกิจ Blockchian/ Cryptocurrency 13% ระบบบริการจัดการหน้าร้าน (POS) 7.5% และธุรกิจ Wealth Management 7.5%
-
สถานการณ์ตลาด Fintech : ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัท Fintech ในเวียดนามมีการระดมทุนได้ทั้งหมด 15 ดีล คิดเป็นมูลค่า 355 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย โดยดีลที่มีมูลค่าระดมทุนสูงสุด คือ บริษัท VNPay แพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์รายใหญ่ของเวียดนาม ซึ่งระดมทุนได้ราว 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการระดมทุนรอบ Series B* จาก Venture Capital รายใหญ่จากสหรัฐฯ อย่าง General Atlantic และ Dragoneer Investment Group ร่วมกับ Venture Capital รายอื่นๆ จากสิงคโปร์และญี่ปุ่น
หมายเหตุ : *การระดมทุนรอบ Series B หมายถึง การระดมทุนหลังจากธุรกิจเปิดตัวผลิตภัณฑ์และเริ่มสร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง จึงต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขยับจากช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปสู่ช่วงของการขยายธุรกิจและฐานลูกค้า จึงนับเป็นรอบการระดมทุนที่ท้าทายกว่ารอบ Series A เนื่องจากบริษัทต้องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจหลังได้รับเงินทุน
ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ Fintech ในเวียดนาม
ตลาด Fintech ของเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า สอดคล้องกับข้อมูลของ Statista ซึ่งระบุว่าจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 15% ในปี 2564-2568 และมูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.63 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 ขณะที่นักลงทุนต่างชาติก็มีความเชื่อมั่นที่จะป้อนเม็ดเงินลงทุนเพื่อสนับสนุน Fintech Startup ในเวียดนาม รวมถึงการเข้ามาลงทุนเอง โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ดังนี้
เวียดนามเป็นประเทศ Rising Star ที่โดดเด่นจาก เศรษฐกิจที่เติบโตสูงและตลาดขนาดใหญ่
- เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย โดย IMF คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 8% ในช่วง 5 ปีข้าง หน้า ขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน และคาดว่าจะมีสัดส่วนราว 20% ของ GDP เวียดนามภายในปี 2568 ซึ่งจะสร้างโอกาสอย่างมากให้กับหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ Fintech ในเวียดนาม
- เวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน โดยเกือบ 70% เป็นประชากรวัยหนุ่มสาว ซึ่งส่วนใหญ่มีทักษะและความเข้าใจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยมาเป็น Digital Payment มากขึ้น
ประชากรส่วนใหญ่ยังเป็น Unbanked Population แต่ใช้ Mobile Internet ในระดับสูง
- เวียดนามเป็นประเทศที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงบริการธนาคาร (Unbanked Population) เกือบ 70% ของประชากรทั้งหมด และชาวเวียดนามที่มีเครดิตการ์ดมีเพียง 4% ขณะที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือสูงถึง 5% ของประชากรทั้งหมด
- ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายผ่าน Digital Payment ในเวียดนามยังเติบโตได้อีกมาก เนื่องจาก Digital Payment จะตอบโจทย์และแก้ Pain Point ของกลุ่ม Unbanked Population ได้อย่างตรงจุด สะท้อนได้จากจำนวนผู้ใช้บริการ Digital Payment ในเวียดนามคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากราว 50 ล้านคนในปี 2564 เป็น 70 ล้านคนในปี 2568 นอกจากนี้ สัดส่วน Unbanked Population ที่อยู่ในระดับสูงยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจ Fintech ในเวียดนาม
ภาครัฐให้การสนับสนุนการพัฒนา Fintech อย่างจริงจัง
- รัฐบาลเวียดนามได้ก่อตั้ง National Agency for Technology, Entrepreneurship and Commercialization Development (NATEC) ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เพื่อให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านการเงินแก่ Fintech Startup ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ในประเทศ นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนรายใหม่
- ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เตรียมจัดตั้ง Fintech Sandbox ในภาคธนาคารของเวียดนาม ซึ่งจะเอื้อให้การพัฒนา Fintech ในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้ SBV สามารถควบคุมเสถียรภาพและความเสี่ยงที่เกิดจากการพัฒนา Fintech ได้ดียิ่งขึ้น
บริษัท Fintech รายสำคัญในเวียดนาม
ปัจจุบันการแข่งขันในตลาด Fintech ของเวียดนามค่อนข้างรุนแรงจากผู้เล่นทั้งในและนอกประเทศ โดยมีผู้เล่นรายสำคัญ ดังนี้
- ธุรกิจ E-wallet & Digital Payment ปัจจุบันผู้ให้บริการ E-wallet และ Digital Payment ในเวียดนามมีมากกว่า 30 ราย แต่ส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมดครอบครองโดยผู้ให้บริการไม่กี่ราย อาทิ MOMO, Zalo Pay, AirPay, MOCA, VNPAY และ Payoo เป็นต้น
MoMo เป็นผู้ให้บริการ E-wallet รายใหญ่ที่สุดและประสบความสำเร็จมากที่สุดในเวียดนาม โดยเริ่มให้บริการในปี 2556 ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% มียอดผู้ใช้บริการกว่า 25 ล้านคน และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 50 ล้านคนในอีก 2 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะก้าวสู่การเป็นแอปพลิเคชันที่ครอบคลุมทุกบริการแบบครบวงจร หรือ Super App รวมถึงการเตรียมเสนอขายหุ้น IPO ภายในปี 2568 ล่าสุด MoMo ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท Startup ด้าน AI เพื่อต่อยอดในการพัฒนาบริการและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้บริการ
- ธุรกิจสินเชื่อออนไลน์ (P2P Lending) ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นเจาะตลาดลูกค้า SMEs อาทิ tima, VAY MUON และ LENDBIZ เป็นต้น
- ธุรกิจ Blockchian/Cryptocurrency เป็นกลุ่มธุรกิจที่กำลังมาแรงและเติบโตอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม อาทิ Tomo Chain และ Kyber Network เป็นต้น
โอกาสขยายธุรกิจของผู้ประกอบการไทย
ตลาด Fintech ในเวียดนามที่มีพัฒนาการดีขึ้นเป็นลำดับจะมีบทบาทสำคัญในภาคการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งถือเป็นแรงหนุนในการขยายตัวของเศรษฐกิจเวียดนามทั้งด้านการบริโภค การค้า และการลงทุน ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพดังกล่าวจึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนและขยายธุรกิจไปเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของ Venture Capital ในการเข้าร่วมลงทุนกับ Fintech Startup ในเวียดนาม รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่เป็น Fintech Startup ในการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายตลาดลูกค้าในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในตลาด Fintech ของเวียดนาม จำเป็นต้องทำความเข้าใจกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน รวมถึงข้อจำกัดและข้อห้ามต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การเข้าไปลงทุนในเวียดนามดำเนินไปอย่างราบรื่น
ที่เกี่ยวข้อง
-
ทิศทาง Green Policy ของเวียดนาม… โอกาสและความท้าทายของธุรกิจไทย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นจนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่เข้าขั้นวิกฤต เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ประชาคมโลกกำลังเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่เว้นแม้แต่เวียดนามที่ตั้งเป้าการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emiss...
31.05.2022 -
ข้อกำหนดฉบับใหม่ในการพัฒนาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของเวียดนาม
เวียดนามจัดเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนโดดเด่นที่สุดในอาเซียน จากการที่รัฐบาลเวียดนามวางยุทธศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนภายใต้แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 7 ฉบับปรับปรุง ปี 2559-2563 และวิสัยทัศน์สู่ปี 25...
29.05.2020
-
Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว
การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...
01.04.2019 -
เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว
เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...
01.07.2019 -
ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้ฉบับใหม่ของ สปป.ลาว
ในช่วงที่ผ่านมา สปป.ลาว ทยอยปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ที่มีการปรับปรุงและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กุม...
31.03.2020