Hot Issues

สถานการณ์เศรษฐกิจ EU...ฟื้นตัวดีท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง

ประเด็นสำคัญ

  • เศรษฐกิจ EU ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปส่งสัญญาณไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • แม้เศรษฐกิจ EU กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่
  • ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 การส่งออกของไทยไป EU ได้อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจ EU ฟื้นตัวได้เร็วจากวิกฤต COVID-19 ทำให้ความต้องการที่อั้นมาจากช่วงก่อนหน้า หรือ Pent-up Demand กลับมาอย่างรวดเร็ว

สถานการณ์เศรษฐกิจ EU : เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว สะท้อนพื้นฐานที่ยังแข็งแกร่ง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

  • เศรษฐกิจ EU ยังมีโมเมนตัมของการขยายตัวต่อเนื่อง ข้อมูลจาก Eurostat ระบุว่าเศรษฐกิจ EU ไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายตัว 1% (Q-o-Q) เทียบกับที่ขยายตัว 2% ในไตรมาส 2 โดยเศรษฐกิจ EU ที่ปรับตัวดีขึ้นได้อานิสงส์จากการเร่งฉีดวัคซีนที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจใน EU เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. 2564 เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นับเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7
  • ECB ส่งสัญญาณยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยที่ประชุม ECB ล่าสุดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0% พร้อมคงการเข้าซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Program (PEPP) วงเงินรวม 85 ล้านล้านยูโรจนถึงเดือน มี.ค. 2565 ตามเดิม แม้อัตราเงินเฟ้อของ EU เร่งตัวขึ้นจาก 3.2% ในเดือน ส.ค. 2564 มาอยู่ที่ 3.6% ในเดือน ก.ย. 2564 เนื่องจาก ECB มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นและปัญหาจากการขนส่งที่หยุดชะงักในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดรุนแรง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง (Medium Term) จะอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% จึงคาดว่า ECB จะยังไม่เร่งปรับทิศทางของนโยบายการเงิน โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อไปในปี 2565 ขณะที่ผลสำรวจของ Reuters คาดว่า ECB จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงปี 2567

ความคิดเห็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ

  • เศรษฐกิจ EU ฟื้นตัวจากวิกฤต COVID-19 เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความสำเร็จในการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันกว่า 77% ของประชากรผู้ใหญ่ใน EU ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ส่งผลให้มีการเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ได้ค่อนข้างเร็ว และเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าต่อได้ ประกอบกับเศรษฐกิจ EU ได้แรงหนุนจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในลักษณะการจัดตั้งกองทุน โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ EU Recovery Fund วงเงิน 5 แสนล้านยูโร (ราว 5.4% ของ GDP) เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งนี้ ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission : EC) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจ EU ปี 2564 เป็นขยายตัว 5% จากคาดการณ์เดิมเมื่อเดือน พ.ค. ที่ขยายตัว 4.8% นับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2564 ที่ระดับ 2.6% ก่อนจะปรับลดลงสู่ระดับ 2.5% ในปี 2565 และ 1.6% ในปี 2566 ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองด้านอัตราเงินเฟ้อของ ECB
  • เศรษฐกิจ EU ปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3% จากหลายปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะการเร่งใช้จ่ายภาครัฐเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วง Post COVID-19 ตลอดจนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยผลักดันการลงทุนให้ขยายตัว นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองของเยอรมนี (ประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของ EU) ที่มีความชัดเจนมากขึ้นหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เป็นผลสำเร็จตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จะส่งผลบวกต่อทิศทางนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายสาธารณสุขและนโยบายเศรษฐกิจ และผลักดันให้เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัวดีขึ้น

  • แม้เศรษฐกิจ EU มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า

       -สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ มียุโรปเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดอีกครั้ง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในบางประเทศ อาทิ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด

      - หลายประเทศเกิดการชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการดำเนินมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ รวมถึงการบังคับใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดและการจำกัดสิทธิ์ต่างๆ ของผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในออสเตรีย ซึ่งประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นเวลา 20 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 2564 และมีแผนที่จะกำหนดให้การฉีดวัคซีนเป็นข้อบังคับทางกฎหมาย ทำให้ชาวออสเตรียจำนวนมากไม่พอใจและออกมาชุมนุมประท้วงคัดค้านการล็อกดาวน์และการจำกัดสิทธิ์

       - อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญใน EU โดยเฉพาะเยอรมนี และมีการจ้างงานสูงถึงเกือบ 1 ล้านตำแหน่ง ประสบปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ หรือชิป (Chip) จนโรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งใน EU ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ EU อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากการที่รัฐบาลเยอรมนีได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 จากขยายตัว 5% เหลือ 2.6% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาขาดแคลนชิปดังกล่าว ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวยังยืดเยื้อต่อไปจะถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ EU ในปี 2565