Hot Issues

มองผลกระทบหลังรัสเซียเปลี่ยนกลไกการชำระเงินค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล

ประเด็นสำคัญ

  • รัสเซียออกกฎหมายให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตร โดยเฉพาะ EU ต้องจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล โดยบังคับให้ผู้ซื้อต้องเปิดบัญชีพิเศษสำหรับการทำธุรกรรมจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะ
  • ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้เงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและเป็นการผลักภาระต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนไปที่ประเทศผู้ซื้อ ประกอบกับช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก
  • ขณะที่แม้ EU จะคัดค้านการจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล แต่สุดท้ายอาจต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เนื่องจากการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น
  • เงินรูเบิลและเงินหยวนจะทวีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดการเงินโลก
  • ผู้ประกอบการไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากไทยไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตรและไทยไม่มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะต้องเผชิญผลกระทบทางอ้อมผ่านต้นทุนพลังงานและสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้น

รัสเซียเปลี่ยนกลไกการจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย ลงนามในกฎหมาย (Presidential Decree) ที่บังคับให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับรัสเซีย (48 ประเทศ รวมถึงประเทศใน EU ทั้งหมด) ต้องจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 ซึ่งหากประเทศใดไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ก็จะถือเป็นการละเมิดสัญญาและรัสเซียจะหยุดจ่ายก๊าซทันที ทั้งนี้ ปัจจุบันรัสเซียยังไม่ตัดการส่งก๊าซธรรมชาติไป EU เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดการชำระเงินรอบใหม่ซึ่งคาดว่าส่วนใหญ่จะครบกำหนดจ่ายในช่วงกลางเดือน เม.ย. ถึงต้นเดือน พ.ค. 2565

สัดส่วนการใช้สกุลเงินต่างประเทศจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

เปรียบเทียบกลไกการจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติแบบเดิมและแบบใหม่

กลไกการชำระเงินแบบใหม่ตามที่ระบุไว้ในประกาศ Presidential Decree จะเป็นเงื่อนไขให้ผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียต้องเปิดบัญชีพิเศษกับธนาคาร Gazprombank ในรัสเซีย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมรับชำระและจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติผ่านบัญชีพิเศษ ซึ่งเรียกว่า Special K type accounts โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย คือ Special K type currency accounts (บัญชีสกุลเงินต่างประเทศ) และ Special K type ruble accounts (บัญชีสกุลเงินรูเบิล) ซึ่งมีรายละเอียดของวิธีการชำระเงินพอสังเขป ดังนี้

หมายเหตุ : Gazprombank (ธนาคารรายใหญ่อันดับ 3 ของรัสเซียจากขนาดสินทรัพย์) เป็นบริษัทลูกของ Gazprom รัฐวิสาหกิจพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย โดยจะเป็นสถาบันการเงินหลักในการบริหารจัดการการชำระค่าก๊าซธรรมชาติภายใต้กลไกใหม่ ซึ่งต่างจากกลไกเดิมที่ผู้ซื้อจะชำระผ่านระบบ SWIFT ไปยังบัญชีธนาคารที่ Gazprom เปิดไว้กับธนาคารในยุโรป ก่อนจะโอนเป็นสกุลเงินรูเบิลมายังธนาคารในรัสเซีย

ผลกระทบในมิติต่างๆ

  • ผลกระทบต่อรัสเซีย
    • ลดความผันผวนของค่าเงินและเงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา เงินรูเบิลเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เคยอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราว 150 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 หรืออ่อนค่าลงกว่า 40% จากช่วงก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน ซึ่งเป็นผลจากการที่ชาติตะวันตกประกาศมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียและการตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 เงินรูเบิลแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากเทียบกับช่วงก่อนที่รัสเซียจะเปิดฉากบุกยูเครน เงินรูเบิลอ่อนค่าเพียง 7% เท่านั้น ทั้งนี้ เงินรูเบิลที่แข็งค่าขึ้นสะท้อนการประกาศเปลี่ยนกลไกการชำระเงินดังกล่าวเป็นการสร้างความมั่นใจต่อตลาดถึงความต้องการใช้เงินรูเบิลที่จะเพิ่มขึ้น
    • ผลักภาระต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยนไปที่ประเทศผู้ซื้อ การจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิลจะทำให้รัสเซียไม่ต้องรับภาระด้านอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต เนื่องจากสามารถผลักภาระความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนของค่าเงินไปที่ประเทศผู้ซื้อ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตรัสเซียอาจใช้วิธีการชำระเงินรูปแบบนี้ขยายไปยังสินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ อาทิ ปุ๋ย น้ำมันดิบ และเหล็ก ซึ่งรัสเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าดังกล่าว Top 5 ของโลก จึงสามารถใช้ประโยชน์จากการผูกขาดในวัตถุดิบที่จำเป็นในกระบวนการผลิตของหลายประเทศทั่วโลก
    • บรรเทาผลกระทบจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก เงินรูเบิลที่แข็งค่าขึ้นสะท้อนประสิทธิภาพของมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการ Capital Control และ Exchange Control รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 20% ตลอดจนการบังคับให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตรจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล ที่รัสเซียใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม ชาติตะวันตกยังมีแนวโน้มใช้มาตรการลงโทษชุดใหม่เพิ่มเติม จึงยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
  • ผลกระทบต่อ EU
    • แม้ EU จะคัดค้านการจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติในสกุลเงินรูเบิล แต่สุดท้ายก็อาจต้องยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว เนื่องจาก EU พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียราว 155 พันล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 45% ของปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมด จึงอาจกล่าวได้ว่ารัสเซียถือไพ่ที่เหนือกว่า เนื่องจากการระงับการส่งก๊าซธรรมชาติจะส่งผลกระทบต่อทั้งภาคครัวเรือนและภาคการผลิตของ EU โดยล่าสุดสโลวาเกีย ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในระดับสูง ประกาศยอมรับการจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล นับเป็นประเทศแรกใน EU ที่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

    • การลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น เนื่องจาก EU พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสูงถึง 155 พันล้านลูกบาศก์เมตร (สูงกว่าปริมาณส่งออกก๊าซธรรมชาติทั้งหมดของสหรัฐฯ ที่เป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับ 2 ของโลก) ทำให้ในระยะสั้น EU ยังหาพลังงานจากแหล่งอื่นๆ มาทดแทนก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียได้ยากมาก ประกอบกับ EU ยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ก่อนปรับใช้พลังงานจากแหล่งอื่น อาทิ ประเทศทางตะวันออกกลาง จึงทำให้บางประเทศใน EU ยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียต่อไป อย่างไรก็ตาม ในระยะกลาง-ยาว EU มีนโยบายลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานฟอสซิลภายใต้แผน REPowerEU ซึ่งมีเป้าหมายหลักในการเลิกการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียอย่างสิ้นเชิงภายในปี 2573
  • ผลกระทบต่อภาคการเงินโลก

เงินรูเบิลและเงินหยวนจะทวีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดการเงินโลก

    • ความต้องการใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น (Transaction-based Demand) การกำหนดเงื่อนไขให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตรจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิลจะทำให้เงินรูเบิลถูกใช้เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเงินหยวนที่ถือเป็นสกุลเงินทางเลือกสำหรับบางประเทศที่ต้องทำการค้ากับรัสเซียและต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากมาตรการลงโทษของสหรัฐฯ และ EU ดังนั้น คาดว่าการใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์สงครามในปัจจุบัน
    • ความต้องการใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น (Stability-based Demand) ประเทศต่างๆ เริ่มเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการค้าระหว่างประเทศเมื่อมีการพึ่งพาสกุลเงินหลักในการทำการค้าเพียงไม่กี่สกุล อาทิ ดอลลาร์สหรัฐ และยูโร ดังนั้น การกระจายสกุลเงินในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปยังสกุลเงินรอง โดยเฉพาะเงินหยวน เพื่อเพิ่มทางเลือกของสกุลเงินในการทำการค้า จะถือเป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว โดย Morgan Stanley เคยคาดการณ์ว่าเงินหยวนจะมีสัดส่วนในทุนสำรองระหว่างประเทศของโลกเพิ่มขึ้นจากราว 3% เป็น 5-10% ภายในปี 2573  ซึ่งจากสถานการณ์ในปัจจุบันคาดว่าจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้แนวโน้มดังกล่าวเป็นไปได้เร็วยิ่งขึ้น

  • Implications ต่อผู้ประกอบการไทย
    • ผลกระทบทางตรง : ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับเปลี่ยนกลไกการชำระเงินค่าก๊าซธรรมชาติเป็นเงินรูเบิลของรัสเซีย เนื่องจากไทยไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตรของรัสเซียจำนวน 48 ประเทศ ประกอบกับไทยไม่มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ขณะที่การทำการค้ากับรัสเซียยังสามารถทำธุรกรรมกับธนาคารในรัสเซียที่ยังเป็นสมาชิกในระบบ SWIFT และไม่ได้ถูกมาตรการลงโทษจากชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม หากรัสเซียถูกมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการอาจพิจารณาการใช้สกุลเงินหยวนในการทำธุรกรรมกับรัสเซีย
    • ผลกระทบทางอ้อม : ตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้นผู้ประกอบการไทยได้เผชิญผลกระทบทางอ้อมผ่านต้นทุนพลังงานและสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้น รวมถึงต้องเผชิญกับความผันผวนของเงินรูเบิลในทิศทางอ่อนค่าที่ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้จากผู้นำเข้ารัสเซียสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนการนำเข้าของรัสเซียปรับขึ้นรวดเร็ว ดังนั้น การที่เงินรูเบิลมีเสถียรภาพมากขึ้นจากการกำหนดให้จ่ายค่าก๊าซธรรมชาติด้วยเงินรูเบิล จึงถือเป็นผลกระทบทางบวกต่อการทำการค้ากับรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์และมาตรการอื่นๆ อย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป โดยเฉพาะแนวโน้มของเศรษฐกิจ EU ที่อาจชะลอตัวลงกว่าคาดการณ์เดิมหากไม่สามารถนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและท่องเที่ยวของไทย รวมถึงรัสเซียอาจเผชิญมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกที่รุนแรงขึ้นหากสงครามยังยืดเยื้อ ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์

 

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • ปัญหาขาดแคลนชิปยืดเยื้อต่อในปี 2565 ... ผลกระทบต่อผู้ผลิตในไทย

    ประเด็นสำคัญ ปัญหาขาดแคลนชิปซึ่งเกิดขึ้นมาแล้วราว 1 ปี ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อในปี 2565 จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกที่มีชิปเป็นส่วนประกอบ อาทิ รถยนต์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในด้านต...

    calendar icon08.12.2021
  • ยุโรปกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอก 3

    ประเด็นสำคัญ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปกลับมาเป็นประเด็นที่น่ากังวลอีกครั้ง หลังจากมีสัญญาณชัดเจนของการแพร่ระบาดระลอก 3 ระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดรอบใหม่จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ การกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ความเ...

    calendar icon23.03.2021
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview