Hot Issues

ส่งออกทุเรียนไทยไปจีนเสี่ยงสูง…คู่แข่งตีตลาด-จีนปลูกได้เอง

ประเด็นสำคัญ

  • ไทยส่งออกทุเรียนสดเพิ่มขึ้นกว่า 15 เท่าตัวช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยแทบทั้งหมดกระจุกตัวที่จีน
  • ไทยเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนให้เวียดนามใน 3-4 ปีข้างหน้า หลังจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากเวียดนามเมื่อเดือน ก.ย. 2565 เพราะทุเรียนเวียดนามได้เปรียบด้านต้นทุนและระยะทาง รวมถึงเวียดนามเร่งขยายพื้นที่และพัฒนาการปลูกทุเรียนอย่างต่อเนื่อง
  • การส่งออกทุเรียนสดของไทยไปจีนมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น จากการที่ สปป.ลาว กัมพูชา และฟิลิปปินส์ เร่งเจรจาให้จีนอนุญาตนำเข้าทุเรียนสด รวมถึงคาดว่าพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในจีนจะเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ในปี 2567
  • ไทยต้องรักษาคุณภาพทุเรียนสดให้มีมาตรฐานสูง รุกช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้น ตลอดจนบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ

 

ทุเรียนสด ... สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่เติบโตสูง แต่ส่งออกกระจุกตัวที่ตลาดจีน

ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับ 1 ของไทย สร้างรายได้เข้าประเทศในปี 2564 มากถึงกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกว่าครึ่งเป็นการส่งออก “ทุเรียนสด” ซึ่งมีมูลค่าส่งออกเติบโตต่อเนื่อง จาก 200.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 เป็น 3,489 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2564 หรือขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงปีละ 37% (CAGR) โดยมีจีนเป็นตลาดหลักราว 80-90% ของมูลค่าส่งออกทุเรียนสดทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนสดของไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการที่ปัจจุบันหลายประเทศมุ่งส่งออกทุเรียนสดไปจีนมากขึ้น จึงต้องติดตามว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นแค่แรงกระเพื่อมหรือจะเป็นแรงกระแทกต่อการส่งออกทุเรียนสดของไทย 

ไทยเสี่ยงสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีน : คู่แข่งเร่งรุกตลาดจีน-ผลผลิตทุเรียนในจีนเตรียมออกสู่ตลาด

ศุลกากรจีนอนุญาตให้เวียดนามส่งออกทุเรียนสดไปจีนเป็นประเทศที่ 2 ของโลกต่อจากไทย โดยเวียดนามเริ่มส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย. 2565 จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนสดของไทย ดังนี้

>>> ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า : ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนให้เวียดนามในปริมาณจำกัด เพราะทุเรียนสดจากเวียดนามยังไม่มีแบรนด์และแผนการตลาดที่เข้มแข็งเท่ากับไทย อีกทั้งปริมาณผลผลิตทุเรียนของเวียดนามที่ผ่านมาตรฐานส่งออกไปจีนได้ในปัจจุบันยังมีเพียง 68,000 ตัน หรือราว 8% ของปริมาณทุเรียนที่จีนนำเข้า (ปัจจุบันไทยส่งออกทุเรียนไปจีนราว 3 แสนตัน ครองส่วนแบ่งตลาดเกือบทั้งหมด) ประกอบกับคาดว่าจีนยังมีแนวโน้มบริโภคทุเรียนสดเพิ่มขึ้นอีกมาก การขยายการส่งออกทุเรียนสดของเวียดนามในระยะนี้จึงกระทบต่อการส่งออกทุเรียนสดของไทยไม่มากนัก ทั้งนี้ สถาบันวิจัยอุตสาหกรรมฮวาจิงประเมินว่าตลาดทุเรียนในจีนจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% (ปี 2564-2569)

>>> ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า : มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ไทยจะเสียส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนให้กับเวียดนาม เนื่องจาก

วียดนามมีศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องจากมีต้นทุนเพาะปลูกต่ำกว่า โดยเฉพาะด้านค่าแรง อีกทั้งมีระยะทางขนส่งสั้นกว่า ทำให้นอกจากจะได้เปรียบทุเรียนไทยในด้านค่าขนส่งที่ถูกกว่าแล้ว ยังทำให้ทุเรียนเวียดนามตัดผลได้แก่กว่าทุเรียนไทย ซึ่งทุเรียนแก่เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนมากกว่าทุเรียนอ่อน

ผลผลิตทุเรียนของเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกทุเรียนในเวียดนามขยายตัวเฉลี่ยถึงราวปีละ 11% (CAGR) และมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตทุเรียนเวียดนามจะเพิ่มขึ้นจากราว 5 แสนตันในปี 2564 เป็น 7 แสนตันในปี 2569 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนบางแห่งในเวียดนาม อาทิ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาตใต้ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนไปยังจีนได้ มีผลผลิตต่อไร่สูงถึง 3.6 ตัน มากกว่าผลผลิตต่อไร่ในพื้นที่ปลูกทุเรียนหลักของไทยอย่าง จ.จันทบุรี ซึ่งอยู่ที่ราว 2 ตัน เนื่องจากเกษตรกรเวียดนามในพื้นที่ดังกล่าว มุ่งพัฒนาทักษะและนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาปรับใช้อย่างจริงจัง

สปป.ลาว กัมพูชา และฟิลิปินส์ อยู่ระหว่างเร่งเจรจากับจีนเพื่อส่งออกทุเรียนสดไปจีนเช่นเดียวกับเวียดนามซึ่งหากจีนทยอยเปิดตลาดนำเข้าทุเรียนจากประเทศเหล่านี้ ทุเรียนสดไทยในจีนจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนจาก สปป.ลาว ที่สภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกับไทย ทำให้ผลไม้มีรสชาติใกล้เคียงกับผลไม้ไทย อีกทั้งมีรถไฟจีน- สปป.ลาวซึ่งคาดว่าจีนจะเริ่มเปิดให้มีการส่งผลไม้ผ่านเส้นทางรถไฟเข้าจีนได้ในเดือน ธ.ค. 2565 โดยในปี 2564 ทั้ง 3 ประเทศมีผลผลิตทุเรียนรวมกันกว่า 5 แสนตัน หรือเกือบ 50% ของผลผลิตทุเรียนไทย และมีปริมาณส่งออกรวมกันเกือบ 2 แสนตัน หรือราว 1 ใน 4 ของปริมาณส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกทุเรียนใน สปป.ลาว และกัมพูชาส่วนหนึ่งเป็นของบริษัทจีนที่เข้าไปปลูกทุเรียนเพื่อส่งกลับไปจีน  

จีนเร่งพัฒนาการปลูกทุเรียนในประเทศต่อเนื่อง จนปลูกทุเรียนพันธุ์มูซานคิงและพันธุ์หนามดำ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ขึ้นชื่อในมาเลเซียได้เป็นผลสำเร็จบนพื้นที่มากกว่า 12,500 ไร่ หลังจากเริ่มทดลองปลูกตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตสูงสุดปีละ 75,000 ตัน หรือเกือบ 10% ของปริมาณทุเรียนสดที่จีนนำเข้าในปี 2564 และจะเริ่มมีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ในปี 2567

การที่ผลไม้มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันรุนแรงขึ้น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยรวมของไทยในระยะถัดไป เนื่องจากผลไม้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และมีบทบาทในการพยุงการส่งออกในหลายวิกฤต อาทิ ในช่วงวิกฤต COVID-19ซึ่งมูลค่าส่งออกผลไม้เติบโตถึง 12% ในปี 2563 และ 48% ใน 2564 แต่ยังกระทบต่อการกระจายรายได้สู่เกษตรกรอีกด้วย

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้นโดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

Related
more icon
  • CLMV Snapshot Q1/2565

    CLMV Snapshot : Update ความเคลื่อนไหวและข่าวน่าสนใจใน CLMV เป็นรายไตรมาส

    calendar icon01.04.2022
  • ส่องทิศทางเศรษฐกิจและความเสี่ยง CLMV ในปี 2565

    ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นสุดในกลุ่ม CLMV ขณะที่เมียนมาเป็นเพียงประเทศเดียวที่เศรษฐกิจคาดว่าจะหดตัวในปี 2565 จากสถานการณ์ COVID-19 และความวุ่นวายทางการเมืองยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ เมียนมาและ สป...

    calendar icon01.12.2021
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview