Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
- ศรีลังกาประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะสามารถเจรจาขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF และนานาประเทศได้สำเร็จ
- สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกามีต้นตอมาจากปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงและรายได้ภาครัฐต่ำจากการลดภาษีตามนโยบายประชานิยม และถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤต COVID-19 ซึ่งทำให้รายได้และทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่อง จนไม่เพียงพอต่อการนำเข้าสินค้าจำเป็นและชำระหนี้
- สถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่อยู่ในระดับสูงจุดระเบิดวิกฤตเศรษฐกิจให้รุนแรงขึ้น ตั้งแต่การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศสำหรับการนำเข้าพลังงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ เงินเฟ้อสูง และเงินรูปีที่อ่อนค่าหนักสุดเป็นประวัติการณ์ จนนำไปสู่การประท้วงของประชาชนทั่วประเทศ
- ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอยู่ในวงจำกัด โดยผู้ส่งออกอาจต้องปรับเงื่อนไขการค้าให้รัดกุมขึ้น ขณะที่ผู้นำเข้าสินค้าจากศรีลังกาอาจได้รับประโยชน์ในการนำเข้าสินค้าบางรายการ อาทิ สินค้าเกษตรและวัตถุดิบขั้นต้น
ศรีลังกาประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเป็นการชั่วคราว
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2565 ศรีลังกาประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะเจรจาขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF และนานาประเทศได้สำเร็จ หลังจากเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำและต้องสำรองไว้เพื่อการนำเข้าอาหารและพลังงานก่อนการชำระหนี้ต่างประเทศ ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่ต้องชำระของศรีลังกา (ดอกเบี้ยและเงินกู้ที่ครบกำหนด) ในปี 2565 อยู่ที่ราว 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรรัฐบาลระหว่างประเทศ (International Sovereign Bond : ISB) มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะครบกำหนดชำระในเดือน ก.ค. 2565
สาเหตุของวิกฤต...พื้นฐานเศรษฐกิจที่เปราะบาง ทำให้ศรีลังกาไม่สามารถต้านทานวิกฤตซ้อนวิกฤตได้
- ศรีลังกาเผชิญปัญหาหนี้สาธารณะสูงตั้งแต่ก่อนวิกฤต COVID-19 โดยอยู่ที่ระดับ 94% ต่อ GDP ในปี 2562 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการออกพันธบัตร ISB จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา (ปัจจุบัน ศรีลังกามีหนี้จากการออก ISB รวม 12.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 39% ของหนี้ต่างประเทศของภาครัฐ) นอกจากนี้ ยังมีการกู้ยืมเงินจากจีน (เจ้าหนี้รายใหญ่อันดับ 4 ของศรีลังกา) อีกกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ทางด่วน ท่าเรือ สนามบิน และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งนี้ สถานการณ์หนี้สาธารณะย่ำแย่ลงอีกหลังจากวิกฤต COVID-19 เนื่องจากรัฐบาลศรีลังกามีรายได้ลดลงและรายจ่ายเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะจะเพิ่มเป็น 120% ต่อ GDP ในปี 2565
- รายได้ภาครัฐลดลงจากการปรับลดอัตราภาษีลงเกือบครึ่งหนึ่งหลายรายการ รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับลดลงจาก 15% เหลือเพียง 8% เมื่อปี 2562 ตามสัญญาที่ประธานาธิบดี Rajapaksa ได้ให้ไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง
วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อรายได้และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของศรีลังกา
- รายได้เงินตราต่างประเทศของศรีลังกาลดลง นอกจากการส่งออกชาและสิ่งทอ รวมถึงการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานในต่างประเทศแล้ว ศรีลังกายังมีรายได้จากภาคท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญ (คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของ GDP) ซึ่งวิกฤต COVID-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อแหล่งรายได้ดังกล่าว ทั้งนี้ ในปี 2563 รายได้จากการท่องเที่ยวของศรีลังกาลดลงกว่า 80%
- ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 14 ปี ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2565 ศรีลังกามีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นมูลค่าสำหรับการนำเข้าหรือ Import Cover เพียง 1.3 เดือน ซึ่งโดยทั่วไปไม่ควรต่ำกว่า 3-4 เดือน หรือหากเทียบกับ Import Cover ของไทยปัจจุบันอยู่ที่ 9 เดือน) ลดลงกว่า 50% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แม้รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศจำกัดการนำเข้าสินค้าบางรายการมาตั้งแต่ปี 2563 และล่าสุดได้เพิ่มสินค้าอีก 367 รายการ อาทิ ปลา ผลไม้ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เพื่อรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ
- ศรีลังกาถูกปรับลด Rating ตราสารทางการเงินสู่ระดับ Junk Bond มาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากทุนสำรองที่ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19
สถานการณ์ราคาพลังงานโลกที่อยู่ในระดับสูงจุดระเบิดวิกฤตเศรษฐกิจให้รุนแรงขึ้น
- ศรีลังกาประสบปัญหาน้ำมันในประเทศขาดแคลน จากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นสูง ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ศรีลังกามีเงินดอลลาร์สหรัฐไม่เพียงพอต่อการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ส่งผลให้การคมนาคมและการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศหยุดชะงักลง และต้องดำเนินมาตรการเวียนตัดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในแต่ละเขตพื้นที่ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. 2565 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการตัดกระแสไฟฟ้ารวมนานสูงสุด 13 ชั่วโมงต่อวัน
- อัตราเงินเฟ้อของศรีลังกาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 7% ในเดือน มี.ค. 2565 สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2551 โดยมีสาเหตุมาจากทั้งการขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตรจากการห้ามใช้สารเคมีแบบกะทันหันเมื่อกลางปี 2564 และถูกซ้ำเติมด้วยราคาพลังงานโลกที่ปรับขึ้นสูงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับขึ้นสูงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ เงินรูปีที่อ่อนค่า (อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปี ณ วันที่ 18 เม.ย. 2565 อยู่ที่ระดับ 330 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากต้นปี 2565 ราว 39%) ยิ่งกดดันภาวะเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้นอีก
- วิกฤตเศรษฐกิจนำไปสู่การประท้วงและการก่อจลาจลของประชาชนทั่วประเทศ เพื่อขับไล่รัฐบาลและเรียกร้องให้ประธานาธิบดี Rajapaksa ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากบริหารงานเศรษฐกิจผิดพลาดและล้มเหลว
การขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF อาจทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขรัดเข็มขัดเพื่อลดการใช้จ่ายของ IMF และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงประเทศที่ค้าขายกับศรีลังกา ซึ่งต้องติดตามความคืบหน้าของการเจรจาต่อไป
ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย
- ผลกระทบต่อการส่งออกไทยโดยรวมถือว่าค่อนข้างน้อย เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปศรีลังกาอยู่ที่เพียง 1% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย โดยศรีลังกาเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 47 ของไทย ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของไทยไปศรีลังกาในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 หดตัว 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการจำกัดการนำเข้าสินค้าบางรายการเพื่อรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การส่งออกของไทยไปศรีลังกาในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มชะลอตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา
- ผู้ส่งออกไทยควรระมัดระวังในการส่งสินค้าไปศรีลังกา เนื่องจากประเทศอยู่ในภาวะขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐในการนำมาชำระค่าสินค้า และเงินรูปีที่อ่อนค่ารุนแรงทำให้ผู้นำเข้าของศรีลังกามีต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ส่งออกอาจต้องปรับเงื่อนไขการค้าให้รัดกุมขึ้น อาทิ จากเดิมที่ค้าด้วยการเปิด Letter of Credit (L/C) อาจต้องเปลี่ยนไปชำระค่าสินค้าด้วยเงื่อนไข Advance Payment เป็นต้น
- ผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นจากศรีลังกา อาทิ แป้งข้าวสาลี ชาและหัวเชื้อ รวมถึงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะกุ้ง อาจได้ประโยชน์จากเงินรูปีที่อ่อนค่า เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินรูปีและปัญหาขาดแคลนพลังงานในประเทศซึ่งส่งผลให้สินค้ากลุ่มดังกล่าวที่นำเข้าจากศรีลังกาจะมีราคาถูกลง
- ผู้นำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากศรีลังกาอาจต้องเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทน อาทิ กรณีของสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่เริ่มมีการย้ายคำสั่งซื้อไปยังประเทศผู้ผลิตสำคัญรายอื่น เช่น อินเดีย บังกลาเทศ และเวียดนาม เป็นต้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของศรีลังกาต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าและต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบที่สูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมของศรีลังกามีราคาแพงขึ้น
- ธุรกิจโรงแรมในศรีลังกามีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภาวะราคาอาหารและพลังงานปรับสูงขึ้น แม้เงินรูปีที่อ่อนค่าอาจเป็นปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น (ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวในศรีลังกาถูกลงจากอัตราแลกเปลี่ยน) แต่นักท่องเที่ยวต้องเผชิญค่าใช้จ่ายด้านอาหารและการเดินทางในศรีลังกาที่มีแนวโน้มแพงขึ้น ตลอดจนถึงการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวศรีลังกา แม้ศรีลังกาจะมีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วก็ตาม
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่เกี่ยวข้อง
-
วิกฤตค่าเงินของตุรกี...ผลกระทบอาจลุกลามและขยายเป็นวงกว้าง
ประเด็นสำคัญ ตุรกีเผชิญวิกฤตค่าเงินครั้งรุนแรง หลังจากเงิน Lira อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เงิน Lira ยังถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และตุรกี โดยประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศ...
15.08.2018
-
ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน กระทบเศรษฐกิจจีน กระเทือนถึงไทย
KEY TAKEAWAYS บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากภาคอสังหาฯ ที่ซบเซา ปัญหาภาคอสังหาฯ ส่งผลกระทบให้รายได้ธนาคารลดลงและ NPLs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สถานะโดยรวมยังแข็งแกร่ง แนวโน้มเศร...
09.10.2023 -
CLMV Snapshot Q1/2565
CLMV Snapshot : Update ความเคลื่อนไหวและข่าวน่าสนใจใน CLMV เป็นรายไตรมาส
01.04.2022 -
มองผลกระทบหลังรัสเซียเปลี่ยนกลไกการชำระเงินค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล
ประเด็นสำคัญ รัสเซียออกกฎหมายให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตร โดยเฉพาะ EU ต้องจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล โดยบังคับให้ผู้ซื้อต้องเปิดบัญชีพิเศษสำหรับการทำธุรกรรมจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะ ความเคล...
13.04.2022