Hot Issues
ประเด็นสำคัญ
-
ตุรกีเผชิญวิกฤตค่าเงินครั้งรุนแรง หลังจากเงิน Lira อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
-
เงิน Lira ยังถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และตุรกี โดยประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวที่ 50% และ 20% ตามลำดับ
-
วิกฤตค่าเงิน Lira อาจส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินยุโรป เนื่องจากประเทศเจ้าหนี้ของตุรกีส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปโดยเฉพาะสเปนและฝรั่งเศส ซึ่งหากตุรกียังไม่สามารถดำเนินมาตรการเพื่อพยุงค่าเงิน อาจมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ในระยะข้างหน้าได้
ตุรกีกำลังเผชิญวิกฤตค่าเงินครั้งรุนแรง หลังจากเงิน Lira ของตุรกีเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเกือบ 40% นับตั้งแต่ต้นปี 2561 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยล่าสุดเงิน Lira ถูกซ้ำเติมอย่างรุนแรงจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจาก 25% เป็น 50% และจาก 10% เป็น 20% ตามลำดับ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ทำให้เงิน Lira เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงถึง 14% ภายในวันเดียว เนื่องจากหลายฝ่ายกังวลว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะลุกลามเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับตุรกีมีภาระหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ตุรกีอาจผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อธนาคารและประเทศเจ้าหนี้ของตุรกีที่ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป วิกฤตค่าเงินของตุรกีในครั้งนี้จึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะผลกระทบอาจลุกลามไปยังเศรษฐกิจยุโรปและโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สหรัฐฯ vs ตุรกี ... ประเด็นทางการเมืองที่นำมาสู่มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ
การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีของประธานาธิบดีทรัมป์นับเป็นมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ โดยมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองประเทศ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มจากการที่ทางการตุรกีควบคุมตัวบาทหลวงชาวอเมริกันไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ในข้อหาสนับสนุนการก่อการร้ายและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในตุรกีเมื่อ 2 ปีก่อน ขณะที่ทางการสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบาทหลวงคนดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ถูกทางการตุรกีปฏิเสธ สหรัฐฯ จึงตอบโต้ด้วยการประกาศคว่ำบาตรรายบุคคลต่อรัฐมนตรีของตุรกี 2 ราย เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 รวมถึงการอายัดทรัพย์สินของรัฐมนตรีทั้งสองรายในสหรัฐฯ และห้ามชาวสหรัฐฯ ทำธุรกรรมด้วย จนกระทั่งเริ่มใช้มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าในลำดับถัดมา
ผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกี
เศรษฐกิจตุรกีมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากตุรกีเป็นประเทศผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่อันดับ 8 ของโลก โดยเหล็กเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของตุรกี ในปี 2560 สร้างรายได้ถึง 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.3% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของตุรกี โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมสำคัญที่สุดของตุรกี มีมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10% ของมูลค่าส่งออกในหมวดนี้ของตุรกี ดังนั้น มาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ จึงน่าจะส่งผลกระทบต่อตุรกีอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
วิกฤตค่าเงิน Lira สะท้อนหลายปัญหาของตุรกี
เงิน Lira ของตุรกีอ่อนค่าลงต่อเนื่องตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมถึงตุรกีกลับไปสหรัฐฯ แต่สิ่งที่ทำให้ค่าเงิน Lira ประสบปัญหามากกว่าประเทศอื่น มาจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่
-
ปัญหาทางเศรษฐกิจ
- ปัญหาอัตราเงินเฟ้อ ตุรกีประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งรัฐบาลตุรกีไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จนกระทั่งล่าสุดอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 2561 ปรับขึ้นสูงถึง 9% สูงสุดในรอบ 14 ปี
- ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 6% ของ GDP ในปี 2560 และคาดว่าจะขาดดุลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 6.7% ต่อ GDP ในปี 2561
- ปัญหาหนี้ต่างประเทศ ยอดหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ของตุรกีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2560 เป็น 59.3% ในปี 2561 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมระยะสั้น ซึ่งการที่เงิน Lira อ่อนค่าลง ยิ่งทำให้ต้นทุนการชำระหนี้ของตุรกีปรับสูงขึ้นตามกัน
-
ปัญหาแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาลตุรกีที่ขาดประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ประธานาธิบดี Erdogan ของตุรกี นิยมใช้แนวนโยบายแบบประชานิยม และมีการแทรกแซงการบริหารนโยบายการเงินของธนาคารกลางตุรกี ทำให้ธนาคารกลางตุรกีไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อได้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งแนวนโยบายดังกล่าวยังทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในทิศทางเศรษฐกิจของตุรกี นอกจากนี้ ประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตาม คือ หากเศรษฐกิจตุรกีประสบปัญหารุนแรง ประธานาธิบดี Erdogan จะขอรับความช่วยเหลือจาก IMF หรือไม่ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่าประธานาธิบดี Erdogan อาจไม่ขอรับความช่วยเหลือดังกล่าว เนื่องจากประธานาธิบดี Erdogan มีแนวคิดต่อต้านการพึ่งพา IMF อยู่แล้ว ขณะที่มาตรการรัดเข็มขัดที่มาพร้อมความช่วยเหลือของ IMF ก็เป็นแนวทางที่ขัดกับแนวทางบริหารประเทศแบบประชานิยม
จับตาผลกระทบในวงกว้าง
-
-
วิกฤตค่าเงิน Lira อาจลุกลามสู่ตลาดยุโรป การกู้เงินระยะสั้นของตุรกีจากต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากธนาคารในยุโรป ซึ่งเงิน Lira ที่อ่อนค่าลงอาจทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้ โดยความกังวลของนักลงทุนสะท้อนได้จากข้อมูล Credit Default Swaps (CDS) ระยะ 5 ปีของตุรกี ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับเดียวกับในช่วงที่เกิดวิกฤต Hamburger ในปี 2551 ทั้งนี้ ธนาคารต่างประเทศที่เป็นเจ้าหนี้สำคัญของตุรกี ได้แก่ ธนาคารในสเปนและธนาคารฝรั่งเศส ด้วยวงเงินสูงถึง 9 และ 35.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ธนาคารรายใหญ่ในยุโรปหลายแห่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารในตุรกี อาทิ ธนาคาร BBVA ของสเปน ถือหุ้นราว 50% ในธนาคาร Garanti Bank ของตุรกี ธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส ถือหุ้น 72.5% ในธนาคาร TEB ของตุรกี และธนาคาร UniCredit ของอิตาลี ถือหุ้น 41% ในธนาคาร Yapi Kredi Bank ของตุรกี นอกจากนี้ ธนาคารทั้งสามแห่งยังถือครองพันธบัตรรัฐบาลตุรกีในระดับสูง รวมถึงธนาคารยุโรปรายใหญ่อื่นๆ ที่มีธุรกรรมในตุรกี อาทิ ธนาคาร HSBC และธนาคาร Citi เป็นต้น ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบเช่นกัน
-
-
-
วิกฤตค่าเงินตุรกีสร้างความกังวลให้กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น อาทิ รัสเซีย แอฟริกาใต้ อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาหนี้ต่างประเทศ สะท้อนได้จากสกุลเงินของประเทศกลุ่มดังกล่าวที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน
-
ผลกระทบต่อไทย นอกจากความผันผวนตาม Sentiment ของตลาดทุน และเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าตามสกุลเงินในภูมิภาค มีความเป็นไปได้ที่การส่งออกจากไทยไปตุรกีจะชะลอตัวในระยะข้างหน้า เนื่องจากเงิน Lira ที่อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ทำให้ผู้นำเข้าในตุรกีอาจชะลอการนำเข้าสินค้า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยในภาพรวมคาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากไทยและตุรกีมีการเชื่อมโยงทางการค้าและการลงทุนที่ไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ตุรกีเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 37 ของไทย ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างไทยและตุรกีมีสัดส่วนเพียง 3% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตุรกี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง
-
ที่เกี่ยวข้อง
-
ราคาพลังงานพุ่ง ... จุดระเบิดซ้ำเติมเศรษฐกิจศรีลังกา
ประเด็นสำคัญ ศรีลังกาประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมดเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะสามารถเจรจาขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF และนานาประเทศได้สำเร็จ สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกามีต้นตอมาจากปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดั...
26.04.2022
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
ข้อตกลงการค้า EU-UK หลัง Brexit กับโอกาสการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญ EU และ UK บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลัง Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน...
05.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019