ข่าวเศรษฐกิจ
Nikkei Asia รายงานว่า แม้สถิติจาก World Semiconductor Trade Statistics แสดงให้เห็นว่ายอดจำหน่ายเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) ทั่วโลกเริ่มลดลงราว 2% (y-o-y) ในเดือน ก.ค. 2565 ซึ่งนับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 32 เดือน และลดลงต่อเนื่องในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2565 ขณะที่ยอดจำหน่ายเครื่องมือผลิตชิปก็คาดว่าจะหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แต่บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือผลิตชิปของญี่ปุ่นหลายบริษัทต่างเร่งลงทุนขยายโรงงาน เพื่อรองรับอุปสงค์ที่จะขยายตัวในระยะยาวจากความต้องการอุปกรณ์สื่อสาร 5G และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นคาดว่ามูลค่าตลาดเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะพุ่งทะลุ 100 ล้านล้านเยน (กว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือเป็น 2 เท่าของปี 2563 ภายในปี 2573 นอกจากนี้ แผนเปิดโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในญี่ปุ่นในปี 2567 ของผู้ผลิตชิประดับโลกอย่าง TSMC รวมถึงนโยบายการสร้างซัพพลายเชนชิปภายในประเทศของสหรัฐฯ ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตเครื่องมือผลิตชิปของญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสจากความต้องการของผู้ผลิตชิปทั่วโลกที่กำลังขยายตัว
ทั้งนี้ วีเทคโนโลยี บริษัทออกแบบเครื่องจักรสำหรับการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่น ได้เริ่มเปิดดำเนินการโรงงานแห่งแรกของตนเอง (จากเดิมที่ใช้วิธีจ้างผลิต) ในเมืองโยะโกะซุกะ เมื่อเดือน พ.ย. 2565 เพื่อลดต้นทุนการผลิตและรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับ Canon ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์แผ่นวงจรชิป ก็อยู่ระหว่างสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมืองอุสึโนะมิยะ ที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็นสองเท่า โดยจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในปี 2568 ขณะที่ฮิตาชิ โคคุไซ อิเล็กทริก ผู้ผลิตอุปกรณ์แปรรูปแผ่นเวเฟอร์ เซมิคอนดักเตอร์ ก็ทุ่มงบ 24,000 ล้านเยน สร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมืองโทะนะมิ โดยมีกำหนดเริ่มเดินเครื่องผลิตในปี 2567 เพื่อรองรับความต้องการของผู้ผลิตชิป โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่อย่าง Intel (ประชาชาติธุรกิจ, 21-23 พ.ย. 2565)