บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
ปี 2565 ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ไม่ง่ายนักสำหรับภาคธุรกิจทั่วโลกรวมถึงผู้ประกอบการไทย แม้ในช่วงต้นปีหลายหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญทั้ง IMF และธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะยังขยายตัวได้กว่า 4% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ 3% เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทยปี 2565 ที่ล่าสุดสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% หรือมีโอกาสลุ้นขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี
อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ OMICRON ที่แม้อาการจะไม่รุนแรง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นก็ยังกดดันการฟื้นตัวของ
อุปสงค์ในหลายประเทศอยู่ไม่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็ได้เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และเข้ามาซ้ำเติมปัญหา Supply Chain Disruption ที่มีอยู่เดิม
ทั้งนี้ แม้บางฝ่ายมองว่าปัญหาข้างต้นจะค่อยๆ คลี่คลายลงในช่วงที่เหลือของปี ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของ COVID-19 ที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด หรือมีการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าไม่ว่าจะจบเร็วหรือจบช้าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือทั้ง 2 วิกฤตแห่งศตวรรษที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันนี้ กำลังสะท้อนให้เห็นถึง “4 รอยแยกในเชิงโครงสร้าง” ที่อาจกลายเป็นแผลเป็นเรื้อรังที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคตได้ ดังนี้
รอยแยกด้านสาธารณสุข…สุมเชื้อไฟการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียม
การระบาดของ COVID-19 ที่กินระยะเวลามากว่า 2 ปี ได้กลายเป็นวิกฤตด้านสาธารณสุขที่สร้างความบอบช้ำให้กับเศรษฐกิจโลกมากที่สุดในรอบเกือบ 100 ปี แม้ปัจจุบันความรุนแรงของโรคจะลดลง จนหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุม และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ดูเหมือนว่าไม่ใช่ทุกประเทศที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วเหมือนกันหมด เนื่องจากมีหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดความลักลั่นดังกล่าว คืออัตราการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกัน
ปัจจุบันแม้ทั่วโลกมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ณ วันที่ 14 มี.ค. 2565 พบว่า มีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเกือบ 5,000 ล้านคน หรือกว่า 63% ของประชากรโลก แต่กลับพบว่าส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูง โดยประเทศรายได้สูงสุด 50 อันดับของโลกมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วกว่า 70% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนทั่วโลก ขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำสุด 50 อันดับของโลก มีผู้ที่ได้รับวัคซีนเพียง 6% เท่านั้น ทั้งนี้ Economic Intelligence Unit (EIU) ประเมินว่า หากประเทศรายได้ต่ำเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศในแถบแอฟริกาและเอเชีย ยังมีสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่ำกว่า 60% ของประชากร อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่าราว 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 เนื่องจากการไม่ได้รับวัคซีนให้มากพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) อาจเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการกลายพันธุ์เพิ่มเติม หรือทำให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ตามมาในอนาคต ซึ่งจะบั่นทอนความเชื่อมั่น และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนจะยิ่งทำให้เส้นแบ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศรายได้สูงกับรายได้ต่ำกว้างมากขึ้นไปอีก
รอยแยกด้านการเงินการคลัง…เร่งภาวะดินพอกหางหมูของหนี้โลก
แม้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิด COVID-19 แล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งยังมีปัญหาใต้พรมที่กำลังก่อตัวขึ้น นั่นคือ ปัญหาหนี้
วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาในแต่ละครั้งถือเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้หนี้โลกขยับสูงขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่วิกฤต Hamburger ในปี 2552 ที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย หรือ QE เป็นจำนวนมาก จนมาถึงวิกฤต COVID-19 รอบล่าสุดที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมใจกันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งมาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลังมูลค่ามหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ตามมาคงจะหนีไม่พ้นภาระหนี้สินของประเทศต่างๆ ที่จะเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจาก Institute of International Finance (IIF) พบว่า มูลค่าหนี้สินรวมทั้งโลกปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ราว 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่กว่า 300 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และคิดเป็นกว่า 3.5 เท่าของ GDP โลก โดยกว่า 80% ของมูลค่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากหนี้ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
นอกจากนี้ หนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่ดังกล่าวยังอาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น เมื่อล่าสุดธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มหันมาใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้น ผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการปรับลดขนาดงบดุล ซึ่งผลที่ตามมาก็คืออาจเกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ดังจะเห็นได้จากในช่วงปี 2558-2561 ที่ Fed เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ส่งผลให้สกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งอ่อนค่าอย่างรุนแรง อาทิ ตุรกี แอฟริกาใต้ บราซิล เม็กซิโก เป็นต้น ขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มภาระหนี้ของประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สกุลเงินต่างประเทศในสัดส่วนสูง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง และความสามารถในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ (Policy Space) ของตลาดเกิดใหม่ในอนาคตอีกด้วย
รอยแยกของขั้วการเมืองระหว่างประเทศ…Domino Effect ต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศคงหนีไม่พ้นสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะจากประเทศจีนและรัสเซีย โดยในส่วนของจีนกำลังก้าวขึ้นมาทาบรัศมีสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจแบบหายใจรดต้นคอ หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดแซงหน้าสหรัฐฯ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้สหรัฐฯ ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์มาจนถึงสมัยประธานาธิบดีไบเดนในปัจจุบันอยู่เฉยไม่ได้ ต้องพยายามสกัดจีนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี รวมทั้งมาตรการทางการค้าต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน การห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไปจีน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนทั่วโลก และได้กัดกร่อนแนวคิด Globalization ที่เคยเป็นแนวคิดหลักที่ผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 90 ให้อ่อนกำลังลง
ขณะที่ในด้านการเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ก็เผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่จากรัสเซียที่ได้แสดงแสนยานุภาพของลัทธิคอมมิวนิสต์ผ่านการบุกยูเครน หลังยูเครนแสดงท่าทีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโลกเสรีประชาธิปไตยผ่านการเป็นสมาชิก NATO และ EU โดยภายหลังรัสเซียบุกยูเครนเมื่อช่วงปลายเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และชาติตะวันตกได้ร่วมมือกันใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจตอบโต้รัสเซียในหลายมิติ อาทิ การตัดธนาคารรัสเซียบางแห่งจากระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) การห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปรัสเซีย ห้ามสายการบินรัสเซียผ่านน่านฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้
แม้สุดท้ายแล้วอาจมีการเจรจายุติปฏิบัติการทางการทหารเกิดขึ้น แต่ด้วยมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินต่อไป จะส่งผลกระทบไม่เพียงเศรษฐกิจรัสเซียเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิด Domino Effect ต่อเศรษฐกิจโลกในหลายมิติทั้งตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกที่ผันผวนรุนแรง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของหลายอุตสาหกรรม จนเริ่มมีหลายฝ่ายพูดกันว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้กำลังจะเผชิญกับภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง) หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าการแข่งขันและความแตกต่างทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจ กำลังกลายเป็นภัยคุกคามมากขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกในยุคต่อจากนี้
รอยแยกของการพัฒนา…กับความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม
นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 18 จนถึงปัจจุบัน ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ อีกทั้งจำนวนของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็เร่งให้เกิดความต้องการสินค้าและบริการจำนวนมาก ซึ่งนำมาสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานอย่างฟุ่มเฟือยและไม่สมดุล
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังกระตุ้นให้เกิดกระแสใส่ใจสุขภาพและกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันเราจะเห็นภัยธรรมชาติเกิดขึ้นเป็นรายวันและรุนแรงมากกว่าในอดีต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตไฟป่าในบราซิล มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในจีน ออสเตรเลียและยุโรป พายุเฮอริเคนในสหรัฐฯ รวมถึงธารน้ำแข็งทั่วโลกที่เริ่มละลายเร็วขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ข้อมูลจาก The National Aeronautics and Space Administration (NASA) และ World Meteorological Organization (WMO) พบว่าปัจจุบันอุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 14.9 องศาเซลเซียส
สูงกว่าช่วงเริ่มต้นยุคอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ราว 1.1 องศาเซลเซียส และถือเป็นช่วงที่โลกร้อนที่สุดในรอบ 100,000 ปี
ขณะเดียวกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคระบาดก็กำลังกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญเหนือความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากรายงาน World Economic Forum ปี 2565 ที่ระบุว่าความเสี่ยงของโลก 10 อันดับแรกในช่วง 10 ปีข้างหน้ามีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและโรคระบาดติดอยู่ถึง 6 อันดับ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ทุกภาคส่วนทั่วโลกเริ่มตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังถือเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งสำคัญที่ทำให้แต่ละประเทศต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศที่มีราคาผันผวนค่อนข้างสูง ซึ่งหนึ่งในทางออกที่เป็นไปได้คือการหันมาพัฒนาพลังงานทดแทนหรือพลังหมุนเวียนในแต่ละประเทศ
จะเห็นได้ว่ารอยแยกในเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นในหลายมิติข้างต้น ถือเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเร่งปิดรอยแยกที่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียม ความขัดแย้งทางความคิด รวมถึงต้องเร่งสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมโลกเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว ดังคำกล่าวของ Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ ที่ว่า “Coming together is a beginning, Keeping together is progress, Working together is success” หรือ การมาด้วยกันคือการเริ่มต้น การยืนหยัดอยู่ด้วยกันคือความก้าวหน้า และการทำงานร่วมกันคือ ความสำเร็จ
ที่เกี่ยวข้อง