บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

อินเดีย : “ตัวตึง”…ผงาดทาบรัศมีมหาอำนาจโลก

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่ในปีนี้แทบไม่มีประเทศใดเลยโตเกิน 2% ทำให้หลายฝ่ายกำลังมองหา Pocket of Growth ใหม่หรือประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกให้ไปต่อได้ โดยในตอนนี้หากถามว่าสปอตไลท์แห่งความหวังกำลังสาดส่องไป
ที่ไหนมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นจีน หลังจากจีนมีการยกเลิกนโยบาย Zero-COVID และเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาด ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จะโตได้ถึง 5-6% ในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม การที่โลกจะหวังพึ่งเศรษฐกิจจีนเพียงอย่างเดียวคงจะไม่ใช่ Rule of Thumb ที่ถูกต้องนัก ทั้งนี้ หากกวาดสายตาไปดูประเทศอื่นๆ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ Top 10 ของโลกที่พอจะมีพละกำลังในการช่วยจำกัด Downside Risk ของเศรษฐกิจโลกได้ จะพบว่ามีอีกหนึ่งประเทศที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นกว่าจีน นั่นคือ “อินเดีย”

หลายปีที่ผ่านมา แม้ว่าอินเดียจะต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 และวิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนไม่ต่างจากทุกประเทศทั่วโลก ในบางวิกฤตอินเดียอาจได้รับผลกระทบมากกว่าหลายประเทศด้วยซ้ำ แต่ความน่าสนใจของอินเดียที่ผมสังเกตได้คือ อินเดียมักจะเป็น “ตัวตึง” ตามภาษาวัยรุ่นที่แปลว่าตัว Top หรือคนเก่งในด้านต่างๆ ที่สามารถอาศัยจังหวะที่โลกเต็มไปด้วยความวุ่นวาย สร้างแต้มต่อให้ตนเอง และก้าวขึ้นมามีบทบาทเทียบเคียงประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ของโลกได้ในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและเทคโนโลยี ดังนี้ 

ตัวตึง…ด้านเศรษฐกิจ

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่โลกเผชิญกับวิกฤต COVID-19 อินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกที่ราว 45 ล้านคน ตลอดจนในแง่เศรษฐกิจ ที่เศรษฐกิจอินเดียปี 2563 ก็หดตัวถึง 6.6% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ 2 ปีหลังจากนั้น เศรษฐกิจอินเดียสามารถพลิกฟื้นกลับมาโตได้เร็วที่สุดในเอเชีย ด้วยอัตราขยายตัวเฉลี่ยถึง 7.8% ต่อปี ปัจจัยดังกล่าวทำให้ปี 2565 อินเดียได้สร้าง Surprise ด้วยการแซงหน้าสหราชอาณาจักร (United Kingdom : UK) ขึ้นมาเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก ท่ามกลางเศรษฐกิจ UK ที่หลายฝ่ายมองว่ามีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ Recession ในปีนี้

สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจอินเดีย ที่ล้มแล้วลุกได้ไว และสามารถอาศัยจังหวะที่ประเทศอื่นชะลอตัว ขยับแซงหน้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่เพียงเท่านี้หากอินเดียสามารถรักษาระดับการเติบโตที่ 6-7% ได้ต่อเนื่อง ก็มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอีกไม่ไกลอาจแซงหน้าประเทศมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่น และเยอรมนีก็เป็นได้เพราะหากสังเกตดีๆ ทั้งญี่ปุ่นและเยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 และ 4 ของโลก ตามลำดับ
ก็เผชิญกับข้อจำกัดหลายประการที่คล้ายกัน โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มขั้น โดยญี่ปุ่นและเยอรมนีมีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีถึง 30% และ 22% ตามลำดับ ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันการบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของทั้งสองประเทศด้วยสัดส่วน 57% และ 53% ต่อ GDP ตามลำดับ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังต้องเผชิญความเสี่ยงในประเด็นความมั่นคงด้านพลังงาน ในส่วนของญี่ปุ่นต้องนำเข้าพลังงานราคาสูงจากต่างประเทศมาโดยตลอด หลังมีการลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลังเกิดเหตุสึนามิในปี 2554 ขณะที่เยอรมนีต้องเร่งหาแหล่งพลังงานทดแทนให้เพียงพอหลังคว่ำบาตรรัสเซีย สิ่งที่เกิดขึ้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในระยะถัดไป ทำให้ล่าสุด The Center for Economics and Business Research (CEBR) คาดว่าอินเดียจะมีขนาดเศรษฐกิจแซงเยอรมนีกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกในปี 2569 และมีโอกาสแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นไปรั้ง Top 3 ของโลกได้ในปี 2575

ตัวตึง…ด้านสังคม

บริบทด้านสังคมที่ผมกำลังจะกล่าวถึงคือด้านประชากร ในช่วงที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าหากมีใครตั้งคำถามว่าประเทศใดมีประชากรมากที่สุดในโลก คงไม่มีใครตอบผิดเป็นแน่ เพราะแชมป์ที่ครองตำแหน่งมายาวนานก็คือจีน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุด World Population Prospects 2022 ขององค์การสหประชาชาติ คาดว่าในปี 2566 อินเดียจะมีประชากรแซงจีนได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายศตวรรษ โดยประชากรอินเดียจะอยู่ที่ 1,428 ล้านคน ขณะที่ประชากรจีนจะอยู่ที่ 1,425 ล้านคน ก็ต้องมาลุ้นกัน

จุดเปลี่ยนสำคัญคือปี 2565 ที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีที่จีนมีประชากรลดลงราว 8.5 แสนคน สวนทางกับอินเดียที่มีประชากรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ราว 10 ล้านคน นอกจากนี้ การที่อายุเฉลี่ยของประชากรอินเดียยังอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ที่ 28.4 ปี ต่ำสุดอันดับ 4 ของเอเชีย และน้อยกว่าจีนที่อยู่ที่ 38.4 ปี ถือเป็นตัวเร่งให้ช่องว่างจำนวนประชากรของทั้งสองประเทศใน
อนาคตยิ่งถ่างออกไปอีก ขณะเดียวกัน หากพิจารณาถึงสัดส่วนประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีของอินเดียที่มีเพียง 6.8% เทียบกับจีนที่สูงถึง 13.7% อีกทั้งประชากรอินเดียถึง 2 ใน 3 หรือราว 900 ล้านคนยังอยู่ในวัยแรงงาน ทำให้อินเดียไม่เพียงจะกลายเป็นตลาดผู้บริโภคและตลาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังเป็นหนึ่งในตลาดใหม่และเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวที่พร้อมออกมาจับจ่ายใช้สอย ออกมาทำงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

ความโดดเด่นด้านประชากรดังกล่าว ถือเป็นข้อได้เปรียบของอินเดียที่ช่วยลดแรงเสียดทานจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาได้ดีกว่าหลายประเทศ สังเกตได้จากตัวเลขอุปสงค์ในประเทศของอินเดียที่ขยายตัวสวนทางกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ สะท้อนได้จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคอินเดียที่โตได้ 8 ไตรมาสติดต่อกัน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index : PMI) ทั้งภาคการผลิตและบริการที่เกินระดับ 50 หรืออยู่ในโซนขยายตัวทุกเดือนตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จุดแข็งข้างต้นยังถือเป็นแม่เหล็กสำคัญที่จะช่วยหนุนให้อินเดียกลายเป็นโรงงานแห่งใหม่ของโลก (New Factory of the World) ตามนโยบาย Make in India ต่อจากจีน ซึ่งเคยอาศัยจุดแข็งดังกล่าวทำสำเร็จมาแล้วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ตัวตึง…ด้านการเมืองระหว่างประเทศ

ท่ามกลางการเมืองโลกที่แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว (Decoupling) ชัดเจนมากขึ้น อินเดียถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เดินหมากได้อย่างชาญฉลาด สังเกตว่าตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลายประเทศถูกบังคับให้เลือกข้างเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่อินเดียกลับสงวนท่าที และยึดผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ อย่างกรณีสหรัฐฯ และยุโรป เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรประชาธิปไตยซึ่งรวมถึงอินเดีย คว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่อินเดียก็ไม่ได้เข้าร่วม และอาศัยจังหวะดังกล่าวนำเข้าน้ำมันราคาถูกกว่าราคาตลาดถึง 30% จากรัสเซีย ทำให้สัดส่วนการนำเข้าน้ำมันของอินเดียจากรัสเซียเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็นกว่า 20% ต่างจากพันธมิตรยุโรป ที่พยายามต้องหันไปนำเข้าพลังงานราคาสูงกว่าจากแหล่งอื่นเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อต้านรัสเซียในการรุกรานยูเครน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวอย่างที่ตอกย้ำการเดินทางสายกลางของอินเดียได้ดี คือการที่อินเดียเป็นทั้งสมาชิกของกลุ่ม Quad (Quadrilateral Security Dialogue) ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการคานอำนาจการขยายอิทธิพลของจีนทั้งการทหาร ความมั่นคง และการค้า ขณะเดียวกันอินเดียก็เป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS (Brazil, Russia, India, China, South Africa) ที่มีจีนและรัสเซียเป็นสมาชิกอยู่ด้วย รวมถึงล่าสุดในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา อินเดียก็เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศเช่นเดียวกับจีนที่งดออกเสียงในการลงประชามติประณามและเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน

การวาง Position ที่เป็นกลางข้างต้น ทำให้คาดว่าอินเดียจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้ประโยชน์จาก Decoupling มากอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งด้านการค้าการลงทุน จากกระแส Friend Trade หรือการค้าที่จะให้สิทธิพิเศษมากกว่ากับประเทศที่เป็นพันธมิตรกัน รวมถึงกระแส Friend Shoring ที่จะมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เป็นกลางเพื่อเลี่ยงมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งก็เริ่มเห็นหลายบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกกระจายฐานการผลิตจากจีนไปอินเดียมากขึ้นแล้ว อาทิ Apple ตั้งเป้าสัดส่วนการผลิต iPhone ในอินเดียเพิ่มเป็น 25% ในปี 2568 รวมถึง Foxconn ประกาศลงทุนตั้งโรงงานผลิตชิปในอินเดียมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

ตัวตึง…ด้านเทคโนโลยี

หากเปรียบเทียบความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีระหว่างอินเดียกับชาติมหาอำนาจ Big 4 (สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและเยอรมนี) แบบปอนด์ต่อปอนด์ อาจต้องยอมรับว่าอินเดียยังเป็นรองอยู่พอสมควร สังเกตได้จากแบรนด์สินค้าเทคโนโลยีจากอินเดียที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางบนเวทีโลกมากนัก

อย่างไรก็ตาม หากดูไส้ในจริงๆ แล้วจะพบว่าอินเดียมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตไม่ต่างจาก Big 4 เลย ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์และโทรศัพท์มือถือที่อินเดียก็มีแบรนด์รถยนต์ของตัวเองอย่าง Tata Motor หรือ
แบรนด์มือถืออย่าง Lava และ Micromax แค่ความนิยมอาจจะยังจำกัดอยู่ในประเทศเป็นหลัก หรือแม้แต่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่นๆ อินเดียก็ไม่เป็นสองรองใคร ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ เห็นได้จากในช่วงที่ COVID-19 ระบาดทั่วโลก อินเดียเป็นเพียง 1 ใน 5 ประเทศของโลกที่สามารถผลิตและส่งออกวัคซีนในเชิงพาณิชย์ได้ อีกทั้งอินเดียยังเป็นประเทศในเอเชียเพียงแห่งเดียวที่เป็นผู้ส่งออกยา Top 10 ของโลก นอกจากนี้ อินเดียยังถือเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยอินเดียเป็นเพียง 1 ใน 4 ประเทศของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ได้สำเร็จ ตลอดจนยังเป็นประเทศที่เชี่ยวชาญในการพัฒนายานสำรวจอวกาศ และธุรกิจขนส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์ โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 อินเดียเพิ่งปล่อยดาวเทียมสื่อสารวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO) ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตแห่งอนาคต พร้อมกันถึง 36 ดวง ด้วยจรวดที่ผลิตด้วยตนเองเป็นครั้งแรก ไม่เพียงเท่านี้ ล่าสุดในเดือน ก.พ. 2566 อินเดียยังได้ค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า มากถึง 5.9 ล้านตัน สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนที่จะช่วยเร่งให้อุตสาหกรรมรถยนต์อินเดียเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยี EV แห่งอนาคตได้เร็วขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งจุดแข็งด้านเทคโนโลยีที่ผมสังเกตเห็นคือ ทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมที่ดีของชาวอินเดีย เราจะสังเกตเห็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท IT ชั้นนำของโลก เป็นชาวอินเดียแทบทั้งสิ้น โดยที่ผ่านมาอินเดียได้ส่งเสริมการศึกษาในด้านดังกล่าวอย่างจริงจังมาโดยตลอด มีการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งอินเดีย (Indian Institutes of Technology : IIT) ที่เน้นผลิตนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร กระจายอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ โดยมีเมืองบังกาลอร์ เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม IT เทียบได้กับ Silicon Valley ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ สิ่งดังกล่าวถือเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดีที่ไม่เพียงทำให้อินเดียเป็นศูนย์กลาง Call Center และ IT Outsourcing ของโลกในปัจจุบัน แต่ยังจะช่วยต่อยอดให้อินเดียกลายมาเป็นผู้นำหรือผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้มากขึ้นในอนาคต ล่าสุดพบว่า อินเดียมี Start up ระดับยูนิคอร์น (มูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถึง 108 บริษัท แซงหน้า UK ขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และจีนเท่านั้น

 

การที่อินเดียก้าวขึ้นมามีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้นทั้งแง่ความใหญ่ของเศรษฐกิจ จำนวนประชากร ตลอดจนการวางตัวเป็นกลางบนเกมการเมืองโลก และศักยภาพด้านเทคโนโลยีที่โดดเด่นในหลายอุตสาหกรรม ปัจจัยดังกล่าวสะท้อนถึงขุมทรัพย์แห่งโอกาสของอินเดียที่ผู้ส่งออกไทยไม่ควรมองข้าม ในปีที่ผ่านมาอินเดียเป็นตลาดส่งออกอันดับ 7 ของไทย โดยขยายตัวได้ถึง 22.5% สูงที่สุดเมื่อเทียบกับตลาด Top 10 ทั้งหมด และมากกว่าการส่งออกรวมที่ขยายตัวแค่ 5.5% นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวอินเดียก้าวขึ้นมาเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 2 ของไทย สะท้อนอีกนัยหนึ่งว่าอินเดียกำลังเข้ามามี Exposure กับเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ จังหวะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปเจาะตลาดแดนภารตะเพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดหลักที่ชะลอลง แม้การเข้าไปเจาะตลาดอินเดียอาจจะไม่ง่าย แต่หากเรามีความกล้า มีการวางกลยุทธ์และการป้องกันความเสี่ยงที่ดีก็น่าจะลองมาสำรวจตลาดนี้กัน ดังคำกล่าวของ Michael Jordan นักบาสเกตบอลระดับตำนานของโลกที่ว่า “Don’t be afraid to fail, Be afraid not to try” อย่ากลัวที่จะล้มเหลว แต่จงกลัวที่ไม่ลองลงมือทำนะครับ

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview