บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

เช็กความฟิตโค้งสุดท้าย ก่อน EU ประกาศใช้มาตรการ CBAM

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือนแล้วนะครับที่ EU จะเริ่มใช้มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ในวันที่ 1 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ผมจึงอยากชวนทุกท่านมาทบทวนความเข้าใจและเตรียมความพร้อมแก่ธุรกิจของท่าน เพื่อรับมือกับมาตรการดังกล่าวกันครับ

- CBAM คืออะไร? : CBAM เป็นมาตรการภายใต้กรอบ European Green Deal ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่จะทำให้ EU บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 แนวคิดของ CBAM คือ EU ควรมีกลไกปรับราคาของสินค้านำเข้าให้สะท้อนถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่แท้จริงในกระบวนการผลิตสินค้านั้น และเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตใน EU หลังจากที่ก่อนหน้านี้ EU ได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตใน EU มีต้นทุนสูงกว่าและมีความสามารถในการแข่งขันลดลง เมื่อเทียบกับผู้ผลิตนอก EU ที่ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้

- CBAM เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอะไรบ้าง? : สำหรับสินค้าที่เป็นเป้าหมายของมาตรการ CBAM ในปัจจุบัน ได้แก่ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน นอกจากนี้ ยังคาดว่าในอนาคตอาจมีการขยายขอบเขตให้ครอบคลุมถึงพลาสติกและเคมีอินทรีย์ด้วย

- ผู้ประกอบการต้องทำอะไรบ้าง? : ในระยะแรกซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน (ต.ค. 2566-ธ.ค. 2568) ผู้ประกอบการยังไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ผู้นำเข้าสินค้าข้างต้นใน EU ต้องรายงานข้อมูลดังต่อไปนี้ทุกไตรมาส 1) ปริมาณสินค้าแต่ละชนิดที่นำเข้า 2) ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (Embedded Emissions) ทั้งทางตรง (Direct) และทางอ้อม (Indirect) ของสินค้านั้น ที่ตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบที่ได้รับใบอนุญาต 3) ราคาคาร์บอนในประเทศที่ผลิตสินค้า

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป จะเป็นช่วงบังคับใช้เต็มรูปแบบ ซึ่งนอกเหนือจากการรายงานข้อมูลแล้ว ผู้นำเข้ายังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ภายในวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี โดยจะคิดจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่นำเข้าหักด้วยราคาคาร์บอนที่ชำระในประเทศผู้ผลิตแล้ว หรือหักด้วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Free Allowances) ตามสัดส่วนที่ EU กำหนด ทั้งนี้ หากไม่ได้ส่งมอบใบรับรอง CBAM ให้ครบถ้วนภายในกำหนดจะมีโทษปรับในอัตรา 100 ยูโรต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

- ผู้ประกอบการจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากมาตรการ CBAM มากเพียงใด? : จากข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ที่คำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนเฉลี่ยเฉพาะทางตรง (Direct Emissions) ในอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมและซีเมนต์ของไทย พบว่ามีค่า 0.5 และ 0.6 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อตันสินค้าตามลำดับ ซึ่งเมื่อคิดราคาคาร์บอนเฉลี่ยใน EU ในปี 2565 ที่ตันละ 83 ยูโร จะทำให้ผู้ประกอบการอะลูมิเนียมและซีเมนต์ของไทยมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยตันละ 41.5 และ 49.8 ยูโร ตามลำดับ

ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยต่างเตรียมตัวรับมือกับมาตรการนี้แล้ว ส่วนผู้ประกอบการ SMEs อาจขอคำแนะนำจาก อบก. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของไทยในการให้บริการรับรองเครื่องหมาย Carbon Footprint ทั้งนี้ ปัจจุบันทาง อบก. อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์มคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน และเร่งกำหนดค่ามาตรฐาน (Benchmark) ปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ของสินค้าไทย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2567

สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากให้ทุกท่านเตรียมตัวให้พร้อม เพราะแม้ปัจจุบันสินค้าของท่านจะยังไม่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในอนาคตประเทศต่างๆ จะใช้มาตรการในลักษณะนี้อย่างเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อมุ่งสู่เป้า Net Zero การเตรียมตัวให้พร้อมกับมาตรการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ครับ

Disclaimer : คอลัมน์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ ธสน.

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview