บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ

Transform ธุรกิจท่องเที่ยวไทยสู่หมุดหมายความยั่งยืน

บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจากวิกฤต Climate Change ที่รุนแรง ส่งผลให้ถนนทุกสายมุ่งสู่ความยั่งยืน ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศราว 8-11% ของทั้งโลก ธุรกิจท่องเที่ยวโลก รวมถึงไทย จึงจำเป็นต้องปรับตัวและเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ซึ่งแม้จะเป็นความท้าทายสำคัญ แต่ก็เป็นหนทางสู่โอกาสทางธุรกิจ รวมทั้งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ไทยก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี 2608 ซึ่งผมอยากจะแชร์ทิศทางการปรับตัวและโอกาสของธุรกิจผ่าน 3 Win ดังนี้

  • Win for Sustainability : เมื่อการท่องเที่ยวโลกมุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน ทั้งในมิติของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ผลสำรวจของ com ในปี 2566 พบว่า 76% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการทริปท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ 43% ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับที่พัก/กิจกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองเรื่องความยั่งยืน ในมิติของผู้ประกอบการเครือข่ายพันธมิตรโรงแรมกว่า 50,000 แห่งทั่วโลกภายใต้ Sustainable Hospitality Alliance ได้ประกาศยุทธศาสตร์ 5 ปี (ปี 2566-2570) เพื่อเดินหน้าสู่ Net-Positive Hospitality ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ไม่เพียงเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุ Net Zero Emission ให้เร็วที่สุดภายในปี 2593 แต่จะสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อร่วมกันลดผลกระทบด้านลบและสร้างผลกระทบด้านบวกต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม การปรับตัวเข้าสู่เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของทั้งนักเดินทางและเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวโลก
    มีแนวโน้มจะส่งผลให้รูปแบบการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลกกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในระยะต่อไป
  • Win for a Change : เริ่มการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ทำได้ง่าย ผู้ประกอบการไทยสามารถเริ่มต้นปรับตัวสู่เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ทันทีจากวิธีง่ายๆ อาทิ ปรับใช้พลังงานสะอาด เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์ ลดการใช้พลังงานด้วยการเปลี่ยนไปใช้หลอดไฟเป็นแบบ LED เปลี่ยน Packaging ของใช้ในห้องพักเป็นวัสดุรีไซเคิล ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ใช้วัตถุดิบและจ้างแรงงานจากชุมชนรอบตัวเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายรายได้ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการควรเริ่มหาทางวัดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนดำเนินการขอการรับรองที่ได้ตามมาตรฐานสากล เช่น ISO 21401 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการจัดการความยั่งยืนสำหรับสถานประกอบการที่พักในการท่องเที่ยว และการลงนามใน UNESCO Sustainable Travel Pledge เพื่อรับตราสัญลักษณ์โรงแรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน เป็นต้น
  • Win for All : เพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ พิชิตเป้าหมายให้ประเทศ การปรับตัวสู่กระแสการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและสอดรับกับพฤติกรรมของนักเดินทางจะช่วยให้ธุรกิจหลีกหนีจากการแข่งขันด้านราคาและเน้นแต่จำนวนนักท่องเที่ยว โดย Moore Global บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกระบุว่าบริษัทที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับประเด็นความยั่งยืน (ESG) มีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรสูงกว่าบริษัทที่ละเลยประเด็น ESG ถึง 2.2 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ นอกจากนี้ การที่ภาคท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 7% ของทั้งประเทศไทย และมีความเกี่ยวข้องกับ SMEs ชุมชน และแรงงานจำนวนมาก ตื่นตัวในการปรับสู่ความยั่งยืน จะมีส่วนผลักดันให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emission ภายในปี 2608

EXIM BANK พร้อมทำหน้าที่ Green Development Bank เคียงข้างและสนับสนุนผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย Transform ธุรกิจและคว้าโอกาสจากกระแสความยั่งยืน ด้วยบริการทางการเงินเฉพาะทางที่จะช่วยยกระดับธุรกิจไทยสู่เทรนด์รักษ์โลกและมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นภารกิจหลักที่สอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการเร่งการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งเป็นประตูที่ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนที่รวดเร็วที่สุด พร้อมกับขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยและโลก

link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview