การเงินธนาคาร

ส่องนโยบายพญามังกร…เร่งปรับทัพรับมือสงครามการค้า

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทั่วโลก
เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่าล่าสุดทั้งสองประเทศกลับมาเปิดการเจรจารอบใหม่อีกครั้ง แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าสงครามการค้าจะยุติลงโดยเร็ว เนื่องจากสาเหตุของการเปิดศึกสงครามการค้ามีความซับซ้อนจากเบื้องหลังที่เกี่ยวโยงกับความขัดแย้งในหลายมิติ ทั้งการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขันด้านเทคโนโลยี ตลอดจนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของทั้งสองประเทศมหาอำนาจโลก ล่าสุดดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของจีนทั้งในภาคการผลิต การลงทุน และการส่งออก ล้วนบ่งชี้สัญญาณการชะลอตัวอันเป็นผลจากสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ จึงเป็นที่น่าติดตามว่าจีนจะมีนโยบายในการรับมือกับความเสี่ยงนี้อย่างไร

มองไปข้างหน้า...นโยบายจีนกับการรับมือสงครามการค้า

            นับตั้งแต่สหรัฐฯ เปิดฉากตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในปี 2561 จนสงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้นเต็มพิกัดจากการเรียกเก็บภาษีสินค้าระหว่างกันเกือบครบทุกรายการในปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าที่ยืดเยื้อทำให้รัฐบาลจีนเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะหน้า รวมถึงเร่งดำเนินนโยบายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ตลอดจนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • นโยบายกระตุ้นการใช้จ่าย…เร่งเครื่องการบริโภคภาคครัวเรือน ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562 รัฐบาลจีนได้ประกาศใช้มาตรการที่เรียกว่า Implementation Plan for Promoting Update and Upgrade of Key Consumer Goods and Facilitating Resource Recycling (2019-2020) ที่มุ่งเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในกลุ่มสินค้ายานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทโฟนที่รองรับระบบ 5G และโทรทัศน์ที่มีความละเอียดสูง (HDTV) โดยรัฐบาลจีนจะให้การอุดหนุนแก่ผู้จำหน่ายสินค้าเพื่อเสนอโปรโมชั่นลดราคาสินค้ากลุ่มดังกล่าว ขณะที่ผู้ซื้อต้องนำสินค้ารุ่นเก่ามาแลกรับส่วนลด อีกทั้งรัฐบาลจีนยังผ่อนผันการจำกัดโควตาการซื้อรถยนต์ในเขตเมืองรอง เพื่อกระตุ้นการซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ในระยะถัดไปรัฐบาลจีนยังมีแผนเพิ่มรายได้ของชาวจีน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มีประชากรอยู่ราว 700 ล้านคน โดยจะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและเศรษฐกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมให้ชาวจีนในพื้นที่ชนบทมีรายได้เพิ่มขึ้น

            ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลทางเศรษฐกิจของจีนพบว่าปัจจุบันเศรษฐกิจจีนพึ่งพาภาคการบริโภคในประเทศเกือบ 40% ของ GDP ซึ่งยังต่ำเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่พึ่งพาภาคการบริโภคสูงถึงเกือบ 70% ของ GDP ขณะที่ประชากรจีนมีจำนวนกว่า 1,300 ล้านคน มากกว่าสหรัฐฯ ถึง 4 เท่า แต่รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวจีนยังต่ำกว่าสหรัฐฯ เกือบ 7 เท่า ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคภาคครัวเรือนของจีนยังมีศักยภาพในการเติบโตและจะเป็นขุมพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า

 

  • นโยบาย AI 2030…เร่งเครื่องสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยี AI ของโลกภายในปี 2573 เป้าหมายสำคัญประการหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ คือ การสกัดกั้นการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนที่รุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดด โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของสหรัฐฯ ในการเจรจากับจีน คือ การให้รัฐบาลจีนยุติการให้การอุดหนุนในโครงการต่างๆ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 (MIC 2025) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่เน้นสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและสินค้านวัตกรรมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังมีความพยายามสกัดกั้นการขยายตลาดของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนอย่าง Huawei และ ZTE สถานการณ์ดังกล่าวนับเป็นปัจจัยกระตุ้นให้จีนต้องเร่งปรับตัวด้วยการหันมาพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) เพื่อก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี AI ของโลกให้ได้ภายในปี 2573 โดยตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากอุตสาหกรรม AI ให้แตะระดับ 1 ล้านล้านหยวน (ราว 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ภายในปี 2573 ขณะเดียวกันยังออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI ของภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่การประยุกต์ใช้จริงและสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ให้ได้ตามเป้าหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังตั้งงบประมาณลงทุนเบื้องต้นด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมีแผนลงทุนราว 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจ Start-up ที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านกองทุนร่วมลงทุนของภาครัฐ (State-owned Venture Capital Fund) ตลอดจนลงทุนก่อตั้ง AI Technology Park ในกรุงปักกิ่ง มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมองว่า AI เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมได้หลากหลาย หรือที่เรียกว่า AI Plus อาทิ ยานยนต์ไร้คนขับ เครื่องมือทางการแพทย์อัจฉริยะ Smart Robots และ Smart Watch ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ อีกทั้งเทคโนโลยี AI ยังมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ MIC 2025 อีกด้วย

            การเร่งรัดนโยบาย AI 2030 ไม่เพียงมีผลในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดเงินลงทุนของรัฐบาลและมาตรการลดหย่อนภาษีให้แก่ภาคธุรกิจ แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ของโลก ซึ่ง PwC คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าราว 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 ขณะที่ศักยภาพในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของจีนที่โดดเด่นขึ้นอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากดัชนี Government AI Readiness Index ปี 2562 ที่จัดทำโดย Oxford Insights ซึ่งจีนอยู่ในอันดับที่ 20 จาก
การจัดอันดับทั้งหมด 194 ประเทศ จากที่จีนไม่ติดอันดับใดเลยใน 35 ประเทศที่มีการจัดอันดับเป็นครั้งแรกในปี 2560   

  • นโยบาย Digital Silk Roadเร่งหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ผ่านความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล ในการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนเมษายน 2562 จีนจัดให้มีการประชุมในหัวข้อ Digital Silk Road ภายใต้แนวคิด "การร่วมกันสร้างเส้นทางสายไหมดิจิทัลแห่งศตวรรษที่ 21" สะท้อนให้เห็นความต้องการสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศ Belt and Road Initiatives (BRI) โดยจะมีการเร่งผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในกลุ่มประเทศ BRI โดยเฉพาะการวางโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี 5G การสร้างเมือง Smart City ตลอดจนการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มในธุรกิจ E-commerce เป็นต้น นับเป็นการสร้างโอกาสให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนไม่ว่าจะเป็น Huawei, Alibaba, Tencent, Baidu และ ZTE เข้าไปลงทุนและขยายการให้บริการในกลุ่มประเทศ BRI ได้อย่างครอบคลุม ยกตัวอย่างเช่น โครงการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี 5G ของ Huawei และ ZTE ในกัมพูชา โครงการ Huawei Innovation Hub และ Digital Free Trade Hub ของ Alibaba ในมาเลเซีย นอกจากนี้ ภายใต้แผน Digital Silk Road จีนยังประกาศลงทุนโครงการขยายเครือข่ายระบบกำหนดตำแหน่งพิกัดบนโลก (Global Navigation Satellite System : GNSS) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศจีนและกลุ่มประเทศ BRI อีกกว่า 60 ประเทศ โดยใช้ระบบดาวเทียมของจีน หรือ BeiDou Navigation Satellite System (BDS) ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการใช้งานระบบดังกล่าวแล้วในหลายประเทศ เช่น การสำรวจที่ดินและทำแผนที่ในยูกันดา และการสำรวจพื้นที่การก่อสร้างในคูเวต ขณะที่จีนตั้งเป้าปล่อยดาวเทียมใหม่อีกกว่า 10 ดวงขึ้นสู่วงโคจรในช่วงปี 2562-2563 เพื่อให้ระบบ BDS มีความแม่นยำและสามารถแข่งขันกับระบบ GPS ของสหรัฐฯ ได้มากขึ้น

            นโยบาย Digital Silk Road จึงถือเป็นการต่อยอดการส่งออกสินค้าและบริการด้านดิจิทัลของจีนสู่กลุ่มประเทศ BRI ซึ่งจะเกื้อหนุนการค้าระหว่างจีนและกลุ่มประเทศ BRI ให้เพิ่มขึ้นจากในปี 2561 ที่มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศ BRI มีสัดส่วนราว 28% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของจีน อีกทั้งยังเป็นการบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้าที่บริษัทเทคโนโลยีของจีนถูกกีดกันในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงในตลาดที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักรอีกด้วย

ผลกระทบต่อไทยในมิติด้านการค้าและลงทุน

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันจีนได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลของโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิต จนได้รับสมญานามว่าเป็น “Factory of the World” ภาคอุตสาหกรรมของจีนจึงมีการเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตของโลก ซึ่งรวมถึงไทย อย่างแน่นแฟ้น ดังนั้น แนวทางการดำเนินโยบายของจีนไม่ว่าจะเป็นการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อผลักดันให้จีนก้าวสู่การเป็นแหล่งผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนการรุกคืบของทุนจีนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ล้วนส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อไทย ดังนี้  

มิติด้านการค้า : ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อาเซียนขยับขึ้นเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของจีน แทนที่สหรัฐฯ โดยมูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สวนทางกับมูลค่าการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ลดลงถึง 14% สถานการณ์ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนโอกาสของสินค้าอาเซียน ในการทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีนที่ชัดเจนจากผลของสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการรุกตลาดจีนให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องเร่งปรับตัวในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อก้าวให้ทันกับการพัฒนาของจีนที่กำลังรุดหน้าอย่างรวดเร็วและต้องสามารถเชื่อมโยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของจีนให้ได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ควรหาช่องทางรุกเข้าสู่แพลตฟอร์มการค้าในระบบออนไลน์ของจีน ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการค้าในตลาดจีนที่ปัจจุบันทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อของจีนส่วนใหญ่อยู่ในช่องทางการค้าออนไลน์แล้ว

มิติด้านการลงทุน : นโยบาย Digital Silk Road จะเร่งให้ทุนจีนออกมาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีดิจิทัลและ E-Commerce ในกลุ่มประเทศ BRI รวมถึงไทย มากขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบายของไทยที่ต้องการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ภายใต้โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจึงควรใช้ประโยชน์จากช่วงเวลานี้ในการหาพันธมิตรผู้ประกอบการจีนให้เข้ามาร่วมลงทุนเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีระหว่างกันในลำดับถัดไป

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
  • จับทิศทางนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจจีนหลังวิกฤต COVID-19

    การดำเนินมาตรการ Lockdown เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งจีน ต้องเผชิญภาวะหดตัวอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยเป็นการหดตัวอย่างกะทันหันของอุปสงค์ (Demand Shock) ทั้งตลาดใน...

    calendar icon19.11.2020
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
Tag
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview