การเงินธนาคาร
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้โลกเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีดังกล่าว คือ เทคโนโลยีทางการเงิน ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การเกิดขึ้นของการจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
การใช้เงินสดของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงินกำลังพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่งด้วย Fintech เช่น แอพพลิเคชั่นทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือ หรือ การชำระค่าสินค้าด้วย QR Code
ทำให้ผู้บริโภคสามารถชำระเงินหรือโอนเงินได้เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัส และยิ่งส่งผลให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้เงินสดลดลงอย่างมากหรือแทบไม่ใช้เงินสดเลยในหลายประเทศ ก่อให้เกิดกระแสที่ว่าบางประเทศกำลังจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในอนาคตอันใกล้ ขณะเดียวกันบางประเทศแม้จะยังห่างไกลจากการเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ก็มองว่าการมุ่งเป็นสังคมไร้เงินสดจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาบางประการของสังคมที่ใช้เงินสดเป็นหลักได้ ดังนั้น การศึกษาบทเรียนจากทั้งประเทศที่กำลังจะเป็นสังคมไร้เงินสดและประเทศที่อยากจะเป็นสังคมไร้เงินสดจะช่วยให้เข้าใจปัจจัยขับเคลื่อนและกุญแจสู่ความสำเร็จของการผลักดันไปสู่สังคมไร้เงินสด รวมถึงประโยชน์และความเสี่ยงของการเป็นสังคมไร้เงินสด
จากข้อมูลสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยได้รับเงินหรือชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบัตรเดบิตและบัตรเครดิตในแต่ละประเทศ ของ World Bank ในปี 2560 แสดงให้เห็นว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเช่น EU เป็นประเทศที่ประชาชนเกือบทั้งหมดคุ้นชินกับการไม่ใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอย่างแคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ที่ตัวเลขอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาเงินสดมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
ซึ่งปัจจัยที่กำหนดขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ พฤติกรรม
การชำระเงินของประชาชน ไปจนถึงนโยบายและกฎหมายของแต่ละประเทศ ทั้งนี้ ประเทศที่น่าสนใจใน
การถอดบทเรียนของการเป็นสังคมไร้เงินสด มีดังนี้
สวีเดน...ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการก้าวเป็นสังคมไร้เงินสด
สวีเดนเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่คาดว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2573 พร้อมประเทศเพื่อนบ้านอย่างเดนมาร์กและนอร์เวย์ ปัจจุบันชาวสวีเดนนิยมใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิต รวมถึงแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะ “Swish” ที่พัฒนาโดยการร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 6 แห่งและธนาคารกลางสวีเดน (Sveriges Riksbank) ในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการแทนเงินสดได้ทุกอย่าง ตั้งแต่น้ำอัดลมเพียงกระป๋องเดียวไปจนถึงการใช้บริการห้องน้ำสาธารณะ ทำให้ปริมาณเงินสดหมุนเวียนในระบบของสวีเดนในปี 2560 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 27 ปี เหลือเพียง 55,564
ล้านโครนาสวีเดน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1% ต่อ GDP เทียบกับสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนราว 5-7% และ
สหราชอาณาจักร 3% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในสวีเดนมากกว่าครึ่งไม่รับฝากถอนเงินสดและไม่สำรองเงินสดไว้ภายในธนาคาร รวมถึงเริ่มทยอยปิดสาขาธนาคารลงกว่า 500 สาขาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเหลือเพียงราว 1,300 สาขา ทั้งนี้ การพัฒนาไปสู่สังคมไร้เงินสดของสวีเดนมีแรงหนุนมาจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยพื้นฐาน คือ เทคโนโลยีบัตรเครดิตและเดบิต ภาคธนาคารสวีเดนพัฒนาสู่ยุคดิจิทัล ความเชื่อมั่นในระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีและความพร้อมด้านเทคโนโลยีของชาวสวีเดน แต่ปัจจัยขับเคลื่อนที่ถือเป็นจุดเด่นในกรณีของสวีเดน ได้แก่ (1) แรงผลักจากภาคสังคมที่เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีทางการเงินปลอดภัยกว่าการใช้เงินสด ทั้งจากกลุ่มพนักงานธนาคารที่รณรงค์ให้ลดการใช้เงินสดเพื่อลดปัญหาการปล้นธนาคารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงระหว่างปี 2543-2553 ไปจนถึงสหภาพแรงงานคนขับรถโดยสารสาธารณะที่เห็นว่า
การลดการใช้เงิดสดจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานขับรถ ทำให้ปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะและสถานีรถไฟในสวีเดนไม่รับชำระเป็นเงินสด (2) กฎหมายของสวีเดนที่อนุญาตให้ร้านค้าสามารถปฏิเสธไม่รับเงินสดจากลูกค้า ซึ่งต่างจากกฎหมาย Payment Law ในประเทศส่วนใหญ่ ที่คุ้มครองสิทธิของผู้ถือเงินสด เนื่องจากถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย ดังนั้น ร้านค้าจะไม่สามารถปฏิเสธการชำระค่าสินค้าด้วยเงินสดได้ แต่กรณีของสวีเดนให้ความสำคัญกับกฎหมายแบบ Contract Law
ซึ่งถือว่าผู้ซื้อสินค้าหรือบริการกับร้านค้าที่ติดป้ายประกาศไม่รับเงินสดนั้นตกลงยินยอมตามสัญญาที่ร้านค้าได้ประกาศแจ้งไว้แล้ว
จีน…ผู้นำการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือของโลก
หลายเมืองของจีนได้พัฒนาเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 5-6 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันแอพพลิเคชั่นทางการเงินบนโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะ Alipay และ WeChat ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันตั้งแต่การชำระค่าสินค้าและบริการ การให้ทิปพนักงานเสริฟ ไปจนถึงการบริจาคเงิน
ซึ่งแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะผูกกับบัญชีธนาคาร และทำการชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยระบบ QR Code
โดยยอดการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือในจีนเพิ่มขึ้นจากเพียง 8 ล้านล้านหยวน ในปี 2557 เป็น 109 ล้านล้านหยวน หรือราว 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 (เทียบกับสหรัฐฯ ที่มียอดการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นเพียง 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ถือเป็นประเทศผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ ราคาโทรศัพท์มือถือที่ถูกลง จำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความพร้อมของเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต กระแสความนิยม E-Commerce และ
ความสะดวกสบายของการใช้แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือในชีวิตประจำวัน ล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยเกื้อหนุนการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือในจีน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเป็นสังคมไร้เงินสดของจีนยังคงเกิดขึ้นเฉพาะบางเมืองสำคัญที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจเท่านั้น ขณะที่ในชนบทที่ประชาชนยังยากจนและไม่ได้ใช้บริการธนาคาร (แอพพลิเคชั่นทางการเงินต้องผูกกับบัญชีธนาคาร) รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ก็ยังต้องพึ่งพาการใช้เงินสดอยู่เช่นเดิม ดังนั้น บทเรียนจากกรณีของจีนจึงไม่ได้เป็นการมุ่งไปสู่สังคมไร้เงินสดแบบเต็มรูปแบบ แต่เป็นการเพิ่มบทบาทของ Fintech แอพพลิเคชั่นบนมือถือที่พัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับกลุ่มคนที่มีความพร้อมในการเข้าถึงธนาคารและทันต่อโลกเทคโนโลยีให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยไม่ต้องพกเงินสดอีกต่อไป
อินเดีย...การยกเลิกธนบัตรและการมุ่งยกระดับประเทศสู่สังคมไร้เงินสด
เส้นทางการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของอินเดียเริ่มต้นมาจากการที่นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรชนิด 500 และ 1,000 รูปี เมื่อปลายปี 2559 ซึ่งธนบัตรทั้งสองประเภทมีสัดส่วนถึง 86% ของธนบัตรทั้งหมดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของอินเดีย โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาเงินนอกระบบ
การหลบเลี่ยงภาษี และการคอร์รัปชั่นภายในประเทศ นโยบายยกเลิกธนบัตรดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการเงินครั้งใหญ่ของอินเดีย เนื่องจากชาวอินเดียที่กังวลต่อการถือครองเงินสดเริ่มใช้แอพพลิชั่นบนโทรศัพท์มือถือเป็นสื่อกลางในการชำระเงินมากขึ้น ขณะที่ร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงหาบเร่แผงลอยตามริมถนนทยอยปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จนรัฐบาลอินเดียใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจอินเดียสู่
การเป็นสังคมไร้เงินสดภายใต้วิสัยทัศน์ New India 2022 อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นเป็นสังคมไร้เงินสดของอินเดียคงต้องเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้นำระบบสารสนเทศที่ชื่อว่า Aadhaar สำหรับเก็บฐานข้อมูลประชากรโดยระบุตัวตนด้วยข้อมูลทางชีวภาพอย่างการสแกนลายนิ้วมือหรือม่านตามาใช้ ส่งผลให้ในปี 2559 มีประชากรอินเดียถึง 95% ที่มีหลักฐานสามารถระบุตัวตนได้จากระบบดังกล่าว จากเดิมที่ในช่วงก่อนหน้าปี 2552 ประชากรราวครึ่งหนึ่งของอินเดียไม่อยู่ในระบบทะเบียนข้อมูลประชากรของราชการ ทำให้ชาวอินเดียกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ นอกจากนี้ ในปี 2559 อินเดียก็ได้พัฒนาระบบแบ่งปันและเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เรียกว่า India Stack ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลตัวตนจาก Aadhaar ข้อมูลบัญชีธนาคาร ข้อมูลการทำงาน ไปจนถึงข้อมูลการเสียภาษี ระบบดังกล่าวทำให้
การพัฒนาและผลักดันการใช้งานแอพพลิเคชั่นทางการเงินในอินเดียเป็นเรื่องที่สามารถทำให้เป็นจริงได้ ดังนั้น การยกเลิกธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี เมื่อปลายปี 2559 จึงเกิดขึ้นในจังหวะที่พอดีกับความพร้อมใน
การผลักดันให้เกิดการใช้ Fintech ทดแทนการใช้เงินสด โดยปัจจุบันแอพพลิเคชั่นทางการเงินที่ได้รับความนิยม คือ PayTM (สนับสนุนโดย Alibaba) มีจำนวนบัญชีผู้ใช้แล้วกว่า 300 ล้านราย และตั้งเป้าไว้ 500 ล้านราย ภายในปี 2563
จากประสบการณ์การพัฒนาไปสู่สังคมไร้เงินสดของหลายประเทศข้างต้น ทำให้เห็นถึงปัจจัยของความสำเร็จ 3 ประการ ประกอบด้วย (1) ความพร้อมของประชาชนหรือผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงเทคโนโลยีและการเข้าถึงระบบการเงิน ซึ่งกรณีของสวีเดนแสดงให้เห็นว่าชาวสวีเดนเกือบทั้งหมดมีความพร้อมดังกล่าว ทำให้ประเทศมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์ได้ ขณะที่จีนและอินเดียที่มีประชากรจำนวนมากและยังคงมีความเหลื่อมล้ำหลายด้าน ทำให้การพัฒนาเป็นสังคมไร้เงินสดเกิดขึ้นในเมืองเศรษฐกิจเป็นหลัก (2) แรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีทดแทนเงินสด ชาวสวีเดนและชาวอินเดียมีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงจากการเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้เงินสด ขณะที่ชาวจีนมีแรงจูงใจจากความสะดวกสบาย
และรวดเร็วของเทคโนโลยีทางการเงิน (3) นโยบายรัฐบาล นอกจากจะต้องสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างโครงข่ายอินเทอร์เน็ต กรณีของสวีเดนแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายที่มีส่วนช่วยผลักดันให้เงินสดมีบทบาทน้อยลงในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่อินเดียใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างความพร้อมให้ประชากรเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การเป็นสังคมไร้เงินสดอย่างสมบูรณ์อาจไม่ได้เป็นเป้าหมายสุดท้ายของทุกประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินสดมีแต่จะลดความสำคัญลง ซึ่งยังคงเป็นประเด็นที่ภาคการเงินการธนาคารของไทยควรติดตาม เนื่องจากจะทำให้สามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนเพื่อเตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
ที่เกี่ยวข้อง
-
จับชีพจรการท่องเที่ยวโลก พร้อมกลับเข้าสู่ High Season หรือยัง?
จับชีพจรการท่องเที่ยวโลก พร้อมกลับเข้าสู่ High Season หรือยัง? โดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นที...
27.05.2022 -
อยากได้ลูกเสือ ต้องเข้าถ้ำเสือ … 5 ความกล้าที่ SMEs ควรมี เพื่อคว้าชัยในปีเสือ
ต้องยอมรับว่าปี 2564 ที่ผ่านไป เป็นอีกหนึ่งปีที่ทรหดกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท่านผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ภายใต้วิกฤต COVID-19 ที่ยังรุมเร้าและส่งผลกระทบต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับปี 2565 แม้มีสัญ...
24.01.2022
-
จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก
ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...
19.06.2020 -
VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน
ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...
16.01.2019 -
5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19
5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...
18.05.2020