การเงินธนาคาร
ผ่านมาแล้วครึ่งปีสำหรับปี 2566 เราได้เห็นสัญญาณโมเมนตัมการส่งออกไทยที่อ่อนแรงลงต่อเนื่องจากช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าส่งออกไทยเดือน เม.ย. 2566 หดตัว 7.6% นับเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ทำให้ในภาพรวมการส่งออกไทย 4 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 5.2% โดยเป็นการหดตัวเกือบทุกตลาดหลัก ยกเว้นจีน ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการหดตัวจากฐานการส่งออกของไทยที่สูงในปี 2565 แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลัก เริ่มชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูงตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไปจนถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่เพิ่มต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจและผู้บริโภค สำหรับการลงสนามสู้ศึกในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องพึงระวัง ซึ่งบทความนี้จะขอประเมินความเสี่ยงที่อาจเปรียบเสมือนกับระเบิดที่ซ่อนใต้พรม เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้คอยสังเกตและหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีกับระเบิด หรือเตรียมรับมือเพื่อให้ธุรกิจรอดพ้นจากผลกระทบของกับระเบิดในระยะข้างหน้าได้
กับระเบิดทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ต้องพึงระวังในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
- แนวโน้มล้มละลายของภาคธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2566 โดย Allianz Research คาดว่าดัชนีการล้มละลายของธุรกิจทั่วโลก (Global Insolvency Index) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 21% ในปี 2566 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกขาลง ตลอดจนภาวะตึงตัวในตลาดสินเชื่อที่ทำให้ต้นทุนการประคองกิจการของธุรกิจที่ประสบปัญหาในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสูงจนมิอาจยื้อกิจการต่อไว้ได้ อีกทั้งมาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทยอยหมดอายุลง
การล้มละลายของธุรกิจที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระค่าสินค้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ธุรกิจที่มีปัญหามักมีความพยายามที่จะปกปิดสถานะทางการเงินของตนเพื่อที่จะยังคงความน่าเชื่อถือในการดำเนินธุรกิจ จนกว่าจะมีการประกาศกิจการล้มละลาย ซึ่งก็จะทำให้คู่ค้าของธุรกิจดังกล่าวมักมีหนี้ทางการค้าที่ค้างชำระระหว่างกันจำนวนมาก
- เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ยังชะลอตัวลงได้อีก ประกอบด้วย
- สหรัฐฯ (ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย) : แม้ว่าในไตรมาสแรกปี 2566 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ 3% แต่มีสัญญาณชะลอตัวในระยะข้างหน้าจากดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ในเดือน เม.ย. 2566 ที่ลดลง 0.6% ต่อเนื่องจากที่ลดลง 1.2% ในเดือน มี.ค. 2566 ขณะที่หลายกลุ่มธุรกิจในสหรัฐฯ ทยอยประกาศลดพนักงาน โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี (Google, Amazon และ Microsoft) และกลุ่มค้าปลีกและ E-commerce (Walmart และ e-Bay) เพื่อควบคุมต้นทุนและรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น ตลอดจนความเสี่ยงจากปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ ที่พร้อมปะทุขึ้นอีก ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจพักยกการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน มิ.ย. 2566 ไว้ที่ระดับ 5-5.25% เพื่อรอดูสัญญาณเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ Deutsche Bank ระบุว่ามีโอกาสเกือบ 100% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 12 เดือนข้างหน้า และมีโอกาสจะเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างเร็วที่สุดภายในเดือน ต.ค. 2566
- จีน (ตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย) : โมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังเผชิญความเปราะบางที่แฝงอยู่หลายประการทั้งภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้า สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (Official PMI) ในเดือน พ.ค. 2566 ที่ปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 8 (ต่ำกว่า 50 ถือว่าหดตัว) ขณะที่ราคาสินทรัพย์ที่สะท้อนความมั่งคั่งของชาวจีนเผชิญกับโมเมนตัมเชิงลบ โดยเฉพาะราคาบ้านใหม่ที่ยังหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 เดือน และยังมีแนวโน้มถูกซ้ำเติมจากสัญญาณการส่งออกที่หดตัวถึง 7.5% ในเดือน พ.ค. 2566 ทำให้ทางการจีนต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มิ.ย. 2566 อีกทั้งยังมีแนวโน้มดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่ามาตรการต่างๆ จะช่วยคืนฟอร์มให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อของจีนในช่วงครึ่งหลังได้หรือไม่ ทั้งนี้ แม้การส่งออกไทยไปจีนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 จะขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 0.7% แต่ยังเป็นการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงเนื่องจากหากหักการส่งออกผลไม้ที่ขยายตัวสูงถึง 127% ออกไปพบว่าการส่งออกไทยไปจีนหดตัวสูงถึงราว 12% - วิกฤตหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่อาจปะทุขึ้นเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ โดยตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 รัฐบาลของแต่ละประเทศต่างเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้หลายประเทศประสบปัญหาขาดดุลการคลังสูงขึ้น มาจนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อจากราคาอาหารและพลังงาน จนทำให้หลายประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงขึ้น ซ้ำเติมปัญหาขาดดุลการคลังที่มีอยู่เดิม สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศที่เศรษฐกิจเปราะบางอยู่แล้วจากการมีหนี้สาธารณะในระดับสูง ไม่สามารถรับมือกับปัญหาจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างในปี 2565 กรณีของศรีลังกาและกานาที่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อระดับสูง เงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่ารุนแรง ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ และขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือกรณีอียิปต์ที่ประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรุนแรงและเกิดภาวะขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐตามมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยผู้ส่งออกไทยก็ต้องเผชิญความเสี่ยงในการผิดนัดชำระค่าสินค้าจากการที่ผู้นำเข้าปลายทางไม่สามารถหาเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อมาชำระค่าสินค้าได้ หรือบางกรณีคู่ค้าอาจไม่สามารถชำระค่าสินค้าจากการที่ค่าเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลงรวดเร็วจนทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวในปี 2566 ถือว่ายังไม่คลี่คลายลง โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นทุนทางการเงินมีแนวโน้มสูงขึ้นและตึงตัวทั่วโลก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้นต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งยังเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
กลยุทธ์ในการก้าวหลบกับระเบิด
- ประเมินความเสี่ยงประเทศ ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจโลกขาลง การทำความเข้าใจสถานการณ์ของตลาดส่งออก เพื่อประเมินความเสี่ยงประเทศคู่ค้าในเบื้องต้น จะช่วยให้ผู้ส่งออกบริหารจัดการความเสี่ยงด้านตลาดได้ดียิ่งขึ้น โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลความเสี่ยงประเทศที่จัดทำโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการจัดกลุ่มความเสี่ยงประเทศตาม Country Risk Classification ของ OECD ที่มีการจัดกลุ่มความเสี่ยงประเทศกว่า 170 ประเทศทั่วโลก แบ่งเป็น 8 กลุ่มความเสี่ยง คือ 0, 1, 2, 3, 4, 5, 6 และ 7 โดย 0 หมายถึง ความเสี่ยงต่ำสุด ตัวอย่างประเทศในกลุ่มดังกล่าว เช่น ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ และ 7 หมายถึง ความเสี่ยงสูงสุด เช่น ลิเบีย และรัสเซีย ขณะที่ไทยจัดอยู่ในกลุ่ม 3 โดยการจัดกลุ่มของ OECD สะท้อนความเสี่ยงในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านการชำระหนี้ต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการชำระหนี้ค่าสินค้า
- ประเมินความเสี่ยงคู่ค้า โดยการตรวจสอบสถานะทางการเงินของคู่ค้า การตรวจสอบประวัติการชำระเงิน รวมทั้งติดตามและเฝ้าระวังพฤติกรรมการชำระเงินว่ามีลักษณะที่ผิดไปจากปกติหรือไม่ เช่น การขอขยายเวลาการชำระค่าสินค้า หากพบว่ามีพฤติกรรมที่ผิดสังเกตหรือไม่มั่นใจ สามารถติดต่อ EXIM BANK เพื่อขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำ รวมถึงใช้บริการประเมินความเสี่ยงผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อในต่างประเทศ และนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและกำหนดเงื่อนไขการชำระเงิน รวมถึงใช้บริการประกันการส่งออก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหากไม่ได้รับชำระเงิน
ท่ามกลางกับระเบิดความเสี่ยงเศรษฐกิจและธุรกิจที่รอเวลาปะทุ ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกจำเป็นต้องติดตามและทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และควรเพิ่มความระมัดระวังความเสี่ยงทางการค้าอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการผิดนัดชำระค่าสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสัญญาณการล้มละลายของธุรกิจ โดย EXIM BANK พร้อมเดินเคียงข้างผู้ประกอบการสู้ศึกส่งออกอย่างมั่นใจด้วยบริการอย่างครบวงจร โดยเฉพาะการสแกนและปิดความเสี่ยงประเทศ/คู่ค้า เพื่อให้ธุรกิจสามารถหลบหลีกกับระเบิดและเดินเกมรุกตลาดส่งออกครึ่งหลังอย่างราบรื่น
ที่เกี่ยวข้อง
-
อยากได้ลูกเสือ ต้องเข้าถ้ำเสือ … 5 ความกล้าที่ SMEs ควรมี เพื่อคว้าชัยในปีเสือ
ต้องยอมรับว่าปี 2564 ที่ผ่านไป เป็นอีกหนึ่งปีที่ทรหดกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท่านผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ภายใต้วิกฤต COVID-19 ที่ยังรุมเร้าและส่งผลกระทบต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับปี 2565 แม้มีสัญ...
24.01.2022 -
ถอดบทเรียนสังคมไร้เงินสดในต่างประเทศ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้โลกเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสังคม ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีดังกล่าว คือ เทคโนโลยีทางการเงิน ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การเกิดขึ้นของ...
01.03.2019
-
จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก
ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...
19.06.2020 -
VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน
ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...
16.01.2019 -
5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19
5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...
18.05.2020