การเงินธนาคาร

อยากได้ลูกเสือ ต้องเข้าถ้ำเสือ … 5 ความกล้าที่ SMEs ควรมี เพื่อคว้าชัยในปีเสือ

ต้องยอมรับว่าปี 2564 ที่ผ่านไป เป็นอีกหนึ่งปีที่ทรหดกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท่านผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ภายใต้วิกฤต COVID-19 ที่ยังรุมเร้าและส่งผลกระทบต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับปี 2565 แม้มีสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะตามมาด้วยโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าความท้าทายและแรงกดดันต่อการดำเนินธุรกิจยังไม่ได้หายไปไหน รวมถึงเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะมีอุปสรรคเพียงใด ท่านต้องเอาความกล้าเข้าข่มความกลัว เพื่อบุกตะลุยฟันฝ่าความท้าทายต่างๆ เข้าไปช่วงชิงโอกาสทองที่รออยู่ ดังสุภาษิต “อยากได้ลูกเสือ ต้องเข้าถ้ำเสือ” ปี 2565 เป็นต้นไป SMEs ควรมีความกล้าใน 5 เรื่องสำคัญ ดังนี้

  1. กล้ายอมรับว่าต้องดำเนินธุรกิจภายใต้ COVID-19 ต่อไป

ปัจจุบันวิกฤต COVID-19 ยังไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดลง ล่าสุดเกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสในชื่อ Omicron ที่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า สะท้อนว่าสถานการณ์และปัญหาต่อการดำเนินธุรกิจที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจวกกลับมาเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากมาตรการ Lockdown ปัญหาระบบขนส่งและโลจิสติกส์มีความล่าช้า ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งทำให้วงจรธุรกิจและ Supply Chain ทั่วโลกสะดุดหรือไม่ราบรื่น นอกจากนี้ ในฝั่งของผู้บริโภคก็มีการปรับพฤติกรรมไปสู่รูปแบบใหม่ๆ ที่เรียกว่า Next Normal เช่น การรักษาระยะห่าง (Social Distancing) การให้ความสำคัญกับความสะอาดและการป้องกันเชื้อโรคเป็นประจำ การทำงานที่บ้าน (Work from Home) รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยและการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์

SMEs ต้องกล้ายอมรับความจริงว่าการดำเนินธุรกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ควรปรับธุรกิจให้เข้ากับ COVID-19 โดยเฉพาะการบริหารจัดการ การกระจายความเสี่ยง และการมีแผนสำรอง เริ่มตั้งแต่สำรวจสภาพคล่องทางการเงิน การไม่พึ่งพาแหล่งวัตถุดิบเพียงแห่งเดียว การกระจายตลาดและคู่ค้า รวมถึงมองหากลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานสุขอนามัย เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคและเป็นไปตามมาตรฐานการนำเข้าที่จะยิ่งเข้มงวดมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก

  1. กล้าทำการค้าออนไลน์

E-Commerce ถือเป็นทางรอดไม่ใช่ทางเลือกในยุค Next Normal เนื่องจากการค้าในช่องทางออฟไลน์หรือหน้าร้านปกติอาจไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอีกต่อไป สะท้อนจากในช่วงที่ COVID-19 แพร่ระบาดรุนแรงได้มีการใช้มาตรการ Lockdown หลายพื้นที่จนทำให้ร้านค้าต้องปิดทำการอย่างกะทันหัน ประกอบกับผู้บริโภคไม่กล้าออกไปจับจ่ายใช้สอย โดยยอดการค้าโดยรวมของโลกปี 2563 หดตัว 9% สวนทางกับยอดขาย E-Commerce โลกที่ขยายตัวสูงถึง 24% แตะระดับ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ eMarketer บริษัทวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่ายอดขาย E-Commerce โลกยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2564-2568 จะโตเฉลี่ย 11% ต่อปี และจะก้าวขึ้นมาเป็นช่องทางการค้าหลักในระยะถัดไป ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาด E-Commerce ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่จีน ครองสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของยอดขาย E-Commerce โลก ล่าสุดเทศกาลวันคนโสด 11.11 ปี 2564 ยอดขายในแพลตฟอร์ม Alibaba ตั้งแต่วันที่ 1-11 พ.ย. 2564 สูงถึง 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกตลาดที่กำลังมาแรงคืออินเดีย คาดว่ายอดขาย E-Commerce ปี 2564 จะโตสูงถึง 27%

SMEs ต้องกล้าทำการค้าออนไลน์และเข้าสู่เวที E-Commerce โลก ซึ่งเป็นขุมทรัพย์มหาศาลที่นับวันจะมีแต่เติบโตยิ่งขึ้น สำหรับ SMEs ที่ไม่คุ้นเคยกับการค้าออนไลน์อาจมองเป็นเรื่องยากหรือเป็นไปไม่ได้สำหรับคนตัวเล็กๆ แต่ปัจจุบันมีผู้ให้บริการและบริษัทที่ปรึกษาจำนวนมากที่ให้บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร ทั้งการชำระเงิน การขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน รวมถึงการทำการตลาดออนไลน์ ทำให้การค้าออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

  1. กล้าทำธุรกิจแบบรักษ์โลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น จนส่งผลให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่ (Climate Change to Climate Crisis) เช่น น้ำท่วมในออสเตรเลียหนักที่สุดในรอบศตวรรษ พายุฝนถล่มบราซิลรุนแรงที่สุดในรอบ 110 ปี วิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ล่าสุดองค์การสหประชาชาติ (UN) ย้ำเตือนให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสำคัญต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) เร่งหาแนวทางควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net-zero Emissions) ภายในปี 2593 ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศเตรียมบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น เช่น CBAM หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของ EU ที่จะเริ่มใช้ในปี 2569 กำหนดให้สินค้านำเข้าจากนอก EU ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง (เช่น ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า) ต้องซื้อ CBAM Certification โดยคิดค่าธรรมเนียมตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอัตราที่ EU กำหนด หรือมาตรการเก็บภาษีนำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ของสหราชอาณาจักรและสเปน

จะเห็นได้ว่า ความรุนแรงของผลกระทบจาก Climate Change และการบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มข้นของประเทศผู้นำเข้า ทำให้ SMEs ไทยต้องกล้าปรับการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับกระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยมลพิษ การออกแบบและใช้บรรจุภัณฑ์จากวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ ที่สำคัญต้องติดตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและที่เกี่ยวข้องของประเทศคู่ค้าอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสทางการค้า ขณะเดียวกันเพื่อยึดหัวหาดในการสร้างโอกาสขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

  1. กล้ากลายพันธุ์ธุรกิจ

SMEs ไทยหลายรายยังอยู่ใน Supply Chain เส้นเดิม กล่าวคือ ผลิตสินค้าแบบเดิมๆ ขาดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงกับ Supply Chain เส้นใหม่ของโลกที่ต้องการสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง อีกทั้งบางส่วนยังเป็นการผลิตที่เน้นปริมาณ (Mass Production) ทำให้ขาดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เฉพาะเจาะจงขึ้น (Personalization) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่มีส่วนฉุดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ล่าสุด International Institute for Management Development (IMD) จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันปี 2564 ไทยอยู่ที่ 28 จาก 64 ประเทศ ตามหลังเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับ 25 และ 5 ตามลำดับ รวมถึงดัชนีนวัตกรรมโลกปี 2564 (Global Innovation Index) ไทยก็อยู่อันดับที่ 43 ต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 36 และ 8 ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคในยุค Next Normal ที่มีความต้องการเปลี่ยนไปตาม Megatrends ใหม่ๆ โดยเฉพาะเทรนด์ GDH (Green, Digital, Health) อาจทำให้สินค้าแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป

หาก SMEs ไทยต้องการอยู่รอดในโลกที่มีการแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะต้องกล้ากลายพันธุ์หรือผ่าตัดธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปเสริมประสิทธิภาพธุรกิจ เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสอดรับกับกระแส Business Transformation ทั่วโลก โดยผลสำรวจของ International Data Corporation บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจของสหรัฐฯ ประเมินว่าภายในปี 2565 ราว 70% ของกลุ่มตัวอย่างบริษัททั่วโลกจะเร่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับธุรกิจใหม่ ทั้งการใช้หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับมนุษย์ (Cobot : Collaborative Robot) การใช้ Artificial Intelligence (AI) ในการคำนวณต้นทุนการผลิตและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การใช้ Big Data Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าเพื่อพัฒนาสินค้าและการทำตลาดแบบ Personalized Marketing

  1. กล้าออกจากฝั่ง

ปัจจุบัน SMEs ส่วนใหญ่ยังทำการค้าอยู่เฉพาะในประเทศ โดยในจำนวน SMEs ไทยที่อยู่ในระบบราว 3 ล้านราย มีไม่ถึง 1% ที่เป็นผู้ส่งออก เทียบกับเวียดนามที่มีสัดส่วนเกือบ 10% ทำให้ SMEs ไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันสูงภายในประเทศ ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศมีข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นขนาดตลาดที่ไม่ใหญ่มีประชากรราว 66 ล้านคน เล็กกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย 272 ล้านคน เวียดนาม 98 ล้านคน รวมถึงเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยไม่คึกคักเหมือนสังคมของผู้บริโภควัยหนุ่มสาว โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในไทยมีสัดส่วนมากถึง 18% ของประชากรรวม ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 12% อินโดนีเซีย 10%

ถึงเวลาแล้วที่ SMEs ไทยต้องกล้าก้าวออกจากตลาดในประเทศ กล้าออกจากฝั่งไปยังตลาดต่างประเทศที่เต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจอีกมาก ซึ่งปัจจุบันการเริ่มต้นส่งออกทำได้ไม่ยาก เนื่องจากมี
ตัวช่วยและผู้สนับสนุนหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานที่ให้ความรู้ด้านการส่งออก ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศครบวงจร เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ทั้งเงินทุนและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่จะช่วยให้ SMEs
ทำการค้าระหว่างประเทศได้อย่างสะดวกและมั่นใจ

จะเห็นได้ว่า มีความท้าทายต่างๆ รอให้ทุกท่านใช้ความกล้าพิชิตและฟันฝ่าไปคว้าความสำเร็จมาให้ได้ ในส่วนของ EXIM BANK ตระหนักดีถึงสถานการณ์ดังกล่าว จึงไม่ได้ปล่อยให้ท่านผู้ประกอบการต้องเดินเพียงลำพังอย่างเดียวดาย แต่ EXIM BANK พร้อมที่จะจับมือและให้ความช่วยเหลือทุกท่านในการเผชิญอุปสรรคต่างๆ ด้วยเครื่องมือทั้งการเงินและไม่ใช่การเงินอย่างครบวงจรในหลายมิติ โดยเฉพาะโครงการ EXIM Thailand Pavilion ซึ่งจะเป็นทางลัดให้ท่านผู้ประกอบการเข้าสู่เวที E-commerce โลกได้อย่างไม่ยากเย็น รวมถึงสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan แหล่งเงินทุนชั้นดีอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ เพื่อสนับสนุนการยกระดับหรือการกลายพันธุ์ธุรกิจของท่านไปสู่โลก Next Normal สุดท้ายนี้ ขออวยพรให้ผู้ประกอบการ
ทุกท่านสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งและก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ ไม่มีอะไรต้องกลัว หากเราเตรียมความพร้อมและมีใจอันกล้าแกร่งครับ

“The brave man is not he who does not feel afraid, but he who conquers that fear." (Nelson Mandela)

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview