การเงินธนาคาร

เวียดนาม...กับการก้าวขึ้นแท่นเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก

ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสินค้าโลก จนเป็นปัจจัยบั่นทอนสำคัญที่กดดันภาวะการค้าและเศรษฐกิจโลกในปี 2562 เวียดนามกลับเป็นประเทศที่ถูกจับตามองเพราะนอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าดังกล่าวแล้ว ยังจะได้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายของห่วงโซ่การผลิตสินค้า จากการที่บริษัทชั้นนำของโลกหลายรายรวมถึงบริษัทจากจีนย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากจีน ซึ่งการย้ายห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรมดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามการค้าและเพิ่มมากขึ้นหลังสงครามการค้าระอุ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าเวียดนามมีโอกาสขึ้นแท่นเป็นฐานการผลิตแห่งสำคัญของโลกในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ พัฒนาการทางเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความโชคดีที่นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะย้ายฐานมาลงทุนในเวียดนาม แต่การที่นักลงทุนต่างชาติเลือกที่จะลงทุนในประเทศใด ย่อมต้องพิจารณาเป็นอย่างดีแล้วว่าประเทศนั้นมีแต้มต่อหรือมีจุดแข็งที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการของตน ซึ่งบทความนี้จะขอฉายภาพให้เห็นพัฒนาการของเศรษฐกิจและภาคการผลิตของเวียดนามที่ทำให้ปัจจุบันเวียดนามยังคงรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ได้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน

บันไดความสำเร็จขั้นแรก...สู่การเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรและสิ่งทอ

            เวียดนามสามารถพลิกฟื้นจากในอดีตที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาหารจากนานาชาติ จนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรชั้นนำของโลก ได้แก่ พริกไทย (อันดับ 1 ของโลก) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ (อันดับ 1 ของโลก) กาแฟ (อันดับ 2 ของโลก) ข้าว (อันดับ 3 ของโลก) และยางพารา (อันดับ 4 ของโลก) ขณะเดียวกันปัจจุบันเวียดนามก็เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกของอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้นที่สำคัญของภูมิภาค ได้แก่ รองเท้า (อันดับ 2 ของโลก) และเครื่องนุ่งห่ม (อันดับ 3 ของโลก) โดยกุญแจสู่ความสำเร็จในการพัฒนาดังกล่าวมาจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ “Doi Moi” ที่รัฐบาลเวียดนามเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2529 โดยปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบปิดมาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบกลไกตลาดที่เปิดกว้าง และเปิดประเทศเพื่อเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของพื้นที่เพาะปลูกและแรงงานจำนวนมาก ทำให้ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในระยะหลังเวียดนามยังให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุน โดยมีการจัดทำข้อตกลง FTA กับหลายประเทศ/กลุ่มประเทศ ไม่เว้นแม้แต่การเข้าร่วมเป็นสมาชิกในข้อตกลง CPTPP ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าการลงทุนในประเทศให้เกิดความคล่องตัวและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ  จนปัจจุบันเวียดนามมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงเป็น 2 เท่าของ GDP ประเทศ ปัจจัยทั้งหมดนี้ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างแข็งแกร่งเฉลี่ยราว 6% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

บันไดขั้นที่สอง...สู่การเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ของภูมิภาค

            เวียดนามมีการพัฒนาภาคการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้การส่งออกต้องสะดุดหากความได้เปรียบจากแรงงานและทรัพยากรลดลง โดยสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจังและเปิดรับ การลงทุนจากต่างประเทศ จนปัจจุบันเวียดนามได้รับการยอมรับในฐานะเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของภูมิภาค เป็นผู้ผลิตและส่งออกโทรศัพท์มือถือสำคัญอันดับ 3 ของโลก โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการมีประชากรวัยแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ขณะที่อัตราค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับต่ำ โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 125-180 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ขึ้นอยู่กับพื้นที่เป็นสำคัญ เทียบกับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในเมืองอุตสาหกรรมสำคัญของจีนที่สูงกว่า 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

            นอกจากนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลเวียดนามดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกหลายรายตัดสินใจเลือกลงทุนในเวียดนามเพื่อใช้เป็นฐานการผลิต สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลเวียดนามที่จะก้าวไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยในอนาคต สำหรับความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่โดดเด่นที่สุดของเวียดนาม คือ กรณีของ Samsung Electronics จากเกาหลีใต้ ที่เข้าไปลงทุนและขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ปัจจุบันมีบริษัทลูก 4 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงงานผลิต Smartphone 2 แห่ง มีการจ้างแรงงานท้องถิ่นชาวเวียดนามราว 160,000 ตำแหน่ง มีกำลังการผลิตรวมกันราว 240 ล้านเครื่องต่อปี หรือคิดเป็นราว 50% ของการผลิต Smartphone ทั้งหมดของ Samsung ทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออก Smartphone มีสัดส่วนสูงถึง 25% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม นอกจากนี้ Samsung ยังมีแผนเปิดโรงงานผลิต Smartphone แห่งที่ 3 ในเวียดนาม หาก Samsung ตัดสินใจระงับการผลิต Smartphone จากโรงงานในจีน หลังประสบภาวะยอดขายลดลงในตลาดจีนจากการแข่งขันที่รุนแรงกับแบรนด์ท้องถิ่น และต้นทุนค่าจ้างแรงงานในจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

ก้าวถัดไปของเวียดนาม...แรงผลักดันจากสงครามการค้า ?

เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างชัดเจน สะท้อนได้จากการที่สหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากเวียดนามแทนจีนมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2562 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนลดลง 14% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่นำเข้าจากเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 40% ทำให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 7 ของสหรัฐฯ จากอันดับ 12 ในปี 2561 แซงหน้าฝรั่งเศส อินเดีย อิตาลี ไอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 มีมูลค่า 7,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการลงทุนใหม่ 1,082 โครงการ เพิ่มขึ้น 22.5% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 50.4% โดยจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของทุนจดทะเบียนจากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดในเวียดนาม ทั้งนี้ สาเหตุที่เวียดนามได้อานิสงส์จากสงครามการค้าดังกล่าวมาจากพัฒนาการของเวียดนามที่ก้าวผ่านบันไดขั้นต่างๆ จนเป็นฐานการผลิตสิ่งทอและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น การย้ายคำสั่งซื้อของสหรัฐฯ จากฐานการผลิตในจีนมายังฐานการผลิตในเวียดนามจึงทำได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ นักลงทุนซึ่งเดิมมีฐานการผลิตอยู่ในจีน หากต้องการกระจายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า ก็ย่อมมีเวียดนามเป็นประเทศลำดับต้นๆ ในใจ เนื่องจากเวียดนามมีอุตสาหกรรมสนับสนุนอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศที่สามารถสร้างความสมดุลด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับทั้งสหรัฐฯ และจีน

สำหรับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เวียดนามและสหรัฐฯ มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กันมาอย่างต่อเนื่องและเด่นชัดขึ้นจากการที่สหรัฐฯ เลือกเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐฯ ไม่มีท่าทีที่จะใช้มาตรการตอบโต้ใดๆ กรณีที่เวียดนามมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูงกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ทำให้นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับเวียดนามค่อนข้างชัดเจน แม้ล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้เพิ่มบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องเข้าข่ายจับตา (Watch List) เกี่ยวกับนโยบายค่าเงินจาก 6 ประเทศ เป็น 9 ประเทศ โดยมี 3 ประเทศที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่ คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ได้แสดงออกว่าจะใช้มาตรการกับเวียดนามอย่างจริงจัง ขณะที่ความสัมพันธ์กับจีน เวียดนามและจีนมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมากจากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกัน แม้ว่าทั้งสองประเทศเคยมีปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ แต่ก็สามารถหาทางออกร่วมกันด้วยดี ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีพัฒนาการในทางบวก ส่งผลให้มูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างจีนกับเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนได้จากในปี 2561 ที่มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเวียดนามทะลุ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่มูลค่าการลงทุนของจีนในเวียดนามก็เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% ต่อปีในช่วงปี 2554-2561 ส่งผลให้ในปี 2561 จีนก้าวขึ้นมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 5 ในเวียดนาม จากอันดับ 14 ในปี 2554 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 จีนลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า การรักษาสมดุลของความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เป็นคู่กรณีหลักของสงครามการค้าครั้งนี้ จึงเอื้อให้เวียดนามเป็นประเทศเป้าหมายการลงทุนที่มาแรงในปัจจุบัน

มีความเป็นไปได้มากว่าสงครามการค้าในรอบนี้อาจทำให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นประเทศแถวหน้าในการเป็นฐานการผลิตแห่งสำคัญของโลก อย่างไรก็ตาม การจะก้าวไปถึงจุดนั้นก็ยังมีความท้าทายรออยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็วของภาคอุตสาหกรรมที่จะส่งผลให้อัตราค่าจ้างแรงงาน รวมถึงต้นทุนค่าเช่าที่ดินและโรงงานเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดสำคัญในการรองรับการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต นอกจากนี้ การพึ่งพาการลงทุนจากต่างชาติเป็นหลักยังคงสร้างคำถามว่าแล้วผู้ประกอบการเวียดนามจะได้ประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวหรือไม่ ขณะเดียวกันในมุมของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ เวียดนามยังต้องเผชิญความท้าทายเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะประเด็นปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งธนาคารโลกมองว่าการที่เวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2588 เศรษฐกิจเวียดนามต้องขยายตัวเฉลี่ยอย่างน้อย 7% ต่อปีในช่วง 25 ปีข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่าการจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางนั้นเวียดนามไม่สามารถอาศัยแรงขับเคลื่อนเดิมๆ ในอดีต แต่ต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาแรงงานให้มีผลิตภาพที่สูงขึ้น มีความสามารถและทักษะในการทำงานที่หลากหลาย และการสนับสนุนให้นวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งต่อจากนี้คงต้องติดตามดูว่าเวียดนามจะประสบความสำเร็จในการก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตแห่งสำคัญของโลกและจะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากกับดักต่างๆ ที่เผชิญอยู่ได้อย่างไร

Related
more icon
  • มองพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ผ่านดัชนีนวัตกรรม GII 2019

    บริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจุดประกายให้นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญและพยายามอย่างมากให้เกิดขึ้น ปัจจุบันหลายประเทศดำเนินกลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือหาหนทางสร้างมูลค่าเพิ่มให...

    calendar icon18.02.2020
Most Viewed
more icon
  • จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก

    ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...

    calendar icon19.06.2020
  • VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน

    ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...

    calendar icon16.01.2019
  • 5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19

    5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...

    calendar icon18.05.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview