การเงินธนาคาร
บริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจุดประกายให้นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญและพยายามอย่างมากให้เกิดขึ้น ปัจจุบันหลายประเทศดำเนินกลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือหาหนทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาด ผ่านการใช้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดยหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ประเมินความสามารถด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศ คือ ดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index : GII) ที่จัดทำขึ้นโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อสะท้อนให้เห็นขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศทั่วโลก จากการสำรวจและจัดอันดับประเทศและเขตเศรษฐกิจครอบคลุม 129 ประเทศ โดย GII ประกอบด้วยดัชนีปัจจัยนำเข้าทางนวัตกรรม (Innovation Input) และดัชนีผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation Output) ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด 7 กลุ่ม ได้แก่ ด้านสถาบัน (Institutions) ด้านทุนมนุษย์และการวิจัย (Human Capital and Research) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านระบบตลาด (Market Sophistication) ด้านระบบธุรกิจ (Business Sophistication) ผลผลิตจากการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge and Technology Outputs) และผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (Creative Outputs) ในบรรดาสมาชิกอาเซียนทั้งหมด เวียดนามเป็นประเทศที่ได้คะแนนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนอันดับความสามารถด้านนวัตกรรมไต่ระดับขึ้นมาได้ถึง 17 อันดับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากอันดับ 59 ในปี 2559 เป็นอันดับ 42 ในปี 2562 ซึ่งดีกว่าที่เวียดนามตั้งเป้าหมายไว้ที่อันดับ 44 ในปี 2563
ผลผลิตจากการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี … ปัจจัยสำคัญที่หนุนให้ดัชนีนวัตกรรมเวียดนามไต่อันดับดีขึ้น
หากพิจารณาดัชนีนวัตกรรมในภาพรวมอาจสรุปได้ว่าดัชนีย่อยด้านผลผลิตจากการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านนวัตกรรม โดยหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของดัชนีย่อยในหมวดนี้ คือมูลค่าส่งออกสินค้า High-Tech ซึ่งเวียดนามประสบความสำเร็จอย่างมากในการก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้า High-Tech สำคัญของโลก สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ในช่วงปี 2552-2561 จนทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าในหมวดนี้มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 36 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของเวียดนามในปี 2561 เทียบกับร้อยละ 7 ในปี 2552 และหากเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียนพบว่าเวียดนามเป็นผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อันดับ 2 รองจากสิงคโปร์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า จุดเริ่มต้นของความสำเร็จในการเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าของเวียดนามล้วนมี “ประชากรเวียดนาม” เป็นแรงผลักดันสำคัญ ทั้งความได้เปรียบด้านโครงสร้างประชากรจากการที่เวียดนามมีประชากรวัยแรงงานมากถึง 67 ล้านคน หรือราวร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ และคุณภาพของประชากร โดยเฉพาะความสามารถด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้และต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม สังเกตจากสถิติคะแนน Program for International Student Assessment (PISA) ที่เวียดนามอยู่ในอันดับ 20 ของโลก และสูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกัมพูชา ความได้เปรียบทั้ง 2 ด้านดังกล่าวทำให้เวียดนามเป็นแหล่งแรงงานคุณภาพดีราคาถูกเหมาะกับการเป็นฐานผลิตสินค้า นอกจากนี้ เวียดนามยังมีความได้เปรียบจากตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากเกือบ 100 ล้านคน เมื่อประกอบกับเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ทำให้เวียดนามเป็นตลาดที่ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเวียดนามได้ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการลงทุน อาทิ การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติส่งกำไรกลับประเทศได้เสรี จึงไม่น่าแปลกใจที่เวียดนามจะเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม High-Tech ที่มีผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่หลายรายเข้ามาลงทุน อาทิ Samsung Electronics, LG Corporation, Intel Corporation และ Microsoft
นอกจากความสำเร็จในการดึงดูดผู้ผลิตสินค้า High-Tech ที่เป็นแบรนด์ระดับโลกแล้ว การที่แรงงานเวียดนาม
มีพื้นฐานความรู้เทคโนโลยีที่ดี ทำให้ผู้ประกอบการเวียดนามสามารถพัฒนาตนเองเข้าไปอยู่ใน Supply Chain ของสินค้าในกลุ่ม High-Tech ได้ โดยนำความรู้ที่ได้มาต่อยอดผลิตสมาร์ตโฟนราคาถูกเพื่อจำหน่ายในประเทศได้สำเร็จ อาทิ Vismart, Asanzo และ Bphone ทำให้ชาวเวียดนามมีสมาร์ตโฟนซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ง่ายใช้อย่างทั่วถึง นับเป็นการทลายข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตของชาวเวียดนาม และเป็นก้าวสำคัญในการสร้างนวัตกรรมในธุรกิจออนไลน์ของประเทศ ล่าสุด Vietnam Mobile App Market Report ระบุว่าในเวียดนามมีผู้ใช้สมาร์ตโฟนสูงถึงร้อยละ 72 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ตโฟนสูงถึง 42 ล้านคน เมื่อประกอบกับประชากรเวียดนามที่เกือบร้อยละ 40 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่กล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และมีทักษะด้านเทคโนโลยี จึงทำให้การคิดค้นและพัฒนาแอพพลิเคชั่น (ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดพัฒนาการด้านนวัตกรรมของประเทศ) ในเวียดนามขยายตัวอย่างก้าวกระโดด สะท้อนจากธุรกิจสตาร์ตอัพของเวียดนามที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน และมีธุรกิจสตาร์ตอัพที่มีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (Unicorn) แล้ว คือ VNG Corporation ที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับการสื่อสารคล้ายกับ LINE ชื่อ Zalo ซึ่งมีชาวเวียดนามใช้งานกว่า 15 ล้านคน และต่อยอดไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นอื่นๆ อาทิ 123 Pay (บริการชำระเงินออนไลน์) และ Zing (ให้บริการดาวน์โหลดเพลงและแพลตฟอร์มเกมออนไลน์) ขณะที่ธุรกิจ E-commerce ของเวียดนามเติบโตถึงร้อยละ 87 ต่อปี มีมูลค่าถึง 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย
โอกาสและความท้าทายของเวียดนามในระยะถัดไป
สำหรับก้าวต่อไปของเวียดนามในอุตสาหกรรม High-Tech คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มผ่อนคลายลง เพราะคาดว่าจะยังมีผู้ประกอบการจีนและผู้ประกอบการต่างชาติที่ลงทุนอยู่ในประเทศจีนที่ต้องการย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นเพื่อลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่อาจปะทุขึ้นได้อีกในอนาคต โดยเวียดนามยังคงเป็นประเทศแรกๆ ที่นักลงทุนเลือกเข้าไปลงทุน ประกอบกับเวียดนามบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (European Union-Vietnam Free Trade Agreement : EVFTA) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ทำให้ภาษีนำเข้าของสินค้ากว่าร้อยละ 99 ที่ค้าขายกันระหว่างเวียดนามกับ EU จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่ลดลง ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าเวียดนามสูงถึง 1.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวราวร้อยละ 10 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สูงสุดเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 4 และล่าสุดในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้าสู่เวียดนามสูงถึง 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในเวียดนาม อาทิ TCL Corporation (ผู้ผลิตโทรทัศน์และผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลก) สร้างโรงงานที่จังหวัด Binh Duong ด้วยเงินลงทุน 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังการผลิตโทรทัศน์สูงสุดปีละ 3 ล้านเครื่อง โดยมีเป้าหมายให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตโทรทัศน์ครบวงจรของจีนในอาเซียน และล่าสุด Foxconn อยู่ระหว่างเจรจากับหน่วยงานภาครัฐในกรุงฮานอยเพื่อตั้งโรงงานประกอบ iPhone ในเวียดนาม การที่บริษัทเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงเข้ามาลงทุนในเวียดนาม นอกจากช่วยเพิ่มเงินตราต่างประเทศจากการส่งออกสินค้าแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ชาวเวียดนามนำความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาต่อยอดจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ของเวียดนามที่อยู่ระหว่างการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าหลังจากที่ Vingroup (บริษัทเอกชนรายใหญ่ของเวียดนาม) ได้เริ่มผลิตรถยนต์แบรนด์ VinFast ออกจำหน่ายในเวียดนามมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งจากศักยภาพด้านต่างๆ ของเวียดนาม คาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนามในระยะข้างหน้าให้ขยายตัวได้ต่อเนื่องอย่างน่าจับตามอง สอดคล้องกับรายงานของ DBS Group ซึ่งประเมินว่าหากเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 6.0-6.5 ต่อปีในระยะ 10 ปีข้างหน้า จะส่งผลให้เวียดนามมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนแซงหน้าสิงคโปร์ในปี 2572 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เวียดนามจะก้าวไปสู่ตำแหน่งดังกล่าว ยังมีความท้าทายสำคัญที่เวียดนามต้องเผชิญและก้าวข้ามให้ได้ อาทิ การเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าที่ดิน รวมถึงค่าเช่าพื้นที่โรงงานตามการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันดัชนี GII ของเวียดนามให้ทรงตัวหรือหล่นลงได้ในระยะสั้น แต่หากเวียดนามเตรียมพร้อมรองรับการลงทุนได้ดี ด้วยการพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนหาโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนจนสร้างประโยชน์ (Spill Over Effect) ให้กับภาคการผลิตในประเทศได้อย่างลงตัว ดัชนี GII ในระยะยาวของเวียดนามก็อาจปรับสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มิใช่เป็นเพียงฐานการผลิตต้นทุนต่ำเท่านั้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนาเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนาข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่เกี่ยวข้อง
-
อยากได้ลูกเสือ ต้องเข้าถ้ำเสือ … 5 ความกล้าที่ SMEs ควรมี เพื่อคว้าชัยในปีเสือ
ต้องยอมรับว่าปี 2564 ที่ผ่านไป เป็นอีกหนึ่งปีที่ทรหดกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะท่านผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ภายใต้วิกฤต COVID-19 ที่ยังรุมเร้าและส่งผลกระทบต่อเนื่องมาโดยตลอด สำหรับปี 2565 แม้มีสัญ...
24.01.2022 -
จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก
ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...
19.06.2020
-
จับตา “AgriTech” เทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมภาคเกษตรโลก
ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอเมื่อโลกเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ราคาธัญพืชที่ใช้เป็นอาหารหลักมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ การที่ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้นมากในปี 2548-2550 ...
19.06.2020 -
VUCA World โลกแห่งความผันผวน ... New Normal ในยุคปัจจุบัน
ในปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้าได้บ่อยครั้งขึ้น จนถูกเรียกว่าเป็นยุค VUCA World หรือโลกแห่งความผันผวน โดย VUCA ย่อมาจาก Volatility คว...
16.01.2019 -
5 เทรนด์ธุรกิจหลัง COVID-19
5 เทรนด์ธุรกิจ หลังวิกฤต COVID-19 โดย นางขวัญใจ เตชเสนสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา โลกได้ผ่านบททดสอบจากความท้าทายและวิกฤ...
18.05.2020