เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ

ควรเลือกใช้เงินสกุลใดในการทำการค้าการลงทุนกับกัมพูชา

กัมพูชาเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ผู้ประกอบการไทยเข้าไปปักหมุดขยายตลาดการค้าการลงทุน
อย่างต่อเนื่อง โดยการค้าระหว่างไทยและกัมพูชามีมูลค่าถึง 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 ขยายตัวราว
ร้อยละ 10 ซึ่งการติดต่อค้าขายจำเป็นต้องใช้เงินสกุลใดสกุลหนึ่งเป็นสื่อกลางในการซื้อขาย รวมไปถึงการเข้าไปติดต่อธุรกิจหรือการเข้าไปลงทุนทำธุรกิจก็ต้องเกี่ยวข้องกับสกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินท้องถิ่น ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่าการทำธุรกิจกับกัมพูชา ผู้ประกอบการควรใช้สกุลเงินใดในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • เงินดอลลาร์สหรัฐ : กัมพูชาเป็นประเทศที่มีการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐอย่างแพร่หลาย จนอาจกล่าวได้ว่าใช้เป็นเงินสกุลหลักกันเลยทีเดียว สังเกตได้จาก Dollarization Ratio ของกัมพูชา ที่สูงถึงร้อยละ 84 ในปี 2559 หรือแปลง่ายๆ ว่าราวร้อยละ 84 ของเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบการเงินของกัมพูชา เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากมีโอกาสเดินทางไปเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างกรุงพนมเปญ จะพบว่าสินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่ปิดป้ายบอกราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึงธุรกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ก็ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ความนิยมใช้เงินดอลลาร์สหรัฐดังกล่าวทำให้ธุรกิจที่ประกอบกิจการในกัมพูชามีรายได้ส่วนใหญ่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าใช้จ่ายอย่างเงินเดือนพนักงานก็สามารถใช้เงินดอลลาร์สหรัฐจ่ายให้กับพนักงานได้เช่นกัน สำหรับด้านการค้าระหว่างประเทศ เงินดอลลาร์สหรัฐก็มีบทบาทมากเช่นกัน โดยการค้าระหว่างไทยและกัมพูชาใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสัดส่วนถึงราวร้อยละ 60
  • เงินเรียล : ปริมาณเงินฝากสกุลเรียล ซึ่งเป็นสกุลเงินท้องถิ่นของกัมพูชา มีสัดส่วนในระบบอยู่เพียงร้อยละ 16 แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เป็นรองสกุลเงินต่างประเทศอย่างดอลลาร์สหรัฐ โดยสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางไปยังกัมพูชาและพกเงินดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมเป็นหลัก ก็จะพบว่าเงินเรียลมีบทบาทเป็นเพียง
    เงินทอนหรือเป็นเงินย่อยสำหรับซื้อสินค้าที่ราคาต่ำกว่าหนื่งดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่สำหรับชาวกัมพูชาเองนั้น เงินเรียลนับว่ามีบทบาทมากขึ้น โดยชาวกัมพูชาใช้เงินเรียลเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันถึงราวร้อยละ 80 ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะชาวกัมพูชานิยมนำรายได้ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐไปฝากธนาคาร มิได้นำออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ บทบาทของเงินเรียลในเมืองรองและเมืองชนบทของกัมพูชายิ่งมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับในกรุงพนมเปญ ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชามีนโยบายส่งเสริมให้มีการใช้เงินเรียลมากขึ้น โดยเฉพาะกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กำหนดให้ใช้เงินเรียลในการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จ่ายภาษี และ
    จ่ายค่าสาธารณูปโภค ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในกัมพูชา ก็มีความจำเป็นต้องใช้
    เงินเรียลในการเสียภาษีและจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ด้วยเช่นกัน
  • เงินบาท : เงินบาทของไทยมีบทบาทในธุรกรรมส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยและกัมพูชา อยู่ราวร้อยละ 35-40 นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ยังสามารถใช้เงินบาทได้ทั่วไปในจังหวัดของกัมพูชาที่ติดกับชายแดนไทย เนื่องจากมี
    การไปมาหาสู่ติดต่อทำธุรกิจระหว่างกันค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เสถียรภาพของเงินบาทและความคล่องตัวใน
    การแลกเปลี่ยนนับเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทได้รับการยอมรับในการทำธุรกรรมต่างๆ ในกัมพูชา
  • เงินหยวน : เงินหยวนของจีนนับว่าทวีความสำคัญมากขึ้นตามนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในกัมพูชาเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาก็สนับสนุนการใช้เงินหยวนตามมาตรการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนและกระชับความสัมพันธ์กับจีน อย่างไรก็ตาม เงินหยวนยังไม่ใช่เงินสกุลหลักที่ใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกัมพูชา อีกทั้งยังไม่ได้ถูกใช้ในธุรกรรมการค้าระหว่างจีนและกัมพูชา ซึ่งมีมูลค่าอยู่ราว
    8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากยังคงนิยมใช้เงินดอลลาร์สหรัฐมากกว่า ทำให้ปัจจุบันจีนพยายามผลักดันให้กัมพูชาเปลี่ยนมาใช้เงินหยวนในการทำการค้าแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลกัมพูชาอยู่ระหว่างพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของนโยบายดังกล่าว ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะทำให้เงินหยวนทวีความสำคัญมากขึ้นทันที

 

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะติดต่อทำธุรกิจกับกัมพูชา เงินดอลลาร์สหรัฐถือเป็นสกุลเงินที่มีความคล่องตัวและได้รับความนิยมมากที่สุดทั้งด้านการค้าและการลงทุน รองลงมาเป็นเงินบาท ซึ่งสามารถใช้ทำการค้าขายระหว่างกัน ทั้งนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐมีบทบาทอย่างมากในกัมพูชามานานหลายสิบปีตั้งแต่ฟื้นฟูประเทศหลังสิ้นสุดยุคเขมรแดงราว
ปี 2523 เนื่องจากในช่วงเวลานั้นกัมพูชาได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสหประชาชาติ (UN) รวมทั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) ทำให้มีเงินดอลลาร์สหรัฐหลั่งไหลมายังกัมพูชาจำนวนมาก อีกทั้งสมาชิกของ NGOs ที่ลงพื้นที่มาทำกิจกรรมช่วยเหลือในด้านต่างๆ ก็มีการใช้จ่ายด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีบทบาทและถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในกัมพูชานับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับข้อดีและข้อเสียของการที่กัมพูชามีการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐกันอย่างแพร่หลาย มีดังนี้

 

ข้อดี

ข้อเสีย

·     กัมพูชามีเงินดอลลาร์สหรัฐในระบบค่อนข้างมาก
จึงไม่ประสบปัญหาขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐเหมือนประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ รวมทั้งสามารถดำเนินนโยบายโอนเงินระหว่างประเทศที่เสรีกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่อง
การขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐจากการโอนเงินกลับประเทศของนักลงทุน

·     ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้าไปลงทุนสามารถรับรายได้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ช่วยบรรเทาความเสี่ยงด้านความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินท้องถิ่น (เรียล) ซึ่งนับเป็นการลดต้นทุนการจัดการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน และการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ในระดับหนึ่ง

·     ธนาคารกลางกัมพูชามีต้นทุนการบริหารจัดการเสถียรภาพของเงินเรียลไม่สูงนัก

·     เงินท้องถิ่นมีบทบาทน้อย ทำให้กัมพูชาขาดเครื่องมือด้านอัตราแลกเปลี่ยนในการดำเนินนโยบายการเงิน

·     กัมพูชาต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่อยู่นอกเหนือ
การควบคุมของกัมพูชา

 

 

สุดท้ายนี้ ยังคงมีประเด็นด้านนโยบายการเงินของกัมพูชาที่ต้องติดตาม คือ การที่ธนาคารกลางกัมพูชาออกมาตรการกำหนดให้สถาบันการเงินในกัมพูชาปล่อยกู้เป็นสกุลเงินเรียลอย่างน้อยร้อยละ 10 ของยอดคงค้าง (Outstanding) ที่ปล่อยกู้ของแต่ละธนาคาร โดยจะให้มีผลบังคับใช้ในปี 2562 เพื่อกระตุ้นความต้องการใช้เงินเรียลท่ามกลางกระแสคัดค้านและการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างถึงผลกระทบว่าระเบียบดังกล่าวอาจสร้างความวุ่นวายในทางปฏิบัติ เนื่องจากจะส่งผลให้ความต้องการเงินเรียลเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและอาจทำให้ปริมาณเงินเรียลมีไม่พอใช้ในระบบการเงิน ทั้งนี้ ในเบื้องต้นคาดว่ามาตรการดังกล่าวอาจส่งผลต่อค่าเงินเรียลเป็นหลัก จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยไม่มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการไทยยังคงใช้เงินดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทเป็นสกุลเงินหลักในการทำธุรกิจกับกัมพูชา แต่ต้องติดตามสถานการณ์ และเพิ่มความระมัดระวังในธุรกรรมที่ต้องใช้เงินเรียล

Most Viewed
more icon
  • Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว

    การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...

    calendar icon01.04.2019
  • เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว

    เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...

    calendar icon01.07.2019
  • ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้ฉบับใหม่ของ สปป.ลาว

    ในช่วงที่ผ่านมา สปป.ลาว ทยอยปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ที่มีการปรับปรุงและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กุม...

    calendar icon31.03.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview