เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ (Discontinued)
ประเด็นความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนกลายเป็นหนึ่งกระแสหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และทำให้เครื่องมือในการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) มีบทบาทมากขึ้นตามไปด้วย สะท้อนได้จากมูลค่าการออก Green Bond ทั่วโลกในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ที่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งและทั้งปี 2564 มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังเป็นกลุ่มที่ครองตลาด Green Bond ของโลก แต่กลุ่มประเทศตลาดใหม่ซึ่งรวมถึงประเทศในอาเซียนก็เริ่มเกาะกระแสการเติบโตของตลาด Green Bond ซึ่งคาดว่าในอนาคตตลาด Green Bond ในอาเซียนจะเติบโตมากขึ้นเป็นลำดับ ตามการตื่นตัวรับกระแส Green Recovery หลังวิกฤต COVID-19
ภาพรวมตลาด Green Bond โลก
- มูลค่าการออก Green Bond ทั่วโลกเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าสะสมในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อยู่ที่ 55 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงแซงหน้ามูลค่าสะสมของทั้งปี 2563 ที่ 2.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
- มูลค่าการออก Green Bond สะสมของทั้งปี 2564 จะเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 4-4.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกหลังวิกฤต COVID-19 ที่จะมุ่งไปสู่ Green Recovery
ส่องทิศทางตลาด Green Bond ในอาเซียน
ตลาด Green Bond ที่น่าสนใจในอาเซียน
- ตลาด Green Bond ในอาเซียนมีสัดส่วนราว 2-3% ของมูลค่าการออก Green Bond ทั้งหมดของโลก ซึ่งถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับสัดส่วนตลาด Green Bond ของประเทศพัฒนาแล้วที่ราว 80% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศในอาเซียนเพิ่งเริ่มออก Green Bond เป็นครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีการพัฒนาตลาด Green Bond มายาวนานกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม การออก Green Bond มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนตลาด Green Bond ในอาเซียน ทั้งผู้ออก Green Bond และนักลงทุนมีประสบการณ์และให้ความสนใจเพิ่มขึ้น อีกทั้งกฎเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการออก Green Bond ยังมีความชัดเจน และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
- มูลค่าการออก Green Bond ในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในปี 2563 จะขยายตัวเพียง 3% ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ขยายตัวสูงถึง 50% ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้การออก Green Bond บางส่วนต้องชะลอออกไป
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีมูลค่าการออก Green Bond สูงที่สุดในอาเซียน โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการนำร่องของรัฐบาลอินโดนีเซียในการออกตราสารหนี้อิสลามสีเขียว (Green Sukuk) ในปี 2561 มูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระดมทุนไปใช้ลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการพลังงานทดแทน โครงการระบบขนส่งด้วยพลังงานสะอาด และโครงการบริหารจัดการขยะ ขณะที่ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2563 บริษัท Star Energy Geothermal (Dajarat II) ได้ออก Green Bond มูลค่า 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อระดมทุนไปใช้ในโครงการพลังงานทดแทน
ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกที่ออก Green Bond ภายใต้มาตรฐาน ASEAN Green Bond Standard โดยสถาบันการเงินเป็นผู้ออก Green Bond รายสำคัญเพื่อระดมทุน อาทิ Bank of Philippines Islands (BPI) ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของฟิลิปปินส์ ออก Green Bond เพื่อระดมทุนในตลาดยุโรปเป็นสกุลเงินฟรังก์สวิสเมื่อปี 2562 เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่การออก Green Bond ส่วนใหญ่จะมาจากภาคธนาคาร เพื่อนำเงินที่ได้ไปปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสีเขียว (Green Loan)
สำหรับประเทศไทยตลาด Green Bond เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการออก Green Bond ในปี 2563 อยู่ที่ 1,039 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นราว 20% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการออก Green Bond จากภาคเอกชนเป็นหลัก อาทิ BTS Group Holding ที่ออก Green Bond เพื่อนำเงินไปสนับสนุนโครงการระบบขนส่งที่ลดการปล่อยคาร์บอน (Low Carbon Transportation) และ Ratch Group PCL ที่ออก Green Bond เป็นครั้งแรกเพื่อนำเงินไปพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนและโครงการรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ประเทศไทยออก Green Bond ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากลเป็นครั้งแรกในปี 2561 ขณะที่ตลาด Green Bond ก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแรงผลักดันทั้งจากด้าน Supply ที่ภาคเอกชนมีการออก Green Bond มากขึ้น ขณะที่ด้าน Demand ก็ได้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุน สะท้อนได้จากยอดแสดงความจำนงลงทุนใน Green Bond ของนักลงทุนที่สูงกว่ามูลค่า Green Bond ที่เสนอขายหลายเท่าในช่วงที่ผ่านมา
ปัจจัยสนับสนุนการออก Green Bond…ตัวเร่งการลงทุนโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจาก Green Bond จะทำให้ผู้ออก Bond และนักลงทุนมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในตลาดแล้ว ตลาด Green Bond ในอาเซียนยังได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ไม่ว่าจะเป็นการเสนอมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการออก Green Bond ของประเทศในอาเซียน การสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้แก่องค์กรท้องถิ่นที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินตราสารหนี้ และการจัดทำ Information Platform เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลการออก Green Bond ทุกรุ่นในอาเซียน ผ่านเว็บไซต์ www.asianbondonline.org ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้จะช่วยส่งเสริมและผลักดันตลาด Green Bond ในอาเซียนให้เติบโตต่อไป
ที่เกี่ยวข้อง
-
ส่องทิศทาง Digital-only Bank...คลื่นลูกใหม่ในวงการธนาคาร
การทำธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบและสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะหลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ข...
30.12.2020 -
-
Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว
การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...
01.04.2019 -
เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว
เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...
01.07.2019 -
ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้ฉบับใหม่ของ สปป.ลาว
ในช่วงที่ผ่านมา สปป.ลาว ทยอยปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ที่มีการปรับปรุงและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กุม...
31.03.2020