เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ (Discontinued)
ปัจจุบันอินโดนีเซียติด 1 ใน 10 ประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลก โดยระดับการปล่อยคาร์บอนของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นกว่า 313% เมื่อเทียบกับระดับในปี 2533 รัฐบาลอินโดนีเซียจึงต้องกำหนดกลไกควบคุมการปล่อยคาร์บอนภายในประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ภายใต้ Paris Agreement ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 29% ภายในปี 2573 และตั้งเป้า Net Zero Emissions ภายในปี 2603 ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ การจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ภายใต้กฎหมาย Harmonized Tax Law ที่ประกาศใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการนำมาตรการภาษีคาร์บอนมาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ขณะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ 4 ในเอเชีย และประเทศที่ 2 ในอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ที่ริเริ่มการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นที่คาดว่านอกจากภาษีดังกล่าวจะช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวแล้ว ยังจะมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ภาครัฐให้อินโดนีเซียอีกทางหนึ่ง
รู้จักภาษีคาร์บอน...ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อการลดโลกร้อน
ภาษีคาร์บอนถือเป็นค่าธรรมเนียมหรือภาษีที่รัฐบาลอินโดนีเซียเรียกเก็บจากบุคคลหรือองค์กรที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตหรือดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่สูงกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนด โดยจะนำปริมาณคาร์บอนส่วนเกินดังกล่าวมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ทั้งนี้ ในระยะแรกรัฐบาลอินโดนีเซียจะนำร่องบังคับใช้ภาษีคาร์บอนกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณมาก คิดเป็นสัดส่วนราว 35% ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดในอินโดนีเซีย ซึ่งภายใต้มาตรการภาษีคาร์บอนมีการแบ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็น 3 ประเภทและกำหนดเกณฑ์ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนในแต่ละประเภท ซึ่งปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่เกินเกณฑ์ที่กำหนดจะถูกนำมาคำนวณภาษี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิตมากกว่า 400 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) : จำกัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ 0.918 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (tons of CO2 per MWh)
2)โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิต 100-400 MWh : จำกัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ 1.013 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง
3) โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิต 100-400 MWh ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เหมืองถ่านหิน : จำกัดปริมาณการปล่อยคาร์บอนที่ 1.094 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง
เป็นที่สังเกตว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า 100 MWh จะยังไม่ถูกเรียกเก็บภาษีคาร์บอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับพื้นที่นอกเกาะชวาและเกาะสุมาตรา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชนบท อีกทั้งการปล่อยคาร์บอนของโรงไฟฟ้าดังกล่าวยังมีปริมาณไม่สูงมากนัก คิดเป็น 6.3% ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากโรงไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ
อัตราภาษีคาร์บอนของอินโดนีเซีย...ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
กฎหมาย Harmonized Tax Law ของอินโดนีเซีย มีการกำหนดอัตราภาษีคาร์บอนโดยอ้างอิงจากราคาซื้อขายคาร์บอนในตลาด และต้องไม่ต่ำกว่า 30,000 รูเปียะห์ต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tons of CO2e) หรือราว 2.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อ tons of CO2e ทั้งนี้ หากอ้างอิงราคาขั้นต่ำที่ 2.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อ tons of CO2e พบว่าอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราภาษีคาร์บอนต่ำที่สุดในโลก และต่ำกว่าอัตราภาษีคาร์บอนขั้นต่ำที่ IMF แนะนำไว้ที่ระดับสูงกว่า 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อ tons of CO2e* อยู่มาก
หมายเหตุ : *ระดับอัตราภาษีคาร์บอนขั้นต่ำในปี 2573 ที่ IMF แนะนำสำหรับกลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส ดังนี้
- กลุ่มประเทศ Advanced Economies ควรจะอยู่ที่ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อ tons of CO2e
- กลุ่มประเทศ High-income Emerging Markets อาทิ จีน ควรจะอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อ tons of CO2e
- กลุ่มประเทศ Lower-income Emerging Markets อาทิ อินเดีย และอินโดนีเซีย ควรจะอยู่ที่ 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อ tons of CO2
การบังคับใช้ภาษีคาร์บอนของอินโดนีเซีย ... ถูกเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้งจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ
การบังคับใช้ภาษีคาร์บอนของอินโดนีเซียถูกเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งตามแผนเดิมจะประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2565 แต่ถูกเลื่อนออกมาเป็นเดือนกรกฎาคม 2565 ก่อนจะถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียมองว่าประเทศกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อสูง ประกอบกับความกังวลต่อภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหากมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอนในช่วงนี้จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับหลายฝ่ายจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย ท่ามกลางสถานการณ์ราคาอาหารและพลังงานในประเทศที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจะบังคับใช้ภาษีคาร์บอนก่อนสิ้นปี 2565 โดยจะเก็บภาษีคาร์บอนกับโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อนตามเดิม หลังจากนั้นจะขยายขอบเขตการเก็บภาษีคาร์บอนไปยังธุรกิจประเภทอื่นตามความเหมาะสมในระยะข้างหน้าและจะผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trading) อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2568
ภาษีคาร์บอน...อีกหนึ่งช่องทางการเพิ่มรายได้ของภาครัฐ
นอกจากภาษีคาร์บอนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังสามารถช่วยเพิ่มรายได้ภาครัฐอีกทางหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนนี้ไปใช้พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการนำกลับมาลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนอีกต่อหนึ่ง โดยมี Scenarios ของรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ดังนี้
อัตราภาษีคาร์บอนต่อ tons of CO2e |
คาดการณ์รายได้ต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นต่อปี |
30-100 ดอลลาร์สหรัฐ |
1.5% |
5-10 ดอลลาร์สหรัฐ |
0.2-0.3% |
2.1 ดอลลาร์สหรัฐ |
0.04% |
ที่มา : IMF, World Bank, Bahana Sekuritas และ Center of Indonesia Taxation Analysis
การที่อินโดนีเซียริเริ่มนำระบบภาษีคาร์บอนมาใช้อาจยังไม่สามารถควบคุมให้มีการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้มากนักในระยะสั้น แต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของอินโดนีเซียในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ให้ไว้ภายใต้ Paris Agreement รวมถึงเป็นการวางโครงสร้างระบบบริหารจัดการการปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม จึงคาดได้ว่าในระยะข้างหน้าหากอินโดนีเซียปรับปรุงมาตรการภาษีคาร์บอนให้ดีขึ้นตามคำแนะนำขององค์กรต่างๆ ก็จะมีส่วนทำให้ภาษีคาร์บอนมีส่วนช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนและการเพิ่มรายได้ภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญ
ที่เกี่ยวข้อง
-
Harmonized Tax Law … การปรับปรุงกฎหมายด้านภาษีครั้งสำคัญของอินโดนีเซีย
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอินโดนีเซียมีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากช่วงปลายปี 2563 ที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมาย Omnibus Law ซ...
31.03.2022 -
โอกาสที่แฝงตัวหลังอินโดนีเซียเร่งเครื่องโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
ในการรับมือกับ COVID-19 หลายประเทศมีแผนตัดลดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำเงินมาใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่อินโดนีเซียกลับประกาศเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในปี 2563-2567 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามยุทธศาสตร์ของรัฐ...
01.07.2021
-
Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว
การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...
01.04.2019 -
เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว
เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...
01.07.2019 -
ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้ฉบับใหม่ของ สปป.ลาว
ในช่วงที่ผ่านมา สปป.ลาว ทยอยปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ที่มีการปรับปรุงและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กุม...
31.03.2020