เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ

รู้รอบเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ... พร้อมรับมือค่าเงินผันผวน

ปี 2565 ถือได้ว่าเป็นปีที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในแต่ละครั้งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อผลกำไรและภาวะขาดทุนของธุรกิจ ดังนั้น การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกอัตราแลกเปลี่ยน ไปจนถึงวิธีการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการรับมือกับความผันผวนของค่าเงินได้ดียิ่งขึ้น โดยประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับค่าเงินที่ผู้ประกอบการควรรู้ในเบื้องต้น มีดังนี้

สถานการณ์ค่าเงินบาท … ผันผวนในทิศทางอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา

ค่าเงินบาทยังคงผันผวนสูง โดยทำสถิติอ่อนค่าหนักสุดในรอบ 16 ปี เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา แตะระดับ 36.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะแข็งค่ามาอยู่ที่ราว 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน นับเป็นการอ่อนค่าลงราว 7% จากต้นปี 2565 ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเป็นผลจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอก สำหรับปัจจัยภายในส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ขณะที่ปัจจัยภายนอกมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้เร็วทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี รวมถึงการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของเงินบาทถือเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกไทยโดยรวมทั้งในด้านความได้เปรียบด้านราคา และรายรับในรูปเงินบาทที่เพิ่มขึ้น สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะถัดไป หากการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวได้เร็วและผลักดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลได้อาจทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้บ้างเช่นกัน

ข้อสังเกต

แม้ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบสกุลเงินหลักอื่น อาทิ เยน ยูโร และปอนด์ เงินบาทของไทยกลับมีทิศทางแข็งค่า

 

ทำความเข้าใจปัจจัย 3 ระดับ ที่ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน

อัตราแลกเปลี่ยนเปรียบได้กับราคาของเงินสกุลหนึ่ง โดยกลไกราคาดังกล่าวจะเป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานของเงินสกุลนั้น ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบมีหลากหลายตัวแปรและสามารถแบ่งระดับชั้นของการส่งผลกระทบได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • ดุลบัญชีเดินสะพัด

ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สะท้อนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดแสดงถึงปริมาณสุทธิของรายรับและรายจ่ายของภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินสกุลท้องถิ่น โดยหากประเทศเกินดุลบัญชีเดินสะพัด หรือรายรับจากการส่งออกสินค้าและบริการมากกว่ารายจ่ายจากการนำเข้าสินค้าและบริการ ประเทศจะมีเงินสกุลต่างประเทศเข้ามาในระบบมากขึ้นและเงินดังกล่าวจะถูกนำมาแลกเป็นเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อใช้ในประเทศ ซึ่งทำให้ความต้องการเงินสกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นและส่งผลให้มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ในทางกลับกัน หากประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หรือรายจ่ายในการนำเข้าสินค้าและบริการสูงกว่ารายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ จะส่งผลให้ประเทศมีเงินสกุลต่างประเทศเข้ามาในระบบน้อยกว่าความต้องการใช้เพื่อจ่ายค่าสินค้าและบริการ ก็จะส่งผลในทิศทางตรงกันข้าม นั่นคือ เงินสกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

  • นโยบายการเงิน
    • นโยบายอัตราดอกเบี้ย นับเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่ออัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากในตลาดการเงินโลกนักลงทุนมีแนวโน้มย้ายเงินลงทุนออกจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำไปยังประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการไหลเข้าออกของเงินทุนในแต่ละประเทศจนส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน

ปัจจุบันนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นตัวแปรที่ตลาดให้ความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินที่ใช้แพร่หลายที่สุดในโลก ดังนั้น จากสถานการณ์ปัจจุบันที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนแตะระดับ 3.25-3.50% ภายในปี 2565 ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดการไหลกลับของเงินทุนจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกลับเข้าสหรัฐฯ มากขึ้น และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ซึ่งในทางกลับกันสกุลเงินอื่นก็มีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวอย่างของสกุลเงินที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว อาทิ เงินเยนของญี่ปุ่น และเงินบาทของไทย อย่างไรก็ตาม เป็นที่สังเกตได้ว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินทุนเสมอไป เช่นในกรณีของอินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าสหรัฐฯ แต่ยังเผชิญกระแสเงินทุนไหลออก เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อค่าเงินมากกว่า

    • นโยบายการดูแลค่าเงิน โดยทั่วไปธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีหน้าที่ดูแลและแทรกแซงค่าเงินไม่ให้ผันผวนมากเกินไปจนอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดกรณีที่สกุลเงินประเทศใดประเทศหนึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่ารวดเร็ว ธนาคารกลางอาจจำเป็นที่จะต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินด้วยการนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาซื้อเงินสกุลท้องถิ่นในตลาดเพื่อให้ความต้องการเงินสกุลท้องถิ่นในตลาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลง
  • เสถียรภาพของประเทศ

เสถียรภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการเมือง เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนระหว่างประเทศ ดังนั้น เสถียรภาพของประเทศในด้านต่างๆ ที่มั่นคงและมีแนวโน้มดี ย่อมดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นและจะช่วยทำให้เงินสกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ขณะที่หากเสถียรภาพของประเทศมีความไม่แน่นอน อาทิ เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ และเศรษฐกิจผันผวนและมีแนวโน้มซบเซา ก็จะส่งผลให้เกิดการถอนการลงทุนและนำเงินออกนอกประเทศ ซึ่งก็จะทำให้เงินสกุลท้องถิ่นมีแนวโน้มอ่อนค่า

กลยุทธ์รับมือค่าเงินผันผวนด้วยหลายเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง

ผู้ประกอบการสามารถจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ด้วยเครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเครื่องมือแต่ละประเภทมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

นอกเหนือจากการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้ประกอบการยังควรติดตามสถานการณ์และแนวโน้มค่าเงินอยู่สม่ำเสมอ รวมถึงอาจพิจารณาใช้แนวทางอื่นๆ ในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนร่วมด้วย อาทิ ในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าเช่นปัจจุบัน ผู้นำเข้าสินค้าและวัตถุดิบอาจลองหา Supplier ในประเทศ เพื่อลดแรงกดดันจากค่าเงิน ขณะที่ผู้ส่งออกสามารถใช้ความได้เปรียบด้านราคาในการรุกทำการตลาดในต่างประเทศเพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาไปทุ่มเทกับการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนมองหาลู่ทางในการขยายการค้าการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าค่าเงินจะผันผวนไปในทิศทางใดอีก

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว

    การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...

    calendar icon01.04.2019
  • เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว

    เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...

    calendar icon01.07.2019
  • ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้ฉบับใหม่ของ สปป.ลาว

    ในช่วงที่ผ่านมา สปป.ลาว ทยอยปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ที่มีการปรับปรุงและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กุม...

    calendar icon31.03.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview