เกร็ดการเงินระหว่างประเทศ

เมื่อการแก้วิกฤต Climate Change ต้องการความช่วยเหลือจาก Sustainable Finance

การประชุม The UN Climate Change Conference of the Parties ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ณ ประเทศอียิปต์ ที่เพิ่งปิดฉากลงไป ยังคงตอกย้ำการแก้ปัญหา Climate Change ของนานาประเทศ โดยเฉพาะความต้องการทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนาทั้งในการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบจาก Climate Change ตลอดจนความต้องการทางการเงินในการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ Sustainable Finance ถือเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มความต้องการทางการเงินดังกล่าว โดยประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้

Climate Change ที่ชัดเจนขึ้นจนเป็นปัญหาที่โลกต้องเร่งแก้ไข

Climate Change เป็นปัญหาที่คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยผลสำรวจของ Pew Research Center ใน 19 ประเทศ เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 พบว่า 3 ใน 4 ของผู้ถูกสำรวจเห็นว่า Climate Change เป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศและต่อตนเอง และสูงกว่าประเด็นปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารเท็จบนโลกออนไลน์ การถูกโจมตีทางไซเบอร์จากต่างประเทศ ปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจโลก และการแพร่กระจายของโรคติดต่อ ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ Climate Change แม้ว่าโลกเพิ่งผ่านวิกฤตโรคติดต่อครั้งใหญ่อย่าง COVID-19 มาไม่นาน

การตระหนักถึงปัญหา Climate Change ที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทวีความรุนแรงมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะล่าสุดกรณีเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในปากีสถานเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งคร่าชีวิตประชากรถึงราว 1,700 ราย ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่นักวิจัยด้านภูมิอากาศเห็นว่าเกิดจากภาวะโลกร้อนที่ส่งผลให้ปากีสถานเผชิญปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

Climate Change สร้างภาระทางการเงินจากความเสียหายที่เกิดขึ้นและต้นทุนในการแก้ปัญหา

นานาประเทศต่างมีความต้องการเงินเพิ่มขึ้นจากปัญหา Climate Change ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 มิติ ดังนี้

  • ความต้องการเงินสำหรับซ่อมแซม/เยียวยาผลกระทบที่เกิดจากภัยธรรมชาติ อาทิ กรณีของเหตุอุทกภัยในปากีสถาน ซึ่งทางการปากีสถานประเมินว่าสร้างความเสียหายถึงราว 3-4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลปากีสถานต้องเผชิญภาวะขาดแคลนงบประมาณในการบริหารประเทศ จนทำให้องค์กรระหว่างประเทศต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทางการเงิน ทั้งนี้ Swiss Re Institute กลุ่มธุรกิจประกันภัยชั้นนำของโลกประเมินว่าหากไม่สามารถหยุดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ตามเป้าหมาย โลกจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกสูงราว 11-13.9% ของมูลค่า GDP โลกในปี 2593

  • ความต้องการเงินสำหรับการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยประเทศต่างๆ ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสีเขียวและเทคโนโลยีสะอาดเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่แต่ละประเทศได้ตั้งเป้าไว้ เช่นเดียวกันกับภาคธุรกิจหลายรายที่ประกาศจุดยืนในการลดคาร์บอน อาทิ Toyota และ Honda ประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ขณะที่ผู้ประกอบการไทย อาทิ เครือ CP ประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2573 ทั้งนี้จากงานศึกษาของ McKinsey พบว่าโลกต้องลงทุนในสินทรัพย์หรือโครงการราว 275 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2564-2593 หรือเฉลี่ยราว 9.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อที่จะผลักดันโลกเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions โดยหากเทียบกับค่าเฉลี่ยเงินลงทุนในปัจจุบันที่ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ก็จะเห็นว่าโลกยังต้องการลงทุนใหม่อีกราว 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

Sustainable Finance … เครื่องมือปิดช่องว่างทางการเงินในการแก้ปัญหา Climate Change

ในการแก้ปัญหา Climate Change ภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศต่างๆ ยังต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งการเงินเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Finance ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว โดยข้อมูลจาก Standard Chartered พบว่าในปี 2564 มูลค่า Sustainable Finance ของโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.67 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของทั้งภาคการเงิน ภาคธุรกิจ และนักลงทุน ในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมผ่านกลไก Sustainable Finance

ทั้งนี้ คาดว่าการเติบโต Sustainable Finance จะยังคงเป็นกระแสหลักทางการเงินในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าเพื่อเร่งลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยการพัฒนา Sustainable Finance ในอนาคตจะก้าวหน้าไปทั้งมิติด้านมูลค่า มิติด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ และมิติด้านมาตรฐานที่ต้องพัฒนาขึ้นใช้ร่วมกันเป็นกติกาสากล

สำหรับ EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทในการมุ่งผลักดันธุรกิจ BCG ของไทย โดยที่ผ่านมาธนาคารมีบทบาทในการสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินดังกล่าวสอดคล้องไปกับกระแส Sustainable Finance ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2565 EXIM BANK ได้ออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเติมเต็มบทบาทการสนับสนุนธุรกิจสีเขียวของไทยเป็นไปอย่างครบวงจรมากขึ้น

 

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Most Viewed
more icon
  • Q&A ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับการหาพื้นที่ลงทุนใน สปป.ลาว

    การหาพื้นที่เพื่อตั้งกิจการนับเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องที่ดินที่แตกต่างกัน ไม่เว้นแม้แต่ใน สปป.ลาว ที่เป็นตลาดบ้านใกล้เรือนเค...

    calendar icon01.04.2019
  • เอกสารสำคัญที่ควรรู้ก่อนลงทุนใน สปป.ลาว

    เมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจออกไปลงทุนในต่างประเทศ การปฏิบัติตามขั้นตอนการขออนุญาตลงทุนเป็นเสมือนหน้าด่านที่จะสื่อให้เห็นถึงความตั้งใจในการปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาให้ละเอียดและทำความเข...

    calendar icon01.07.2019
  • ข้อควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายภาษีเงินได้ฉบับใหม่ของ สปป.ลาว

    ในช่วงที่ผ่านมา สปป.ลาว ทยอยปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดรับกับบริบททางสังคมและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาว ที่มีการปรับปรุงและเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 กุม...

    calendar icon31.03.2020
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview