รู้ทันเกมการค้า

เจอเล่ห์ตัวแทนการค้าปลอม : สูญเงิน....เสียเวลา

เวลามีผู้ซื้อรายใหญ่ชื่อเสียงดีเป็นที่รู้จักเข้ามาติดต่อสั่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะที่เป็นรายใหม่ มักรู้สึกตื่นเต้นยินดีและรีบจัดส่งสินค้าตามคำสั่งซื้ออย่างรวดเร็วเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่คู่ค้า โดยหวังว่าจะได้ทำการค้ากับผู้ซื้อรายนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีโอกาสขยายตลาดไปยังสาขาของคู่ค้าที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ นอกจากนี้ การมีบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นคู่ค้ายังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผู้ประกอบการ กับดักนี้ทำให้ผู้ประกอบการอาจละเลยที่จะทำการตรวจสอบว่าผู้ที่มาติดต่อสั่งซื้อนั้นเป็นตัวจริงหรือไม่ ดังกรณีของ “นายชอบค้า” ที่แจ็กพอตเจอตัวแทนการค้าปลอมจนได้รับความเสียหายไปไม่น้อย

เรื่องมีอยู่ว่า “นายชอบค้า” ได้รับการติดต่อสั่งซื้อสินค้าทาง email จากบริษัท A ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนการค้าของบริษัท B ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสัญชาติแคนาดาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีและมีสาขาอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก บริษัท A แจ้งว่าหลังจากได้พิจารณาสินค้าของหลายบริษัทแล้วพบว่า สินค้าของ “นายชอบค้า” มีคุณภาพดี และราคาเหมาะสมที่สุด จึงได้ติดต่อสั่งซื้อ โดยระบุให้ “นายชอบค้า” จัดส่งสินค้าไปยังสาขาของบริษัท B ในประเทศยูกันดา อีกทั้งขอให้จัดส่งใบตราส่งสินค้าทางทะเล (Bill of Lading) แบบสลักหลังลอยไปให้ผู้ซื้อปลายทางด้วยเพื่อความสะดวกในการออกสินค้า และทางสาขาจะเป็นผู้ชำระค่าสินค้าให้ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกัน

แม้ “นายชอบค้า” จะแปลกใจอยู่บ้างที่เห็นว่า email address ที่บริษัท A ติดต่อมาใช้ชื่อ xxx@hotmail แทนที่จะเป็นโดเมนเนมของบริษัท แต่ก็ไม่ได้สอบถามอะไร เนื่องจากเห็นว่าบริษัท B เป็นบริษัทใหญ่ มั่นคง และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดี “นายชอบค้า” จึงเร่งจัดส่งสินค้าไปตามที่บริษัท A ระบุ จนกระทั่งผู้ซื้อปลายทางได้รับสินค้าไปเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าพอครบกำหนดชำระเงิน “นายชอบค้า” กลับยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้า เมื่อติดต่อสอบถามไปยังบริษัท A ก็ได้รับการแจ้งกลับมาว่าบริษัทผู้รับสินค้าปลายทางในยูกันดาถูกกลุ่มกบฎหัวรุนแรงในประเทศสังหารและสินค้าถูกปล้นไป จึงขอยืดระยะเวลาชำระค่าสินค้า ทั้งนี้ “นายชอบค้า” ได้ขอหลักฐาน อาทิ รายงานบันทึกประจำวัน และผลชันสูตรศพ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัท A  ดังนั้น “นายชอบค้า” จึงตัดสินใจติดต่อไปที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท B ในแคนาดา เพื่อสอบถามเรื่องการชำระค่าสินค้าดังกล่าว แต่กลับได้รับทราบข่าวร้ายว่าบริษัท A ไม่ได้เป็นตัวแทนการค้าที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท B อีกทั้งบริษัท B ไม่เคยมีสาขาในยูกันดา บริษัท B ยืนยันว่าไม่เคยรับทราบเรื่องการสั่งซื้อสินค้าจาก “นายชอบค้า” มาก่อน บริษัท A น่าจะเป็นตัวแทนการค้าปลอมที่มาหลอกลวง

จากกรณีดังกล่าว เป็นข้อเตือนใจว่าผู้ส่งออกไม่ควรละเลยการตรวจสอบคู่ค้าแม้ว่าคู่ค้าจะมีชื่อเสียงน่าเชื่อถือ หรือมีฐานะมั่นคง ทั้งนี้ กรณีของ “นายชอบค้า” มีข้อน่าสังเกตหลายจุดที่สื่อว่า “นายชอบค้า” อาจกำลังถูกหลอกอยู่ อาทิ คู่ค้าติดต่อโดยใช้ email สาธารณะ เช่น Gmail หรือ Hotmail เนื่องจากโดยทั่วไปบริษัทขนาดใหญ่มักจะมีโดเมนเนม (@xxx.com) เป็นของตนเอง และใช้ email บริษัทในการติดต่อ คู่ค้าระบุให้จัดส่งสินค้าไปยังประเทศปลายทางที่ไม่ใช่ที่ตั้งสาขาของบริษัท ในกรณีนี้ ผู้ประกอบการควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่าคู่ค้ามีสาขาตั้งอยู่ในประเทศนั้นจริงหรือไม่ และที่อยู่ตรงตามที่คู่ค้าระบุไว้หรือไม่ และผู้ซื้อขอให้สลักหลังลอยบนใบตราส่งสินค้าฉบับจริง (Original B/L) ทั้งนี้ การสลักหลังลอยเปรียบเสมือนการออกเช็คที่ไม่ระบุชื่อผู้รับเงิน ซึ่งเท่ากับเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลใดก็ได้สามารถนำสินค้าออกไปจากท่าเรือที่ปลายทางได้ โดยที่ยังไม่ต้องชำระเงิน ผู้ส่งออกจึงมีความเสี่ยงทั้งจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและต้องสูญเสียสินค้าไปอย่างน่าเสียดาย

 

Related
more icon
  • เตือนภัยไซเบอร์...รับมือ Hacker จู่โจม

    Hacker เป็นภัยร้ายที่สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ระบาด เนื่องจากผู้ซื้อและผู้ขายเปลี่ยนมาติดต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ตแทน จึงเปิดช่องให้อาชญากรไซเบอร์เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์มากขึ้น...

    calendar icon30.11.2020
  • ออร์เดอร์ชวนสงสัย...ช่วง COVID-19 ระบาด

    “นายชอบค้า” ดำเนินธุรกิจผลิตเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากผ้า รวมถึงหน้ากากอนามัยชนิดผ้า เพื่อจำหน่ายในประเทศ ต่อมาเมื่อมีการระบาดของ COVID-19 บริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศแถบเอเชีย เข้ามาติดต่อสั่งซื้อ...

    calendar icon30.09.2020
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview