Hot Issues

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย หลังสหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิ์ GSP สินค้าไทย 573 รายการ

สถานการณ์สำคัญ
สหรัฐฯ ประกาศจะระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP กับสินค้านำเข้าจากประเทศไทย 573 รายการ หรือราวร้อยละ 40 ของสินค้าทั้งหมดของไทยที่ได้รับ GSP จากสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 ด้วยสาเหตุที่ไทยไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้แรงงานในประเทศไทยได้รับสิทธิแรงงานอันเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล พร้อมกันนี้ สหรัฐฯ ยังได้ประกาศคืนสิทธิ์ GSP ให้ไทย 7 รายการสินค้า ได้แก่ ดอกกล้วยไม้สด ปลาแช่แข็ง เห็ดทรัฟเฟิล ผงโกโก้ หนังของสัตว์เลื้อยคลาน เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบของเครื่องแรงดันไฟฟ้า


ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย 


ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินผลกระทบจากการที่สหรัฐฯ ประกาศตัด GSP สินค้าไทย 573 รายการ ดังนี้
• การถูกตัดสิทธิ์ GSP ในครั้งนี้กระทบต่อการส่งออกโดยรวมจากไทยไปสหรัฐฯ ไม่มากนัก เนื่องจากในปี 2561 ไทยใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปสหรัฐฯ เพียง 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากมูลค่าใช้สิทธิ์ GSP ไปสหรัฐทั้งหมด 4,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 4.6 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปสหรัฐฯ และร้อยละ 0.5 ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยเท่านั้น และหากพิจารณาสินค้าส่งออก 40 อันดับแรกตามพิกัดสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุด (ที่ HS 8-digit) จะพบว่ามีสินค้าเพียง 5 รายการที่ไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP

"ในปี 2561 ไทยมีการใช้สิทธิ์ GSP ใน 573 รายการที่สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ์ เพียง 335 รายการ
คิดเป็นมูลค่าส่งออก ทั้งสิ้น 1,279.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ"

• สินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ GSP ส่วนใหญ่ไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทยในแต่ละหมวดหมู่ อาทิ หมวดผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าที่ถูกตัด GSP เช่น หลอดและท่อยาง (HS 4009) มีมูลค่าส่งออกเพียง 83.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งหมด 2,941 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนยางรถยนต์นั่ง (HS 401110) ยางรถบัส (HS 401120) และถุงมือยาง (HS 4015) ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักในหมวดนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ GSP ในรอบนี้ หมวดเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สินค้าส่งออกหลักอย่างฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ก็เป็นสินค้าที่ไม่ได้สิทธิ์ GSP อยู่แล้ว

สินค้าแต่ละชนิดได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และส่วนต่างระหว่างภาษีปกติ (MFN) กับ GSP ดังนี้
- กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ สินค้าที่มีการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง (สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 20-30 ของมูลค่าส่งออก) และมีส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีปกติ (MFN) กับ GSP สูง (ร้อยละ 5 ขึ้นไป) อาทิ เนื้อปูแปรรูป (HS 16051040) Epoxide Resin (HS 390730) ดอกไม้ประดิษฐ์อื่นๆ (HS 67029065) และอ่างล้างชาม อ่างล้างหน้า และสุขภัณฑ์ทำจากเซรามิก (HS 691010)
- กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรองลงมา คือ สินค้าที่แม้จะมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูง แต่มีส่วนต่างภาษีปกติกับ GSP ค่อนข้างต่ำ (ไม่ถึงร้อยละ 5) อาทิ ผลไม้อื่นๆ กระป๋อง เช่น มะม่วงกระป๋อง (HS 20089940001) และสินค้าที่มีสัดส่วนการพึ่งพาสหรัฐฯ ปานกลาง (เนื่องจากมีการกระจายการส่งออกไปตลาดอื่น นอกเหนือจากสหรัฐฯ) และมีส่วนต่างภาษีปกติกับ GSP ค่อนข้างต่ำ (ไม่ถึงร้อยละ 5) อาทิ รถจักรยานยนต์ ขนาดมากกว่า 800 cc. (HS 871150) และแว่นตาที่ไม่ใช่แว่นกันแดด (HS 900490)
- กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำ คือ กลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ น้อยมากหรือแทบไม่ได้ส่งออกไปสหรัฐฯ เลย อาทิ เนื้อปลาโซล (Sole Fish) (HS 030223) เสื้อกระโปรงชุดสำหรับสตรีและเด็กหญิงที่ทำจากไหม (HS 62044910) และรถเข็น/รถลาก (HS 87168050)

จะเห็นได้ว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ ตั้งแต่การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน เงินบาทแข็งค่า ตลอดจนทิศทาง การค้าโลกที่เปลี่ยนจาก Globalization มาสู่ Protectionism ที่ทำให้แต่ละประเทศใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญความไม่แน่นอนมากขึ้น เช่นเดียวกับการที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทยในครั้งนี้ จึงถือเป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาวางกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

เอกสาร
ที่เกี่ยวข้อง
Related
more icon
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview