Hot Issues
สถานการณ์สำคัญ
สหรัฐฯ ประกาศจะระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) กับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยอีก 231 รายการ มูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป โดยให้เหตุผลว่าไทยไม่เปิดตลาดสินค้าให้แก่สหรัฐฯ อย่างเป็นธรรมและสมเหตุสมผล จากการที่ไทยไม่เปิดให้มีการนำเข้าเนื้อสุกรที่มีสารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) จากสหรัฐฯ
ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ
การประกาศจะระงับการให้สิทธิ์ GSP กับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยอีก 231 รายการ ในครั้งนี้ นับเป็นการตัดสิทธิ์ GSP เพิ่มเติมหลังจากที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP รอบแรกในปี 2563 ไปแล้ว 573 รายการ ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 ด้วยเหตุผลว่าประเทศไทยไม่ดำเนินการยกระดับสิทธิแรงงานในประเทศให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้ในปี 2563 สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทยรวม 804 รายการ
ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินว่า การตัดสิทธิ์ GSP ของสหรัฐฯ ในรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ไม่มากนัก เนื่องจากพบว่ากว่าร้อยละ 85 ของมูลค่าส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2562 ไม่ได้ใช้สิทธิ์ GSP มีเพียงร้อยละ 14.4 ที่ยังคงใช้สิทธิ์อยู่ นอกจากนี้ มูลค่าส่งออกที่ใช้สิทธิ์ GSP ของสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ในรอบนี้ (มี 147 รายการ จากทั้งหมด 231 รายการ) รวม 602 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปสหรัฐฯ เท่านั้น อีกทั้งอัตราภาษีนำเข้าปกติของสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ GSP รอบนี้อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 3-5 (เทียบกับร้อยละ 0 ภายใต้สิทธิ์ GSP) ซึ่งคาดว่าจะกระทบกับความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกในระดับหนึ่ง แต่ยังอยู่ในระดับที่พอแข่งขันได้ ทั้งนี้ สินค้าที่ถูกตัดสิทธิ์ GSP ในรอบนี้ อาทิ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ พวงมาลัยรถยนต์ ล้อรถยนต์ กระปุกเกียร์ เคมีภัณฑ์ เครื่องนอนทำจากยางหรือพลาสติก หลอดและท่อทำด้วยยางวัลแคไนซ์ และอะลูมิเนียมเจือแผ่นบาง
สำหรับผลกระทบในรายสินค้าสามารถประเมินได้เบื้องต้น โดยพิจารณาจากตลาดส่งออกหลัก หากสินค้าใดมีอัตราการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ต่ำ ย่อมได้รับผลกระทบต่ำหรือไม่ได้รับผลกระทบ แต่สำหรับสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นหลัก ผลกระทบต่อแต่ละสินค้าต่างกันบ้างขึ้นกับ 2 ปัจจัย คือ อัตราการใช้สิทธิ์ GSP และส่วนต่างระหว่างอัตราภาษีปกติกับภาษีภายใต้ GSP (อยู่ที่ร้อยละ 0) ซึ่งจะกลายเป็นอัตราภาษีส่วนเพิ่มเมื่อถูกตัด GSP
- สินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ “กลุ่มที่ใช้สิทธิ์มากและใช้สิทธิ์ดังกล่าวสร้างแต้มต่อได้มาก” (การใช้สิทธิ์สูง+ภาษีสูง) อาทิ ซิลิคอน ปิโตรเลียมเรซิน และไฟประดับต้นคริสต์มาส
- สินค้าที่จะได้รับผลกระทบรองลงมา คือ “กลุ่มที่มีอัตราการใช้สิทธิ์มากแต่ได้แต้มต่อไม่มาก” (การใช้สิทธิ์สูง+ภาษีต่ำ) กับ “กลุ่มที่มีอัตราการใช้สิทธิ์น้อยแต่ได้แต้มต่อมาก” (การใช้สิทธิ์ต่ำ+ภาษีสูง) อาทิ พวงมาลัย แกนพวงมาลัย และกระปุกเกียร์พวงมาลัย เครื่องนอนทำจากยางหรือพลาสติก แผ่นอะลูมิเนียมเจือ หนาเกิน 0.2 มม. (แบบหุ้ม) และหีบกล่องทำด้วยไม้
- สินค้าที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คือ “กลุ่มที่ใช้สิทธิ์น้อยและได้แต้มต่อไม่มาก” (การใช้สิทธิ์ต่ำ+ภาษีต่ำ) อาทิ แผ่นหรือฟิล์มพลาสติกทำด้วยพอลิเมอร์ของเอทิลีน กระปุกเกียร์ และสตาร์ตเตอร์มอเตอร์
อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตสหรัฐฯ มีการตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทยในส่วนที่เหลืออีกกว่า 600 รายการ คาดว่าจะมีสินค้าไทยบางตัวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อาทิ อาหารปรุงแต่ง กรดซิตริก และซอสปรุงรส ซึ่งปัจจุบันใช้สิทธิ์ GSP สูงกว่าร้อยละ 95 และหากถูกตัดสิทธิ์ GSP จะต้องเสียภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 6 มีข้อน่าสังเกตว่า สำหรับสินค้าที่ไทยมีมูลค่าใช้สิทธิ์ GSP สูงที่สุดอย่างถุงมือยาง หากถูกสหรัฐฯ
ตัดสิทธิ์ GSP อาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่บ้าง จากอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากอัตราภาษีปกติอยู่ที่ร้อยละ 3 ซึ่งถือว่าไม่สูงมาก และประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซียก็ไม่ได้รับสิทธิ์ GSP เช่นกัน จึงคาดว่าถุงมือยางของไทยแม้จะไม่ได้รับแต้มต่อ แต่จะยังคงแข่งขันได้
การที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP ถึง 2 ครั้งในรอบปีเป็นสัญญาณเตือนว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหันมาวางกลยุทธ์ธุรกิจในระยะยาว และลดการพึ่งพาแต้มต่อจากการได้รับสิทธิ์ GSP เพียงอย่างเดียว แต่ควรหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อาทิ การขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กันภายใต้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การใช้มาตรการ AD, CVD และ Safeguard รวมถึงมาตรการด้านสุขอนามัย สำหรับแนวทางของผู้ประกอบการในการเตรียมรับมือกับการถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP อาทิ แสวงหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ หรือใช้ประโยชน์จากประเทศที่ไทยจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี อาทิ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และนิวซีแลนด์ รวมถึงขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ยังได้รับสิทธิ์ GSP จากสหรัฐฯ อาทิ กัมพูชา อินโดนีเซีย และเมียนมา และให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
ที่เกี่ยวข้อง
-
สรุปสาระสำคัญของ CBAM กับ EUDR และผลกระทบต่อการส่งออกไทย
มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของ EU ที่เพิ่งเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้เกิดกระแสตื่นตัวเป็นวงกว้าง เพราะกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูงหลายชนิด ...
02.10.2023 -
จับสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลกระทบต่อไทยหลัง QE Tapering
ประเด็นสำคัญ FED ประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เดือนละ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 การลดวงเงิน QE แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศร...
12.11.2021
-
ถอดนโยบายประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อไขผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทย
ประเด็นสำคัญ นโยบายของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลใหม่ มีความชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีไบเดนขึ้นดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยในภาพรวมนโยบายสำคัญส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามที่หาเสียงไว้ ทิศทางนโยบายด้านการค้ามีความชัดเจนแล้วว่าจะม...
25.01.2021 -
ข้อตกลงการค้า EU-UK หลัง Brexit กับโอกาสการส่งออกของไทย
ประเด็นสำคัญ EU และ UK บรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันหลัง Brexit เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งทันก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นการค้าและความร่วมมือ อาทิ การค้าสินค้า การค้าบริการและการลงทุน...
05.01.2021 -
จับตาผลกระทบทุเรียนไทย ... เมื่อจีนเปิดรับทุเรียนแช่แข็งจากมาเลเซีย
สถานการณ์สำคัญ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าทุเรียนสดและทุเรียนแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก ด้วยสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่านำเข้าโลก ยอมเปิดตลาดสินค้า (Trade Liberalization) ให้ท...
16.10.2019