Hot Issues

ประเมินผลประโยชน์ต่อการส่งออกของไทย ... หลังร่วมลงนามความตกลง RCEP

สถานการณ์สำคัญ
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ไทยและอีก 14 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียนที่เหลือ 9 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 5 ประเทศ (Plus 5) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ร่วมกันลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งถือเป็นกรอบการค้าเสรี (FTA) ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน เนื่องจากครอบคลุมตลาดที่มีประชากรรวมกันกว่า 2.2 พันล้านคน หรือเกือบร้อยละ 30 ของจำนวนประชากรโลก ทั้งยังมีมูลค่าการค้ารวมกันราวร้อยละ 28 ของมูลค่าการค้าโลก และมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันราวร้อยละ 30 ของ GDP โลก ทั้งนี้ คาดว่าความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 6 ประเทศ จาก 10 ประเทศ และประเทศกลุ่ม Plus 5 อย่างน้อย 3 ประเทศ ให้สัตยาบันความตกลงดังกล่าว

ข้อคิดเห็นจากฝ่ายวิจัยธุรกิจ
ฝ่ายวิจัยธุรกิจประเมินว่าแม้ประเทศไทยและอาเซียนมีการทำ FTA กับประเทศใน RCEP ครบทุกประเทศแล้ว ทั้งความตกลง ATIGA (ASEAN Trade in Goods Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ภายใต้กรอบ ASEAN+1 ทั้งอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ รวมถึง FTA ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ เช่น ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) แต่การเปิดเสรีการค้าสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP จะเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งนี้ ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก RCEP ได้แก่

(1) ไทยมีสินค้าที่จะได้ประโยชน์จากการยกเลิกภาษีนำเข้าภายใต้ความตกลง RCEP เพิ่มเติมจากบางประเทศ อาทิ สินค้าประมง แป้งมันสำปะหลัง สับปะรด น้ำมะพร้าว น้ำส้ม ผัก-ผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป กระดาษ ส่วนประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เส้นใย เครื่องแต่งกาย รวมทั้งรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าบางรายการที่ไทยจะได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของประเทศในความตกลง โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม Plus 5 เนื่องจากบางประเทศจัดทำ FTA ระหว่างกันเป็นครั้งแรก ได้แก่ จีน-ญี่ปุ่น เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น รวมถึงนิวซีแลนด์-ญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มจะทำการค้าระหว่างกันมากขึ้น เมื่อประกอบกับกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (Rule of Origin: RoO) ภายใต้ความตกลง RCEP ที่ค่อนข้างผ่อนคลายกว่าความตกลงอื่นๆ จึงคาดว่าจะช่วยกระตุ้นให้สินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของกลุ่ม Plus 5 อาทิ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน สามารถส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม Plus 5 ได้เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น หากจีนส่งออกคอมพิวเตอร์ซึ่งมี HDD ที่ผลิตจากไทยเป็นส่วนประกอบไปยังญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าคอมพิวเตอร์ให้แก่จีน ก็จะทำให้ยอดส่งออก HDD จากไทยไปจีนเพิ่มขึ้นด้วย

 

(2) ความตกลง RCEP กำหนดกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (RoO) สำหรับสินค้าส่วนใหญ่ไว้ค่อนข้างยืดหยุ่น ช่วยเพิ่มโอกาสที่สินค้าจะมีสิทธิ์ได้ลดหย่อนภาษีระหว่างกัน โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าจะใช้กฎถิ่นกำเนิดสินค้าเกณฑ์ใดระหว่างเกณฑ์การเปลี่ยนพิกัดศุลกากร (Change in Tariff Classification: CTC) กับเกณฑ์สัดส่วนมูลค่าการผลิตในภูมิภาค (Regional Value Content: RVC) ซึ่งแตกต่างจาก FTA แบบทวิภาคีที่ไทยทำกับประเทศสมาชิก RCEP บางประเทศก่อนหน้านี้ (ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์) ที่สินค้าส่วนใหญ่จะกำหนดให้ใช้เกณฑ์ CTC เพียงเกณฑ์เดียว นอกจากนี้ การที่ RCEP มีสมาชิกถึง 15 ประเทศ ส่งผลให้การใช้เกณฑ์ RVC ตามกรอบความตกลง RCEP มีความยืดหยุ่นมากกว่า เพราะสามารถสะสมแหล่งกำเนิดสินค้าจากหลายประเทศได้มากขึ้น เช่น เดิมผู้ประกอบการอาจใช้เฉพาะวัตถุดิบจากอาเซียนเพื่อส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นภายใต้ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น แต่ภายใต้ความตกลง RCEP ผู้ประกอบการสามารถใช้วัตถุดิบจากอาเซียน จีน และออสเตรเลีย มาผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้

(3) ความตกลง RCEP ช่วยลดความยุ่งยากของการปฏิบัติตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA แต่ละฉบับ เนื่องจากการมีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ FTA ต่างๆ จำนวนมาก มักสร้างความสับสนแก่ผู้ประกอบการ (หรือที่เรียกว่าปัญหา Spaghetti Bowl Effect) โดยเฉพาะในขั้นตอนการวางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้า รวมถึงการขอออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : CO) เพื่อนำมาใช้สิทธิ์ FTA ฉบับต่างๆ ทั้งนี้ การมีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลง RCEP ซึ่งใช้ได้ครอบคลุมกับทั้ง 15 ประเทศ จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้ความตกลง RCEP ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ส่งออก ยังสามารถออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง (Self-Certification) ซึ่งช่วยลดการใช้เอกสาร ลดภาระค่าใช้จ่าย ตลอดจนลดขั้นตอนการส่งออก ทำให้ส่งออกสินค้าได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ขณะที่ในอนาคตระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองภายใต้ความตกลง RCEP จะขยายความครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิต (Producer) ก็จะยิ่งทำให้ขั้นตอนต่างๆ สะดวกรวดเร็วขึ้นอีก

ความตกลง RCEP นับเป็น FTA ที่มีความสำคัญต่อไทย เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นร่วมกันในการค้าเสรีของประเทศทางฝั่งตะวันออกแล้ว RCEP ยังเป็น FTA ที่มีความทันสมัยและมีความก้าวหน้ายิ่งกว่า FTA ใดๆ ที่ประเทศไทยเคยทำกับประเทศคู่เจรจา โดยความตกลงดังกล่าวมีการเจรจาครอบคลุมประเด็นในเกือบทุกเรื่อง (ยกเว้นด้านแรงงาน สิ่งทอ และด้านรัฐวิสาหกิจ) จึงช่วยให้ไทยสามารถยกระดับไปสู่การเจรจา FTA ที่มีความเข้มงวดยิ่งกว่า อาทิ ความตกลง CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) ได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนความตกลง RCEP ยังช่วยให้ไทยสามารถรักษาบทบาทในการเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าของภูมิภาค จากการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตสินค้าของไทยเข้ากับประเทศผู้ผลิตชั้นนำของโลก อาทิ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และคาดว่าหากอินเดียเข้าร่วมเป็นสมาชิก RCEP ในอนาคตจะทำให้ไทยสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น เนื่องจากอินเดียมีศักยภาพจะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยได้ ทั้งนี้ ช่วงที่ความตกลง RCEP ยังไม่มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิก RCEP สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรภายใต้ FTA ฉบับอื่นๆ ไปพลางก่อน ทั้งอาจจะใช้ช่วงเวลานี้ในการศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกภายใต้ความตกลง RCEP โดยเมื่อความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ประกอบการจะมีทางเลือกในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากร ตลอดจนกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่การจะเลือกใช้ประโยชน์จาก FTA ฉบับใด ล้วนขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของธุรกิจของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วย

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

Related
more icon
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview