Hot Issues

ยุโรปกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอก 3

ประเด็นสำคัญ

  • การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปกลับมาเป็นประเด็นที่น่ากังวลอีกครั้ง หลังจากมีสัญญาณชัดเจนของการแพร่ระบาดระลอก 3
  • ระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดรอบใหม่จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ การกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการป้องกัน และความรวดเร็วในการกระจายวัคซีน
  • การแพร่ระบาดระลอก 3 อาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปไตรมาสแรกปี 2564 หดตัวและกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคอีกครั้ง

สินค้าส่งออกไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ สินค้าแฟชั่น อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ  และเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่สินค้าที่ยังมีโอกาสส่งออก ได้แก่ อาหารแปรรูป สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานที่บ้าน รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในยุโรปกลับมาเป็นประเด็นที่น่ากังวลอีกครั้ง หลังจากล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อรายวันในหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเข้าสู่การแพร่ระบาดระลอก 3 และมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศจะดำเนินมาตรการ Lockdown รอบใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้เป็นวงกว้าง ทั้งนี้ มาตรการ Lockdown รอบใหม่จะเป็นปัจจัยซ้ำเติมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปในปี 2564 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความคิดเห็นฝ่ายวิจัยธุรกิจ

การแพร่ระบาดระลอก 3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งสอดคล้องกับ WHO ที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2563 ว่ายุโรปจะเผชิญการแพร่ระบาดระลอก 3 ในช่วงต้นปี 2564 หากประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการป้องกันที่เร็วเกินไป โดยการระบาดระลอกใหม่นี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกลายพันธุ์ชนิดที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อในหลายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ดังกล่าวถูกพบมากกว่า 46% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลก

ระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย การแพร่ระบาดระลอก 3 ในยุโรปจะรุนแรงกว่าระลอก 2 หรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ

  • การกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ซึ่งไวรัสดังกล่าวแพร่ระบาดรวดเร็ว โดยมีอัตราการระบาดรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสเดิม 10% ทำให้ยุโรปต้องเร่งพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ชนิดกลายพันธุ์ดังกล่าว
  • ความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการป้องกัน ล่าสุดอิตาลีประกาศ Lockdown รอบใหม่แล้ว ขณะที่ฝรั่งเศสเตรียมพิจารณา Lockdown ทั้งประเทศ เพื่อควบคุมสถานการณ์
  • ความรวดเร็วในการกระจายวัคซีน ปัจจุบันยุโรปประสบปัญหาการแจกจ่ายวัคซีนล่าช้า เนื่องจากมีการใช้กระบวนการจัดซื้อร่วมกันเพื่อให้ได้วัคซีนราคาถูกและมีการจัดส่งพร้อมกันไปยังประเทศสมาชิก EU รวมถึงปัญหาในการกำหนดข้อบังคับการขนส่งยา ซึ่งทำให้อัตราการฉีดวัคซีนของประเทศสมาชิก EU ต่ำกว่าสหราชอาณาจักรอยู่มาก โดยนักวิเคราะห์คาดว่ายุโรปจะกระจายวัคซีนให้ประชาชนจนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. 2564 ซึ่งความล่าช้าที่เกิดขึ้นอาจทำให้การแพร่ระบาดระลอก 3 รุนแรงขึ้นได้

ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจยุโรป

  • เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค* : การแพร่ระบาดระลอก 3 ทำให้การดำเนินมาตรการ Lockdown มีความเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจในภาคบริการที่ส่วนใหญ่ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว จึงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวในไตรมาสแรกปี 2564 และทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคอีกครั้ง

* ภาวะถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) วัดจาก GDP รายไตรมาส ซึ่งหดตัวติดต่อกันอย่างน้อยสองไตรมาส

  • เศรษฐกิจปี 2564 อาจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ : มาตรการ Lockdown รอบใหม่จะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปเป็นอย่างมาก โดยเมื่อเดือน ม.ค. 2564 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2564 จะกลับมาขยายตัว 4.2% หลังจากที่หดตัว 7.2% ในปี 2563 อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 จึงคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2564 จะขยายตัวต่ำกว่าที่ IMF คาดการณ์ และอาจทำให้การฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ต้องช้าออกไป จากเดิมที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในปี 2565
  • การเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งล่าสุด ECB ส่งสัญญาณว่าหากจำเป็นอาจขยายวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ภายใต้โครงการฉุกเฉิน Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) หลังจากเมื่อเดือน ม.ค. 2564 ECB ได้เพิ่มวงเงินดังกล่าวอีก 5 แสนล้านยูโร ทำให้วงเงินรวมของโครงการนี้เพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านล้านยูโร เป็น 1.85 ล้านล้านยูโร หรือราว 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งขยายเวลาสิ้นสุดของโครงการจากเดือน มิ.ย. 2564 ออกไปจนถึงเดือน มี.ค. 2565
  • การดำเนินนโยบายการคลังจะเผชิญข้อจำกัดมากขึ้นจากการที่หลายประเทศมีภาระหนี้สาธารณะสูงเกินกว่าระดับเพดานที่เหมาะสม โดยในปีที่ผ่านมาหลายประเทศในยุโรปต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เยียวยาและลดผลกระทบของ COVID-19 รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จนก่อให้เกิดหนี้จำนวนมหาศาล ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปมีหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก อาทิ กรีซ (205.2%) อิตาลี (161.8%) โปรตุเกส (137.2%) สเปน (123.0%) และฝรั่งเศส (118.7%) ขณะที่ระดับเพดานหนี้สาธารณะที่เหมาะสมของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 90% ต่อ GDP (ตาม คำแนะนำของ IMF) ทำให้ในระยะข้างหน้ารัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะเผชิญกับข้อจำกัดในการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง

ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยุโรป

การส่งออกของไทยไปยุโรปจะยังเผชิญอุปสรรคจากผลกระทบของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ และทำให้การส่งออกของไทยไปตลาดยุโรปฟื้นตัวช้าตามทิศทางเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา หลังจากในปี 2563 การส่งออกของไทยไปตลาดยุโรปได้รับผลกระทบรุนแรง ทำให้มูลค่าส่งออกหดตัว 10.6% จากปีก่อนหน้า ขณะที่มูลค่าส่งออกในเดือน ม.ค. 2564 หดตัวต่อเนื่อง 2.9% สำหรับสินค้าส่งออกไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ สินค้าแฟชั่น อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ เนื่องจากผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอการซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม มีสินค้าส่งออกบางประเภทที่ยังมีโอกาสขยายตลาด ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับการทำงานจากที่บ้าน อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัย อาทิ ถุงมือยาง เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์

 

Related
more icon
  • มองผลกระทบหลังรัสเซียเปลี่ยนกลไกการชำระเงินค่าก๊าซธรรมชาติเป็นสกุลเงินรูเบิล

    ประเด็นสำคัญ รัสเซียออกกฎหมายให้ประเทศที่ไม่เป็นมิตร โดยเฉพาะ EU ต้องจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากรัสเซียเป็นสกุลเงินรูเบิล โดยบังคับให้ผู้ซื้อต้องเปิดบัญชีพิเศษสำหรับการทำธุรกรรมจ่ายค่าก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะ ความเคล...

    calendar icon13.04.2022
  • ทิศทาง CLMV หลัง COVID-19

    ประเด็นสำคัญ เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวโดดเด่นที่สุดใน CLMV ขณะที่รัฐประหารทำให้เศรษฐกิจเมียนมาซึ่งเคยขยายตัวสูงกลับถดถอยและกลายเป็นประเทศที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม นโยบายภาครัฐของกัมพูชาเน้นพัฒ...

    calendar icon12.05.2021
Most Viewed
more icon
link อื่นๆ
  • Relate Preview
  • Relate Preview
Financial Products
  • Finance Preview
  • Finance Preview
  • Finance Preview