บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ผมอยากชวนคุยเกี่ยวกับประเทศร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งไม่มีการพลิกโผแต่อย่างใด นาย Joko Widodo หรือ Jokowi จ่อชนะการเลือกตั้งและน่าจะได้ดำรงตำแหน่งประธาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งนี้ ที่ผมมาเปิดประเด็นผลการเลือกตั้งของอินโดนีเซีย เพราะจากการที่ EXIM BANK มีส่วนสนับสนุนนักลงทุนในการบุกตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบว่านโยบายภาครัฐถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทาง
การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งอินโดนีเซียเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้อธิบายได้ชัดเจนจากเดิมที่เน้นการปกป้องผู้ประกอบการท้องถิ่นหรืออาจเรียกได้ว่ามีความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจ มาเป็นแนวนโยบายที่เป็นมิตรกับ
การลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นหลังจาก Jokowi ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกเมื่อปี 2557 ดังนั้น การได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย ก็ทำให้ Jokowi สามารถสานต่อนโยบายต่างๆ ที่เคยทำไว้ ผมจึงอยากเล่าต่อถึงนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
อินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 260 ล้านคน มากที่สุดในอาเซียนและมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ขณะที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลก แต่การที่อินโดนีเซียมีลักษณะพื้นที่เป็นเกาะถึงกว่า 17,500 เกาะ ที่ขาดการเชื่อมโยงด้านโลจิสติกส์ระหว่างผู้คนและการค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ภาพของการเป็นตลาดขนาดใหญ่ตลอดจนการเป็นแหล่งผลิตที่หลากหลายไม่ชัดเจน และทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง ดังนั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบราง และท่าเรือ จึงเป็นหนึ่งในนโยบายที่ Jokowi ใช้หาเสียงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งแม้แต่กรุงจาการ์ตา หากใครเคยไปก็จะเห็นว่าการจราจรที่นั่นคับคั่งมากจนเป็นปัญหาใหญ่ของระบบโลจิสติกส์ภายในเมือง ระบบรถไฟใต้ดินจึงถือเป็นตัวอย่างโครงการลงทุนที่จำเป็น ซึ่งรถไฟใต้ดินสายแรกเพิ่งเปิดเดินรถไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาและยังคงต้องการการลงทุนเพิ่มเติมอีกมาก นอกจากนี้ แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ Jokowi ใช้หาเสียง ยังรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างพลังงานไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งตอบโจทย์ประชากรที่อาศัยอยู่หลากหลายพื้นที่และส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ชนบทห่างไกล อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนนโยบาย ”10 New Bali” ซึ่งเป็นนโยบายเดิมของ Jokowi ที่มุ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลแห่งใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นจากเกือบ 16 ล้านคน ในปัจจุบัน ทั้งนี้ แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวล้วนมีส่วนช่วยเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะข้างหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติที่มีความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยี จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการขยายการลงทุนไปยังอินโดนีเซีย
ถัดมาอีกนโยบายที่ผมอยากกล่าวถึง คือ “Making Indonesia 4.0” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีเทคโนโลยีอย่าง Internet of Things, Artificial Intelligence, Big Data, Robot and Sensor Technology, และ 3D Printing เป็นตัวขับเคลื่อน แต่ละประเทศจึงต้องเตรียมนโยบายรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อินโดนีเซียได้ออกโรดแมพนโยบาย Making Indonesia 4.0 ในปี 2561 เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมของตนให้ก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมีอุตสาหกรรมนำร่อง 5 ประเภท ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ ซึ่งผมเชื่อว่าทั้ง 5 อุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพียงพอที่จะก้าวออกไปสู้ในตลาดโลก รวมถึงออกไปลงทุนในอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่านโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียที่เปิดรับการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยที่จะก้าวเข้าไปปักหมุดธุรกิจในอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอาจเป็นปัญหาที่นักลงทุนต่างชาติกังวล เนื่องจากเงินรูเปียะห์อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 20 ปี ในเดือนตุลาคม 2561 ก่อนจะกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งผมคาดว่าแนวโน้มค่าเงินรูเปียะห์จะไม่ประสบปัญหาอ่อนค่ารุนแรงอีกเหมือนในปีที่แล้ว เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ทิศทางเงินทุนจะไม่ผันผวนมากจนกระทบค่าเงินประเทศตลาดเกิดใหม่เหมือนปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียจึงเป็นประเทศที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม ซึ่ง EXIM BANK ก็พร้อมเป็นเพื่อนกับท่านผู้ประกอบการในการก้าวออกไปลงทุนด้วยความมั่นใจครับ
ที่เกี่ยวข้อง
-
ตรวจสอบแรงลมน่านน้ำส่งออก ... ปรับทิศธุรกิจให้เดินหน้าอย่างราบรื่น
แม้โลกจะเปิดปีใหม่มาด้วยความเชื่อมั่นของการผ่านจุดวิกฤตจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ได้ทยอยลดระดับความรุนแรงจาก Pandemic เป็น Endemic ส่งผลให้เกิดการผ่อนคลายนโยบายควบคุม C...
31.03.2023 -
ตลาด New Frontiers ยังไม่สิ้นมนต์ขลัง … ความหวังของธุรกิจไทยในน่านน้ำสีน้ำเงิน
การขยายธุรกิจไปต่างประเทศของผู้ประกอบการไทย มักเผชิญคำถามยอดฮิตว่าควรไปตลาดไหนดี หากเป็นเมื่อก่อนผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ประเทศพัฒนาแล้วหรือที่เรียกว่าตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ EU ญี่...
26.08.2021
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา
ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...
26.03.2019