บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
แม้โลกจะเปิดปีใหม่มาด้วยความเชื่อมั่นของการผ่านจุดวิกฤตจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ ได้ทยอยลดระดับความรุนแรงจาก Pandemic เป็น Endemic ส่งผลให้เกิดการผ่อนคลายนโยบายควบคุม COVID-19 ในประเทศ รวมถึงการเดินทางเข้าออกของชาวต่างชาติ ตามลำดับมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกปี 2566 กลับยังต้องเผชิญความเสี่ยงอีกหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ นโยบายการเงินแบบเข้มงวดของสหรัฐฯ และ EU ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ยังเกิดขึ้นจากหลากหลายเหตุการณ์ ไปจนถึงฐานะทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนาที่ย่ำแย่ลงในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2565 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในปีนี้ เปรียบเสมือนการแล่นเรือใบในทะเลที่ลมอ่อนแรง การจะเคลื่อนที่ไปได้อย่างที่คาดหวังจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือไปยังน่านน้ำที่ยังมีแรงลมดีเพื่อให้การส่งออกไม่สะดุดลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจส่งออกก็จะได้เลือกน่านน้ำได้อย่างเหมาะสม ซึ่งผมเองสนับสนุนแนวคิด “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” หรือ SMEs ไทยควรผลักดันตัวเองสู่น่านน้ำส่งออก ดังนั้น การตรวจสอบสถานการณ์ของน่านน้ำต่างๆ จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs เรือเล็กจำนวนมากที่กำลังเตรียมตัวออกจากฝั่ง
สหรัฐฯ และ EU … น่านน้ำหลักที่ลมทำท่าอ่อนแรง
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัว 2.9% ชะลอลงจาก 3.4% ในปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งของแรงฉุดที่ทำให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแรงลงมาจากเศรษฐกิจของตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ และ EU ที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัว 1.4% ในปี 2566 ชะลอลงจาก 2.0% ในปีก่อน เนื่องจากภาคธุรกิจและภาคการบริโภคกำลังเผชิญแรงกดดันจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่จะทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจและต้นทุนการกู้ยืมปรับสูงขึ้น และอาจกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ล่าสุดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ปรับขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 16 ปี ที่ระดับ 4.50-4.75% เช่นเดียวกับ EU ที่ดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในทิศทางเดียวกัน ประกอบกับ EU ยังได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสงครามยูเครน-รัสเซียที่ยังยืดเยื้อ สถานการณ์ดังกล่าวกดดันให้เศรษฐกิจ EU มีแนวโน้มขยายตัวได้เพียง 0.7% ในปี 2566 ทั้งนี้ ตลาดสหรัฐฯ และ EU มีสัดส่วนการส่งออกราว 26% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ และ EU ในปี 2565 ขยายตัว 13.4% และ 6.6% ตามลำดับ ซึ่งการที่เศรษฐกิจของตลาดดังกล่าวมีแนวโน้มชะลอตัวก็จะส่งผลให้การส่งออกของไทยไปตลาดดังกล่าวในปี 2566 มีแนวโน้มชะลอลงเช่นกัน
จีน ... น่านน้ำที่ลมพัดแรงขึ้นจากการเปิดประเทศ
หากย้อนกลับไปในปี 2565 ซึ่งจีนยังคงใช้นโยบาย Zero-COVID อย่างเข้มข้นเกือบตลอดปี เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากนโยบายของจีนในหลายด้าน ตั้งแต่ด้านการผลิตที่ต้องเผชิญกับปัญหา Supply Chain Disruption จากการที่รัฐบาลจีนใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้ภาคการผลิตบางส่วนในจีนไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการที่จีนจำกัดการออกเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศเพื่อป้องกันการรับเชื้อ COVID-19 กลับเข้ามาในประเทศ ก็ส่งผลให้หลายประเทศที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน ขาดแรงส่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกันนโยบาย Zero-COVID ก็ส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจจีนเอง ดังนั้น การกลับมาเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปี 2566 จึงเปรียบเสมือนจีนได้เปิดช่องลมที่เคยกันไว้ในช่วงปิดเมือง ทำให้เศรษฐกิจภายในได้ลมหนุนจากความต้องการบริโภคของภาคครัวเรือนจีนที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว (Pent-up Demand) สะท้อนจากเงินฝากของครัวเรือนจีนที่เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 17.8 ล้านล้านหยวน (หรือราว 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2565 เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 9.9 ล้านล้านหยวนในปี 2564 ส่งผลให้น่านน้ำจีนเป็นโอกาสที่น่าจับตามอง นอกจากนี้ การที่ IMF ปรับขึ้นคาดการณ์อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2566 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของจีนต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงไทยเองที่คาดว่าจะได้อานิสงส์ทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยว โดยในปี 2566 ก็ต้องมาลุ้นกันว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนจะสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้หรือไม่ หลังจากที่หดตัวไป 7.7% ในปีที่ผ่านมา
อาเซียน ... น่านน้ำใกล้ตัวที่ยังเป็นความหวัง
อาเซียนในฐานะเพื่อนบ้านที่รู้จักมักคุ้นกันมานานก็ทวีความสำคัญมากขึ้นในสถานการณ์ที่โลกแบ่งข้างแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนจนเกิดกระแส Regionalization ขึ้นมาทดแทน Globalization โดยการส่งออกสินค้าของไทย 1 ใน 4 เป็นการส่งออกไปอาเซียน ซึ่ง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ยังคงเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กันแนบแน่น แม้บางประเทศอย่างเมียนมาต้องเผชิญปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ แต่นั่นยิ่งทำให้เมียนมาต้องพึ่งพาไทยมากขึ้นเพื่อเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การส่งออกของไทยไปเมียนมายังขยายตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารในปี 2564 ขณะที่เวียดนามเป็นเพื่อนบ้านที่ยังเติบโตร้อนแรง โดยเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว 6.2% ในปี 2566 สูงสุดในอาเซียน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศทางเลือกในการลงทุนของบริษัทต่างชาติที่ต้องการกระจายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหา Geopolitics ทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกของเวียดนามยังมีโอกาสขยายตัว ปัจจุบันเวียดนามเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย เป็นรองเพียงสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น โดยสินค้าส่งออกส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตในเวียดนาม อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ดังนั้น คาดว่าการส่งออกของไทยไปเวียดนามจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามภาคการผลิตของเวียดนามที่ยังโดดเด่น รวมถึงการบริโภคของเวียดนามที่มีแนวโน้มขยายตัวตามกำลังซื้อของชาวเวียดนามที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ
อีกประเทศในอาเซียนที่ควรให้ความสำคัญ คือ อินโดนีเซีย โดยในช่วงที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีนโยบายที่สร้างโอกาสการค้าการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะแผนการสร้างเมืองหลวงใหม่บนเกาะบอร์เนียวแทนกรุงจาการ์ตามูลค่าลงทุนราว 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้เริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบางส่วนแล้ว ขณะที่มีแผนเริ่มก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับข้าราชการในไตรมาส 2 ของปี 2566 นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังจำเป็นต้องลงทุนในอุตสาหกรรมสะอาดเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคตเพื่อผลักดันให้อินโดนีเซียสามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2603 จากที่ปัจจุบันเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก แนวโน้มดังกล่าวดึงดูดการลงทุนในอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้อินโดนีเซียต้องนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน อาทิ วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงอุปกรณ์และเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพิ่มขึ้น
อินเดีย...น่านน้ำแห่งโอกาสท่ามกลางความขัดแย้ง
อินเดียเป็นประเทศที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง เนื่องจากเป็นอีกประเทศที่ได้ประโยชน์จากประเด็น Geopolitics โดยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 อินเดียและสหรัฐฯ ได้ประกาศความร่วมมือทางเทคโนโลยีในสาขาเซมิคอนดักเตอร์ อวกาศ การป้องกันประเทศ และเทคโนโลยีอนาคต แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของสหรัฐฯ ที่ต้องการแสวงหาพันธมิตรเพื่อโดดเดี่ยวจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ขณะที่ภาคการลงทุนของอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวดีจากกระแสการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน อาทิ กรณีที่บริษัท Apple ตั้งสายการผลิต iPhone 14 ที่โรงงานในอินเดียเป็นครั้งแรกในปี 2565 ทำให้ปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในฐานการผลิต iPhone มีสัดส่วนราว 5-7% ของการผลิตทั้งหมดทั่วโลก และคาดกันว่า Apple อาจเพิ่มการผลิตในอินเดียเป็น 25% ภายในปี 2568 ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจอินเดียในปี 2566 จะโต 6.1% ซึ่งถือเป็นหนึ่งในน่านน้ำแรงลมดีที่ผู้ส่งออกควรให้ความสำคัญ
ตะวันออกกลาง ... น่านน้ำที่เดินเรือราบรื่นมากขึ้น
ตะวันออกกลางกลับมาเป็นอีกหนึ่งตลาดที่โดดเด่นและเป็นโอกาสในการส่งออกของไทย โดยเศรษฐกิจของหลายประเทศได้แรงบวกจากราคาน้ำมันที่อยู่ในเกณฑ์ดี แม้จะปรับลดลงจากปีที่ผ่านมา ซึ่ง EIA คาดราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปี 2566 จะยังอยู่เหนือระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้หลายประเทศยังสามารถสร้างรายได้อย่างมั่งคั่ง โดยตลาดตะวันออกกลางที่น่าจับตามองคงหนีไม่พ้นซาอุดีอาระเบียที่กลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยในรอบ 32 ปี นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกส่งสินค้าไปซาอุดีอาระเบียได้มากขึ้น สะท้อนจากมูลค่าส่งออกของไทยไปซาอุดีอาระเบียในปี 2565 ที่กลับมาขยายตัวราว 24% หลังจากที่หดตัวในปี 2563-2564 ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอีกหนึ่งตลาดที่ไม่ควรมองข้าม ด้วยความโดดเด่นของตลาดผู้บริโภคที่มีรายได้สูงและยังชื่นชอบในคุณภาพของสินค้าไทย ทำให้หลายสินค้ามีโอกาสเข้าไปเจาะตลาด อาทิ สินค้าอาหารฮาลาล โดยเฉพาะในกลุ่ม Functional และ Healthy Products รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ
ในการที่ผู้ประกอบการจะสามารถปรับทิศทางของเรือไปยังน่านน้ำที่เหมาะสมและไม่ทำให้การส่งออกสะดุดลง ต้องไม่ลืมที่จะเสริมเกราะให้กับเรือเพื่อเตรียมพร้อมรองรับคลื่นสูงในบางครั้งคราว โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดว่าจะยังผันผวนจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ ซึ่งผู้ส่งออกอาจเลือกทำ FX Forward เพื่อปิดความเสี่ยง นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศก็ย่ำแย่ลงตั้งแต่ช่วงวิกฤต COVID-19 ซึ่งก็เป็นอีกความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในระยะข้างหน้า เนื่องจากโอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระค่าสินค้าจากผู้นำเข้าในประเทศดังกล่าวก็มีสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
ที่เกี่ยวข้อง
-
จีน-อินเดีย ... ขั้วเศรษฐกิจใหม่ ยิ่งใหญ่บนความเหมือนที่แตกต่าง
หลายปีที่ผ่านมาบริบทเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนโฉมไปจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำทางเศรษฐกิจจากเดิมที่เคยผูกขาดโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กลุ่ม G3 ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่...
20.09.2024 -
เคล็ด(ไม่)ลับ ... ปรับธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะวิกฤตชัดขึ้นเป็นลำดับ ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศไทยก็ต้องเผชิญทั้งฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงและยาวนาน จนเชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง...
24.06.2024
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
จับสัญญาณความเสี่ยงธุรกิจจาก 3 ปัญหาคอขวดโลก
หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ปัญหาคอขวด (Bottlenecks) อย่างการที่ต้องรอคิวช่องตรวจหนังสือเดินทางเป็นเวลานานที่สนามบิน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวที่ความต้องการใช้บริการหนาแน่นแต่ช่องการให้บริการมีจำกัด ซึ่งปัญหาคอขวดโลกก็มีสาเหตุ...
29.03.2024