บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
ทั่วโลกกำลังลดความเร็วในการปล่อยคาร์บอนลง
The Economist Intelligence Unit (EIU) คาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทั้งหมดของโลกจะเพิ่มขึ้น 0.97% ในปี 2568 ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2567 ที่เพิ่มขึ้น 1% โดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยุโรปที่ลดลงและของจีนที่ชะลอลง จะถูกหักล้างด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นจากประเทศในทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง โดยคาดว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของไทยจะเพิ่มขึ้น 1.26% ส่วนประเทศที่คาดว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 6.03% คืออินเดีย โดยมีปัจจัยหนุนจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันอินเดียผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเกือบครึ่งหนึ่งของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) และยอดจำหน่ายรถยนต์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย S&P Global Mobility คาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์นั่งในอินเดียจะขยายตัว 3.7% ในปี 2568 ขณะที่รถยนต์ที่จำหน่ายในอินเดียส่วนใหญ่ยังไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้า (EV)
อย่างไรก็ตาม การที่จีนยังเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุดถึงกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของโลก ทำให้จีนยังเป็นประเทศหลักที่มีผลต่อการกำหนดทิศทางของการปล่อยคาร์บอนโดยรวมของโลก กล่าวคือความเร็วในการเข้าสู่ Net Zero ของโลก จะขึ้นอยู่กับความเร็วในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดของจีน ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 จีนเพิ่งผ่านกฎหมายพลังงานฉบับใหม่ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2568 โดยให้คำมั่นว่าจีนจะเข้าสู่จุดที่ปล่อยคาร์บอนสูงสุดภายในปี ค.ศ. 2030 (ปี 2573) หลังจากนั้นจะลดการปล่อยคาร์บอนลงโดยหันไปใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นแทนถ่านหิน (ปัจจุบันจีนผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินราว 60% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด) และจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2060 (ปี 2603)
การกลับมาของทรัมป์ ... อุปสรรคขัดขวางการบรรลุเป้า Net Zero
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังพยายามบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อยู่นั้น การเดินหน้าสู่เส้นทางสีเขียวของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน กลับเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนและมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องลวงโลก ได้ชนะการเลือกตั้งและกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง โดยทรัมป์ได้ประกาศถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง เนื่องจากมองว่าไม่ยุติธรรมที่สหรัฐฯ ต้องเป็นฝ่ายให้เงินสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่น และปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อีกทั้งยังเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดกลับไม่ต้องแบกรับภาระดังกล่าว
เบื้องหลังการตัดสินใจของทรัมป์ และทางออกของผู้ประกอบการไทย
การที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและเป็นผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกแสดงท่าทีเพิกเฉยในการร่วมมือกันต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน แน่นอนว่าย่อมทำให้การปรับตัวเข้าสู่ Net Zero ของโลกช้าลง แต่ท่าทีเช่นนี้ของทรัมป์อาจไม่ใช่การปิดประตูตายในการแก้ปัญหาโลกร้อนโดยสิ้นเชิง แต่เป็นความพยายามซื้อเวลาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และรักษาความสำคัญของสหรัฐฯ ไว้ ทั้งในฐานะที่เป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและการเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของโลก เพราะต้องอย่าลืมว่าปัจจุบันฐานของการพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่ต่างอยู่นอกสหรัฐฯ โดยทรัพยากรสำคัญอย่างแร่หายาก (Rare Earth) และเทคโนโลยีเกี่ยวกับแผงโซลาร์ แบตเตอรี่ และ EV ต่างก็อยู่ในจีน ขณะที่การพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานลม รวมถึงความพยายามในการผลิตสินค้าที่เคยปล่อยมลพิษสูงอย่างเหล็กให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็เกิดขึ้นในยุโรป มีเพียงเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage : CCS) ที่สหรัฐฯ ดูจะมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นๆ การพยายามดึงให้โลกยังพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นทางออกในการคงความสำคัญของสหรัฐฯ ไว้
ที่เกี่ยวข้อง
-
เร่งเพิ่มประสิทธิภาพ MSME หนุนรายได้ประเทศพุ่ง
อย่างที่ทราบกันดีว่า “ธุรกิจของคนตัวเล็ก” หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่าวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อย หรือ MSME (Micro, Small and Medium Enterprise) เป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังค...
19.10.2024
-
หนี้ทางเทคนิคและหนี้ด้านสิ่งแวดล้อม ... ชนวนเหตุที่ทำให้ธุรกิจติดบ่วง
ถ้าพูดถึง “หนี้” ผมคิดว่าท่านที่ทำธุรกิจคงคุ้นเคยและทราบดีว่าเมื่อมีหนี้ก็ย่อมมี “ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย” การเป็นหนี้แต่ละครั้งจึงต้องคิดอย่างรอบคอบแล้วว่า หนี้ก้อนนี้จะช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นคุ้มค่...
20.04.2024
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019
-
จับสัญญาณความเสี่ยงธุรกิจจาก 3 ปัญหาคอขวดโลก
หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ปัญหาคอขวด (Bottlenecks) อย่างการที่ต้องรอคิวช่องตรวจหนังสือเดินทางเป็นเวลานานที่สนามบิน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวที่ความต้องการใช้บริการหนาแน่นแต่ช่องการให้บริการมีจำกัด ซึ่งปัญหาคอขวดโลกก็มีสาเหตุ...
29.03.2024
-
อยาก Growth แบบไม่สะดุด ... ต้องมาให้สุดที่ Green Growth
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่ง EXIM BANK ก่อตั้งมาครบ 30 ปีพอดีครับ สำหรับการเริ่มต้นเข้าสู่วัยเลข 3 นี้ ผมขอย้ำว่า EXIM BANK พร้อมแล้วครับที่จะเดินหน้าสู่บทบาทใหม่ในการเป็น Green Develo...
29.02.2024