บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
หลายปีที่ผ่านมาบริบทเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนโฉมไปจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำทางเศรษฐกิจจากเดิมที่เคยผูกขาดโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กลุ่ม G3 ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (Emerging Markets) มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น เติบโตร้อนแรง จนก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญบนเวทีเศรษฐกิจโลก และอาจมีการพลิกขั้วทางเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นผู้นำในอนาคต โดย 2 ประเทศที่ถูกมองว่าเป็น แรงขับเคลื่อนสำคัญของขั้วเศรษฐกิจใหม่ คือ จีนและอินเดีย บทความฉบับนี้จะพาทุกท่านไปสำรวจและวิเคราะห์ศักยภาพในหลายมิติของทั้ง 2 ประเทศที่พบว่ามีทั้งความเหมือนและความต่างในเวลาเดียวกัน
มิติเศรษฐกิจ ... มาแรงจากตลาดใหญ่ทั้งคู่ แต่พญามังกรโดดเด่นด้านการผลิตกว่า
เริ่มจากการวิเคราะห์ขนาดเศรษฐกิจ พบว่าในปี 2566 ทั้ง 2 ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติด Top5 ของโลก โดยจีนใหญ่เป็นอันดับ 2 และอินเดียเป็นอันดับ 5 ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศขยายตัวในระดับสูง โดยโตสูงสุดในกลุ่ม Top10 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก จีนขยายตัวเฉลี่ยปีละ 6% ใกล้เคียงกับอินเดียที่ 5.9% แต่หากมองไปในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มจะเติบโตร้อนแรงกว่าจีน โดย International Monetary Fund (IMF) คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2567-2572 จีนจะขยายตัวเฉลี่ย 3.9% ขณะที่อินเดียอยู่ที่ 6.6% โตสูงกว่าจีนเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว
หากพิจารณาโมเดลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทั้งคู่ มีทั้งความเหมือนและความต่าง โดยจีนขับเคลื่อนผ่านเครื่องยนต์การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก มีสัดส่วนสูงถึง 42% และ 38% ของ GDP ตามลำดับ การลงทุนส่วนใหญ่มาจากรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็น
หัวหอกบุกเบิกและกระตุ้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง เขื่อน โรงไฟฟ้า ขณะที่การลงทุนอีกส่วนมาจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งหลายบริษัททั่วโลกเข้ามาตั้งฐานการผลิตขนาดใหญ่ในจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญจากจุดแข็งด้านตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรมากถึง 1.41 พันล้านคน ในส่วนของอินเดียใช้โมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลักมีสัดส่วนถึง 60% ของ GDP จากจุดแข็งเช่นเดียวกับจีนที่มีตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรถึง 1.43 พันล้านคน อย่างไรก็ตาม แม้อินเดียเป็น Top5 เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก แต่คุณภาพโครงสร้างพื้นฐานกลับอยู่ในอันดับรั้งท้าย (ปี 2567 IMD Competitiveness Index ด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่อันดับที่ 53 จาก 66 ประเทศ) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ภาคการผลิตของอินเดียยังมีสัดส่วนไม่สูงเพียง 14% ของ GDP ทำให้รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Narendra Modi มุ่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนจากต่างประเทศภายใต้นโยบาย Make in India เพื่อขยายภาคการผลิตให้มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
นอกจากนี้ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าทั้ง 2 ประเทศมีหมุดหมายใกล้เคียงกันในการเดินหน้ายกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยจีนขับเคลื่อนผ่านนโยบาย New Industries ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ New Three มุ่งเน้นสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเธียม แผงโซลาร์ ขณะที่อินเดียหลังจากที่ Narendra Modi ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ก็เดินหน้านโยบาย Make in India 2.0 โดยเฉพาะการเพิ่มการสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า Robotic อิเล็กทรอนิกส์
มิติเทคโนโลยี ... จีนโดดเด่น Hardware อินเดียผู้นำ Software
ประเด็นต่อมาที่ควรพิจารณา คือ การพัฒนาเทคโนโลยี แม้ทั้ง 2 ประเทศจะมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยี แต่หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะพบว่ามีความแตกต่างกันในหลายประเด็น โดยที่ผ่านมาจีนมีความโดดเด่นด้าน Hardware รวมถึง E-Commerce สะท้อนจากการเป็นผู้ส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อันดับ 1 ของโลกด้วยสัดส่วนเกือบ 40% หรือการเป็น Top5 ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีหลายบริษัทด้านคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกเข้าไปตั้งฐานการผลิตขนาดใหญ่ เช่น IBM (Lenovo), Samsung, Intel ในส่วนของ E-Commerce จีนถือว่าเป็นผู้นำบนเวทีโลก โดยมีหลายบริษัทของจีนที่เป็นผู้ให้บริการรายสำคัญติด Top5 ผู้ใช้บริการมากที่สุดของโลก เช่น Alibaba มีผู้ใช้บริการเกือบ 1 พันล้านคน JD.com ราว 600 ล้านคน รวมถึงผู้ให้บริการ Social Media อย่าง TikTok ก็มีผู้ใช้บริการราว 1 พันล้านคนทั่วโลก ขณะที่อินเดียมุ่งเน้นไปในด้าน Service & Software โดยเป็นผู้นำด้านระบบการจัดการธุรกิจที่เรียกว่า Business Processing Outsourcing (BPO) มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะบริการด้าน Call Center และ Software Development โดยมูลค่าส่งออกบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของอินเดียสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก มีสัดส่วน 15% ของโลก จากจุดแข็งของความพร้อมด้านบุคลากร ปัจจุบันมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่า 6 ล้านคน ตลอดจนอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรพูดภาษาอังกฤษได้ถึง 130 ล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ประกอบกับการตั้งให้เมืองเบงกาลูรู (บังกาลอร์) เป็นที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ด้านไอทีสำคัญของประเทศ (Silicon Valley of India) ดึงดูดการเข้ามาของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Facebook, Google, Microsoft
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจด้านเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบแตกต่างกันต่อทั้ง 2 ประเทศ คือ การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระหว่างขั้วอำนาจเดิมอย่างสหรัฐฯ กับขั้วอำนาจใหม่อย่างจีนจนเกิดเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech War) เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลก ภายใต้ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทั้งในระดับภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งลุกลามไปถึงการย้ายฐานของบริษัทสหรัฐฯ และพันธมิตรออกจากจีน (Reshoring & Friendshoring) เช่น Microsoft (ย้ายการผลิต Xbox ไปเวียดนาม) Amazon (Fire TV ไปอินเดีย) Google (Pixel Phone ไปเวียดนาม) ในทางตรงกันข้าม อินเดียเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ได้อานิสงส์จาก Tech War สะท้อนจากเม็ดเงิน FDI ในอุตสาหกรรมการผลิตคอมพิวเตอร์ขยายตัวสูงเฉลี่ยถึงปีละ 33% (ปี 2562-2566) รวมถึงบริษัทสหรัฐฯ หลายแห่งเบนเข็มการลงทุนมาที่อินเดียแทน เช่น Apple วางแผนเพิ่มสัดส่วนการผลิต iPhone ในอินเดียเป็น 25% ของการผลิตรวม จากเดิมอยู่ที่ 5-7%
มิตินโยบายต่างประเทศ … จีนเป็นพี่ใหญ่ของโลกตะวันออก อินเดียจับมือทุกฝ่าย
ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ การกำหนดบทบาทของ แต่ละประเทศบนเวทีโลกมีความสำคัญ โดยจีนและอินเดียต่างก็มีแนวนโยบายต่างประเทศที่แตกต่างกัน โดยจีนวางบทบาทเป็นผู้นำขั้วอำนาจใหม่ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับขั้วอำนาจเก่าอย่างสหรัฐฯ รวมถึงมีการสร้างแนวร่วมพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ในหลายเวที ตลอดจนจัดตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อขยายบทบาทบนเวทีการเงินโลก เคียงข้างกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งอื่น เช่น World Bank ที่สหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ Asian Development Bank (ADB) ที่มีสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมีบทบาทหลัก โดย AIIB ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สอดรับกับโครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งเป็นนโยบายโลจิสติกส์และการค้าสำคัญที่จีนได้วางแผนขยายเส้นทางเชื่อมโยงไปในประเทศพันธมิตรทั่วโลก และเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขยายฐานอำนาจของจีนบนเวทีโลก ในส่วนของอินเดียวางบทบาทบนเวทีโลกแตกต่างออกไป โดยอยู่ในสถานะเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดอย่างชัดเจน รวมถึงยังเข้าร่วมเวทีความร่วมมือที่หลากหลาย เช่น กลุ่ม Quad (Quadrilateral Security Dialogue) ที่มีสหรัฐฯ อยู่ด้วย กลุ่ม BRICS Plus ที่มีจีนและรัสเซีย รวมถึงกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement : NAM)
เมื่อหันมามองความสัมพันธ์ของทั้งสองมหาอำนาจเศรษฐกิจกับไทย พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านการค้า จีนนับเป็นพันธมิตรสำคัญของไทยมายาวนาน ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 มีสัดส่วน 12% ของมูลค่าส่งออกรวม และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 โดยไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่านำเข้ารวม ขณะที่อินเดียก็เป็นพันธมิตรทางการค้าที่กำลังมาแรงของไทย ปัจจุบันอินเดียขยับขึ้นมาเป็นตลาดส่งออก Top10 ของไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าส่งออกเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 9% มีข้อสังเกตว่าทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทยที่แตกต่างกัน โดยการส่งออกของไทยไปจีนมีลักษณะเป็น Supply Chain แม้ปัจจุบันลดความเข้มข้นลง โดยเมื่อ 10 ปีก่อนสินค้าส่งออกไทยไปจีนเป็นกลุ่มขั้นต้น-กลางถึงกว่า 70% ของมูลค่าส่งออกรวม (นับเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 20 อันดับแรก) แต่ปัจจุบันลดลงเป็นเกือบ 50% สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายของจีนที่ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศ (Made in China & Dual Circulation) ประกอบกับการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่การส่งออกไทย-อินเดียส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบ Consumer Market โดยราว 60% ของสินค้าส่งออกเป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่อีก 40% เป็นสินค้าขั้นต้น-กลาง เพื่อรองรับการเติบโตของภาคการผลิตอินเดีย ทั้งนี้ ภายใต้ทิศทางการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมไฮเทคของทั้ง 2 ประเทศ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องยกระดับการผลิตและปรับสินค้าให้สามารถรองรับเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้สามารถก้าวไปเชื่อมโยงกับ Supply Chain เส้นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าจีนและอินเดียทวีความสำคัญบนเวทีโลกในหลายมิติ มีศักยภาพมากพอที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน และอาจเปลี่ยนโฉมหน้าภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเงินโลกให้เปลี่ยนไป ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายแก่ไทย เราจึงควรกำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้างความสัมพันธ์กับทั้งขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่และเดิมอย่างสมดุล เพราะมีแนวโน้มที่มหาอำนาจเหล่านั้นจะแข่งขันกันสร้างกำแพงกีดกันทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เราสามารถเดินหน้าได้อย่างมั่นคงฝ่าความท้าทายบนโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนที่คาดไม่ถึง
ที่เกี่ยวข้อง
-
เคล็ด(ไม่)ลับ ... ปรับธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะวิกฤตชัดขึ้นเป็นลำดับ ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศไทยก็ต้องเผชิญทั้งฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงและยาวนาน จนเชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง...
24.06.2024 -
BRICS-11 … New Game Changer รับมือขั้วอำนาจใหม่ รับปีมังกร
สวัสดีปีใหม่และขอต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่ปีมังกร ผมขอเปิดศักราชต้นปีนี้ด้วยข่าวการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขั้วใหม่ของโลก นั่นคือ BRICS ซึ่งเดิมเป็นการรวมกลุ่มของประเทศตลาด...
22.01.2024
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
จับสัญญาณความเสี่ยงธุรกิจจาก 3 ปัญหาคอขวดโลก
หลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ปัญหาคอขวด (Bottlenecks) อย่างการที่ต้องรอคิวช่องตรวจหนังสือเดินทางเป็นเวลานานที่สนามบิน โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวที่ความต้องการใช้บริการหนาแน่นแต่ช่องการให้บริการมีจำกัด ซึ่งปัญหาคอขวดโลกก็มีสาเหตุ...
29.03.2024 -
อยาก Growth แบบไม่สะดุด ... ต้องมาให้สุดที่ Green Growth
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่ง EXIM BANK ก่อตั้งมาครบ 30 ปีพอดีครับ สำหรับการเริ่มต้นเข้าสู่วัยเลข 3 นี้ ผมขอย้ำว่า EXIM BANK พร้อมแล้วครับที่จะเดินหน้าสู่บทบาทใหม่ในการเป็น Green Develo...
29.02.2024