บทความพิเศษจากกรรมการผู้จัดการ
สวัสดีปีใหม่และขอต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่ปีมังกร ผมขอเปิดศักราชต้นปีนี้ด้วยข่าวการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกลุ่มมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขั้วใหม่ของโลก นั่นคือ BRICS ซึ่งเดิมเป็นการรวมกลุ่มของประเทศตลาดใหม่ 4 ประเทศที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน (Brazil, Russia, India, China : BRIC) เมื่อปี 2552 ก่อนจะเพิ่มแอฟริกาใต้ (South Africa) เข้ามาจนกลายเป็น BRICS-5 ซึ่งชื่อกลุ่มนี้ถูกบัญญัติจาก Jim O’Neil หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจของ Goldman Sachs แต่ล่าสุด
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา BRICS-5 ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่เป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี หลังจากที่ประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS-5 Summit ครั้งที่ 15 เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 มีมติรับรองการเป็นสมาชิกภาพใหม่ของ 6 ประเทศ ซึ่งล้วนเป็นตัวแทนเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย และอาร์เจนตินา ส่งผลให้ปัจจุบันมีสมาชิกรวมเป็น 11 ประเทศ จึงเปลี่ยนจาก BRICS-5 มาเป็น BRICS-11 ทั้งนี้ แม้ BRICS-11 ไม่ใช่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจหรือมีการจัดทำข้อตกลงเสรีทางการค้าระหว่างกัน (FTA) อย่างเป็นทางการ แต่เป็นการรวมตัวกันในเชิงสัญลักษณ์ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจขั้วใหม่ของโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อดุลอำนาจบนเวทีโลก ทำให้ทั่วโลกต่างจับตามองและติดตามสัญญาณการเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์ของเศรษฐกิจและการเมืองโลกหลังจากนี้
การเพิ่มสมาชิกจากเดิม BRICS-5 เป็น BRICS-11 ถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์และหมุดหมายสำคัญของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดใหญ่ขึ้น โดยจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นอีกราว 414 ล้านคน รวมเป็นกว่า 3.7 พันล้านคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก เทียบกับ BRICS-5 ที่มีสัดส่วน 40.9% ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ขึ้น โดยมีขนาดเศรษฐกิจหรือ GDP รวมอยู่ที่ราว 29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ใน 3 ของ GDP โลก เพิ่มขึ้นจาก BRICS-5 ที่มีสัดส่วน 25.8% มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 10.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 21.8% ของการค้าโลก เพิ่มขึ้นจาก BRICS-5 ที่มีสัดส่วน 18.2% และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI Inflow) เพิ่มขึ้นเป็น 3.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ใน 3 ของ FDI โลก เทียบกับ BRICS-5 ที่มีสัดส่วน 24.3% ทั้งนี้ จากบทบาทที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกของ BRICS-11 ทำให้คาดว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ของโลกไม่มากก็น้อย โดยมีประเด็นสำคัญที่คาดว่าอาจเกิดขึ้นหลังการก่อกำเนิดของ BRICS-11 ดังนี้
“De-dollarization ... ลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ”
ปัจจุบันเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจโลกลดลงในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในมิติของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ล่าสุดข้อมูลจาก IMF ระบุว่าในไตรมาส 2 ปี 2566 เงินดอลลาร์สหรัฐมีสัดส่วนลดลงมาแตะระดับ 58.9% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก เทียบกับเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ระดับ 63.8% ในไตรมาส 2 ปี 2560 ขณะที่สกุลเงินอื่นเริ่มทวีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเงินหยวนที่มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 2.5% จาก 1.1% แม้สัดส่วนยังไม่มากแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับในมิติการค้าระหว่างประเทศ โดยข้อมูลจาก Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT) ระบุว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ปริมาณการใช้เงินหยวนสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% จาก 2.2% เมื่อเดือนมกราคม 2562 สอดคล้องกับ Index of International Currency Usage ที่จัดทำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ซึ่งสะท้อนปริมาณการใช้เงินสกุลสำคัญของโลก โดยวัดจากหลายด้าน เช่น ปริมาณการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ปริมาณตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เป็นต้น พบว่าเงินดอลลาร์สหรัฐถูกใช้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ดัชนีของเงินดอลลาร์สหรัฐลดลงมาเหลือ 69 จุด จากระดับ 72 จุดเมื่อปี 2558 สวนทางกับเงินหยวนที่ดัชนีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับ 3 จุด จากเดิมที่ 0.8 จุด ยิ่งไปกว่านั้น ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS-5 Summit ครั้งล่าสุดได้มีการผลักดันให้ประเทศสมาชิกหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างกันมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการชำระเงินและลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาประเทศสมาชิก BRICS-5 ก็เริ่มหันมาชำระค่าสินค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่น โดยเฉพาะเงินหยวนมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น
- รัสเซีย-จีน : รายงานจาก European Bank of Reconstruction and Development (EBRD) ระบุว่าในปี 2565 รัสเซียนำเข้าสินค้าจากจีนโดยชำระเป็นเงินหยวนถึง 63% ของมูลค่านำเข้าจากจีนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 23% ในปี 2564
- บราซิล-จีน : ลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างกันเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ให้สามารถใช้เงินหยวนและเงินเรียลของบราซิลทำการค้ากันโดยตรงแทนเงินดอลลาร์สหรัฐ
- อินเดีย-รัสเซีย : บริษัท Indian Oil (รัฐวิสาหกิจน้ำมันรายใหญ่ของอินเดีย) เริ่มชำระค่าน้ำมันจากรัสเซียด้วยเงินหยวนในเดือนกรกฎาคม 2566
เป็นที่คาดว่าเงินหยวนจะถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในทุกมิติ โดยเฉพาะในกลุ่ม BRICS-11 ด้วยกัน ซึ่งไม่เพียงลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่อาจลดทอนความสำคัญและบทบาทเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเศรษฐกิจโลกในระยะถัดไป
“New Development Bank ... กลไกการเงินใหม่ ส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืนแก่ตลาดใหม่”
กลุ่ม BRICS-5 จัดตั้ง Development Bank ของตนเองในปี 2558 ภายใต้ชื่อ New Development Bank (NDB) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีน โดย NDB มีวัตถุประสงค์หลักคือให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการลงทุนในประเทศสมาชิก ประเทศตลาดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนา ปัจจุบัน NDB มีสมาชิก 8 ประเทศ ประกอบด้วย BRICS-5 รวมถึงบังกลาเทศ อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า NDB จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกหลังการเกิดขึ้นของ BRICS-11 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของสมาชิก NDB จะช่วยขยายขนาดเงินทุนสนับสนุนของ NDB ตามไปด้วย ปัจจุบัน NDB มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วราว 5.27 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ก่อตั้งขึ้นมา NDB สนับสนุนสินเชื่อโครงการลงทุนไปแล้วกว่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกระจายไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ ซึ่ง NDB ตั้งเป้าให้ 40% ของสินเชื่อรวมเป็นโครงการลงทุนเพื่อช่วยแก้ปัญหา Climate Change และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 13.2 ล้านตัน ตลอดจนมุ่งสนับสนุนให้กว่า 30% ของเม็ดเงินสินเชื่อรวมเป็นเงินสกุลท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่คาดว่าเงินทุนสนับสนุนของ NDB จะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยผลักดันการลงทุนใน BRICS-11 ให้ขยายตัวตามไปด้วย นอกจากนี้ NDB ยังช่วยเพิ่มทางเลือกและเป็นที่พึ่งทางการเงินแหล่งใหม่แก่ประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่นอกเหนือจากแหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาที่มีอยู่เดิม
“Geopolitics เข้มข้น ... BRICS-11 ถ่วงดุลอำนาจบนเวทีโลก”
การขยายจำนวนประเทศสมาชิกของ BRICS-11 ไม่เพียงเพิ่มบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังเป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างขั้วอำนาจเดิมกับขั้วอำนาจใหม่บนเวทีโลกในอีกทางหนึ่งด้วย โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Trade War และ Tech War ระหว่างสหรัฐฯ-จีน หรือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน รัสเซีย-ยูเครน รวมถึงความขัดแย้งในปาเลสไตน์และตะวันออกกลาง ดังนั้น การที่ BRICS-11 สร้างเครือข่ายพันธมิตรของตนเองให้ขยายวงกว้างมากขึ้น จะทำให้กลุ่มขั้วอำนาจใหม่เข้มแข็งขึ้น มีอำนาจต่อรองมากขึ้น และลดการพึ่งพาขั้วอำนาจเดิมลง ดังเห็นได้จากกรณีของรัสเซียที่ถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรครั้งใหญ่จากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้รัสเซียหันมาเสนอขายน้ำมันในราคาพิเศษให้กับประเทศพันธมิตร โดยเฉพาะสมาชิกใน BRICS-11 อย่างจีน อินเดีย บราซิล ซึ่งกลายเป็น 3 ใน 5 ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซียไปแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่า BRICS-11 เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของกลุ่มตลาดใหม่ในการเพิ่มอำนาจต่อรองและถ่วงดุลอำนาจกับชาติตะวันตก นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่อาจส่งผลต่อสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยในครั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ได้ประกาศลงสมัครเป็นสมัยที่ 2 เช่นเดียวกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ซึ่ง
ผลสำรวจคะแนนนิยมล่าสุดพบว่าทั้งสองคนมีคะแนนใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าแรงกดดันของภูมิรัฐศาสตร์โลกระหว่างชาติตะวันตกและ BRICS-11 อาจทวีความเข้มข้นขึ้นหากนายโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งมีแนวคิดรักษาผลประโยชน์
ชาติตะวันตกอย่างเต็มที่เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง
การเติบโตของ BRICS-5 มาสู่ BRICS-11 นับเป็นการเพิ่มบทบาทและถ่วงดุลอำนาจต่อขั้วอำนาจเดิมบนเวทีโลก ซึ่งจะตามมาด้วยการพลิกโฉมของฉากทัศน์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศในอีกหลายมิติ ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ BRICS-11 อาจส่งผลกระทบต่อไทยทั้งในเชิงการสร้างโอกาสใหม่ๆ ควบคู่กับความท้าทายที่ตามมา ผมมองว่าโอกาสที่ไทยจะได้รับจาก BRICS-11 มีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่หลากหลายขึ้น จากการเชื่อมโยงกับตลาดใหม่ๆ เพราะ BRICS-11 มีหลายประเทศที่ตลาดมีขนาดใหญ่และเศรษฐกิจขยายตัวสูง ซึ่งจะนำมาสู่โอกาสทางธุรกิจและการค้าที่หลากหลายขึ้น อย่างไรก็ตาม BRICS-11 ก็เป็นเสมือนเหรียญสองด้านที่มีทั้งโอกาสและความท้าทายควบคู่กัน โดยความท้าทายต่อเศรษฐกิจโลกอาจมาจากความขัดแย้งทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างขั้วอำนาจเดิมและขั้วอำนาจใหม่ที่ร้อนแรงขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผันผวนทั้งในตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดการค้าระหว่างประเทศ รวมไปถึงค่าเงิน ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมพร้อมทั้งการคว้าโอกาสธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนปรับตัวให้เข้ากับ Supply Chain โลกเส้นใหม่ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็ควรติดชุดเกราะให้พร้อมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นตามมา เช่น การป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน การกระจายตลาด รวมถึงการหาตลาดสำรอง เพื่อให้เราสามารถเป็นผู้ชนะบนเวทีโลกได้เสมอไม่ว่าจะเกิดฉากทัศน์แบบใดก็ตาม
ที่เกี่ยวข้อง
-
จีน-อินเดีย ... ขั้วเศรษฐกิจใหม่ ยิ่งใหญ่บนความเหมือนที่แตกต่าง
หลายปีที่ผ่านมาบริบทเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนโฉมไปจากอดีตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำทางเศรษฐกิจจากเดิมที่เคยผูกขาดโดยมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ กลุ่ม G3 ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่...
20.09.2024 -
เคล็ด(ไม่)ลับ ... ปรับธุรกิจท่องเที่ยวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ส่งสัญญาณเข้าสู่ภาวะวิกฤตชัดขึ้นเป็นลำดับ ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศไทยก็ต้องเผชิญทั้งฝุ่น PM 2.5 ที่รุนแรงและยาวนาน จนเชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง...
24.06.2024
-
ตลาดแอฟริกา : แหล่งลงทุนที่ทำกำไรดีอย่างคาดไม่ถึง
ท่านผู้อ่านครับ ในปีที่ผ่านมาผมได้เล่าถึงโอกาสการค้าการลงทุนในทวีปแอฟริกาไปแล้วหลายครั้ง ว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดตลาด สัดส่วนประชากรในวัยแรงงาน การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจ และ...
22.01.2019 -
การขายสินค้าออนไลน์ใน CLMV ให้ประสบความสำเร็จ
ปัจจุบันแม้ตลาดออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือที่เรียกว่า CLMV จะยังมีขนาดเล็กกว่าไทย ด้วยจำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีสัดส่วนเพียง 53% น้อยกว่าไทยที่มีสัดส่วนมากถึง 82% แต...
18.09.2018 -
ส่องโอกาสอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนในตลาดแอฟริกา
ปัจจุบันนี้คงต้องยอมรับครับว่าทวีปแอฟริกากำลังเนื้อหอม ที่ผมกล่าวเช่นนี้เพราะมีสัญญาณที่สื่อให้เห็นชัดเจนว่าภาครัฐของหลายประเทศกำลังพยายามหาทางนำผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาเพื่อยึดหัวหาด เห็นได้จากจำนวนสถานทูตตั้งใหม่...
26.03.2019